กลุ่มรับข่าวดี “ดาต้าเซ็นเตอร์-คลาวด์” วิ่งต่อ! โบรกแนะสอย 23 หุ้นเด่น

โบรกคัด 23 หุ้นรับประโยชน์สร้าง “ดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์” ในไทย ชู WHA เด่นสุด เชียร์ “ซื้อเก็งกำไร” อัพเป้าราคา 6.50 บาท พร้อมเปิดโผ 23 หุ้นเด่น ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ด้วย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 ต.ค.67) ณ เวลา 10:53 น. ราคาหุ้น บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA อยู่ที่ระดับ 5.55 บาท บวก 0.05 บาท หรือ 0.91% สูงสุดที่ระดับ 5.60 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 5.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 108.26 ล้านบาท

บริษัท อินฟราเซท จำกัด (มหาชน) หรือ INSET อยู่ที่ระดับ 3 บาท บวก 0.44 บาท หรือ 17.19% สูงสุดที่ระดับ 3.08 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 2.54 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 260.20 ล้านบาท

บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL อยู่ที่ระดับ 2.40 บาท บวก 0.12 บาท หรือ 5.26% สูงสุดที่ระดับ 2.52 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 2.22 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 93.35 ล้านบาท

บริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AIT อยู่ที่ระดับ 4.62 บาท บวก 0.18 บาท หรือ 4.05% สูงสุดที่ระดับ 4.64 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 4.46 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 25.14 ล้านบาท

บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP อยู่ที่ระดับ 4.76 บาท บวก 0.02 บาท หรือ 0.42% สูงสุดที่ระดับ 4.84 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 4.76 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 13.35 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากกรณี นางรูธ โพรัท ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัท Alphabet และ Google ประกาศแผนการลงทุนในประเทศไทย มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ฯ (36,000 ล้านบาท) เพื่อสร้าง Data Center และ Cloud Region ในกรุงเทพฯ และชลบุรี โดยคาดจะช่วยจ้างงานในพื้นที่ประมาณ 14,000 ตำแหน่ง มีส่วนต่อการเพิ่ม GDP อย่างน้อย 140,000 ล้านบาท (ประมาณ 0.9% ต่อ GDP ต่อปี) ช่วงปี 2568-2572

ขณะที่การลงทุนดังกล่าวจะช่วยรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการใช้งาน Google Cloud และนวัตกรรม AI อีกทั้งบริการต่าง ๆ ของ Google ซึ่งเป็นที่นิยม เช่น Google Search, Google Maps และ Google Workspace ที่องค์กรต่าง ๆ และคนไทยใช้ในชีวิตประจำวัน

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า กลุ่ม WHA ได้รับผลบวกโดยตรงจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลฯ ของ Google เนื่องจากมีนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งสามารถตอบโจทย์ลูกค้าในทุก ๆ ด้าน เช่น ระบบโครงสร้างพื้นฐาน, ทำเลและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทำให้เมื่อกลางเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา Google ได้เลือกนิคมอุตสาหกรรมของ WHA ในจังหวัดชลบุรี เพื่อสร้างศูนย์ Data Center แห่งแรก และได้มีการเซ็นสัญญาซื้อที่ดินแปลงใหญ่หลายร้อยไร่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ตามสัญญาบริษัทไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้ารายอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน WHA มีการเจรจาขายที่ดินอยู่ 4-5 ราย คาดว่าจะสามารถทยอยปิดดีลได้ในปี 2568 รวมทั้งจะมีลูกค้ารายอื่น ๆ เข้ามาเพิ่มเติมอีก และมั่นใจจะสามารถปิดดีลขายที่ดินได้แน่นอน เพราะกลุ่ม WHA มีความสามารถในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า Data Center ซึ่งรวมไปถึงความพร้อมด้านพลังงาน ภายใต้บริการของ WHAUP

รัฐบาลมีแผนการขับเคลื่อน Government Cloud แต่ต้องมีฐาน Data Center ในประเทศไทยเท่านั้น ทำให้เกิดการลงทุนของกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น โดยที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการอนุมัติโครงการ Data Center ถึง 37 โครงการ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีการส่งเสริมการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย ทำให้ความต้องการสูงขึ้นไปอีก ซึ่งบริษัทใหญ่ ๆ น่าจะเลือกนิคมฯ ของ WHA เป็นหลัก เพราะมาตรฐานเราค่อนข้างสูงมากในทุกด้าน” นางสาวจรีพร กล่าว

ด้านบทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ปรับเป้าหมายราคาหุ้น WHA ขึ้นเป็น 6.50 บาท จาก 5.80 บาท และปรับเพิ่มคำแนะนําเป็น “ซื้อเก็งกำไร” จาก “ถือ” หลังจากประเทศไทยได้ประโยชน์จากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ บวกกับโครงสร้างพื้นฐานของไทยและนโยบายที่เป็นมิตรต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หลายประการ ทำให้มีอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วท่ามกลางอุปทานที่ดินอุตสาหกรรมที่จํากัด จึงคาดว่าราคาที่ดินจะสูงขึ้น ส่งผลต่ออัตรากำไรและกำไรของ WHA ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่ ในด้านคลาวด์และเทคโนโลยีในไทยที่กำลังพยายามก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางดิจิทัลระดับภูมิภาค โดยมีการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์และเทคโนโลยี ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้อนุมัติโครงการ Data Center ถึง 37 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 98,500 ล้านบาท กระจุกตัวในกรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง

ส่วนบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีระดับโลกกำลังลงทุนมหาศาลในโครงสร้างพื้นฐาน Data Center ในประเทศไทย โดย AWS มีแผนลงทุน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน 15 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ 3 แห่ง ในขณะที่ Google และ Microsoft กำลังพัฒนาธุรกิจคลาวด์ในประเทศไทย จึงคาดว่ายอดจองซื้อที่ดินกลุ่ม WHA จะแข็งแกร่งในไตรมาส 3/2567 เนื่องจากเพิ่งปิดดีลใหญ่ในการขายที่ดิน 400 ไร่ให้กับบริษัทเทคโนโลยีต่างประเทศ (มีโอกาสเพิ่มอีก 600 ไร่)

ส่งผลให้ WHA ปรับเป้าหมายการขายที่ดินในปี 2567 จาก 2,400 ไร่ เป็น 2,500 ไร่ แม้ว่ายอดจองซื้อที่ดินจะลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 2,767 ไร่ แต่มูลค่ารวมของสัญญาจองซื้อที่ดินเหล่านี้เพิ่มขึ้น 18% เนื่องจากราคาที่ดินเฉลี่ยต่อไร่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ WHA รายงานกำไรหลักสูงสุดใหม่ในปี 2568

บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด ระบุว่า ในเชิงภาพรวมถือเป็นมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม อาทิ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA และบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับ Data Center โดยประเมินว่า WHA มีโอกาสได้คว้างานมากกว่า AMATA เนื่องจากฐานลูกค้าของ WHA เป็นกลุ่มอุตสาหกรรม NEW ECONOMY ประกอบกับ WHA มีการพัฒนาบริษัทให้มีความเป็น TECH COMPANY

ส่วนหุ้นกลุ่มรับเหมาสื่อสารมีธุรกิจเกี่ยวกับ Data Center  และ Cloud Service คาดได้ประโยชน์เช่นกัน อาทิ บริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AIT, บริษัท อินฟราเซท จำกัด (มหาชน) หรือ INSET, บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL ฯลฯ

รวมทั้งหุ้นกลุ่มสื่อสารขนาดใหญ่อย่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ที่แม้ทาง Google จะมีการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์เอง แต่ยังจำเป็นที่จะต้องมีการเชื่อมต่อกับลูกค้าเป้าหมายที่จะต้องอาศัยโครงข่ายพื้นฐาน เช่น เส้นใยแก้วนำแสง ซึ่งมีโอกาสที่ Google จะเลือกใช้บริการดังกล่าวจากกลุ่ม ADVANC หรือ TRUE

นอกจากนี้ ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าทั้งกลุ่ม เนื่องจากธุรกิจ Data Center เป็นระบบจัดเก็บข้อมูลจำเป็นต้องมีระบบไฟฟ้าสนับสนุนการทำงานตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการดำเนินงานเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการขยายธุรกิจ Data Center อาจส่งผลกระทบต่อด้านสิ่งแวดล้อม จึงทำให้มีการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนสำหรับธุรกิจ Data Center เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยช่วยหนุนให้รัฐบาลเร่งเดินหน้าด้านการออกกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาด อาทิ การทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (DIRECT PPA), การขายไฟฟ้าสีเขียว (UTG), หรือการเพิ่มทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อเข้าถึงพลังงานสะอาดได้มากขึ้น อีกทั้งเป็นส่วนช่วยเพิ่มการเปิดกรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นในประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้ายังมีโอกาสที่จะได้ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดในประเทศไทยเพื่อเตรียมรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต

สำหรับหุ้นโรงไฟฟ้าที่คาดได้ประโยชน์ คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เนื่องจากบริษัทได้มีการประกาศลงนามสัญญาความร่วมมือกับบริษัท กูเกิ้ล เอเชีย แปซิฟิก จำกัด (GOOGLE) เพื่อดำเนินธุรกิจการให้บริการระบบ GOOGLE DISTRIBUTED CLOUD AIRGAPPED (GDC AIR-GAPPED) ซึ่งเป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานในสภาพแวดล้อมที่ไร้ซึ่งการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะโดยสิ้นเชิง ซึ่งมีจุดเด่นด้านความเสถียรภาพ และมีความปลอดภัยสูง เหมาะแก่การใช้สำหรับองค์กรในประเทศไทย

โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม ที่ต้องจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่มีความสำคัญ หรือเป็นความลับ เช่น การให้บริการทางการแพทย์ พลังงาน และสาธารณูปโภค หรือการให้บริการด้านความปลอดภัยสาธารณะ เป็นต้น

ทั้งนี้ GULF จะเป็นผู้ดำเนินงานในฐานะ MANAGED GDC PROVIDER ผ่านการให้คำปรึกษาและบริการจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการจัดการ ดูแลระบบอย่างครบวงจร ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของ GULF ในการรองรับความต้องการพื้นที่จัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงช่วยต่อยอดในธุรกิจไฟฟ้าของ GULF ได้ในอนาคต และหุ้นโรงไฟฟ้าอื่น ๆ มีโอกาสเห็นการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอนาคต อย่างบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM, บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC, บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เป็นต้น

ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน)  คาดว่าเม็ดเงินลงทุนรวมใน Data Center ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า จะอยู่ที่ประมาณ 209,600 ล้านบาท โดยหุ้นที่มีโอกาสได้ประโยชน์จากกระแสการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

1.กลุ่มที่อยู่ใน Ecosystem Infrastructure ด้าน Data Center อาทิ หุ้นนิคม (WHA, AMATA) หุ้นรับเหมา (บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC,ริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CNT)

หุ้นรับเหมาก่อสร้างด้าน ICT (INSET) หุ้นโรงไฟฟ้า (GULF, GUNKUL, WHAUP, บริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ STPI) หุ้นสื่อสาร (บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE, บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SYMC)

2.กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์และเทคโนโลยีภายใน Data Center หุ้นรับเหมาก่อสร้าง (STEC, CNT) หุ้นรับเหมาด้าน ICT(INSET)

3.กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เชื่อมโยงกับ Data Center อาทิ บริการ Cloud, การพัฒนา AI ที่มาพร้อมกับอุปกรณ์ต่าง ๆ หุ้นชิ้นส่วน (บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA) หุ้น IT Distributors (บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด (มหาชน) หรือ ADVICE, บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SYNEX, บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SIS, บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7, บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JMART, บริษัท เอส พี วี ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SPVI) และหุ้น Digital Tech (บริษัท เบริล 8 พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ BE8, บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK)

บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มองเป็นบวกต่อเป็นบวกต่อการยกระดับอุตสาหกรรม Data Center/Cloud ที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลสนับสนุนมาโดยตลอด โดยหุ้นที่ได้ประโยชน์ เช่น กลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตจากการขยายบริการด้าน Data Center/Cloud (GULF ADVANC TRUE) กลุ่มนิคมที่มีโอกาสเป้าหมายตั้ง Data Center (WHA และ AMATA) กลุ่มที่ Tech Consult (BBIK และ BE8) เป็นต้น

บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ CGSI มองว่า ในภูมิภาคอาเซียนประเทศไทยยังถือว่าเป็นผู้เล่นที่มีขนาดเล็กในอุตสาหกรรม Data center เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ ตามข้อมูลของ Cushman & Wakefield ประเทศไทยมี Data center ทั้งหมด 59 แห่ง รวมความจุ 66 เมกะวัตต์ (MW) ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 นอกจากนี้ไทยยังมี Data center ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 80 MW และอยู่ระหว่างการวางแผนอีก 246 MW โดยเชื่อว่าไทยมีความต้องการ Data center ในประเทศสูง เนื่องจากประชากรที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก จึงส่งผลให้ความต้องการอินเทอร์เน็ตพุ่งสูงขึ้นตาม นอกจากนี้เชื่อว่าไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งและพัฒนาต่อเนื่อง เช่น โครงข่ายพลังงานไฟฟ้าที่เชื่อถือได้และโครงข่ายโทรคมนาคมที่พัฒนาแล้ว ส่งผลให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายการลงทุนด้าน Data center ที่น่าสนใจ

โดยมองว่าภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยถือว่าเป็นผู้เล่นที่มีขนาดเล็กในอุตสาหกรรม Data center เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ ตามข้อมูลของ Cushman & Wakefield ประเทศไทยมี Data center ทั้งหมด 59 แห่ง รวมความจุ 66 MW ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 นอกจากนี้ไทยยังมี Data center ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 80 MW และอยู่ระหว่างการวางแผนอีก 246 MW โดยเชื่อว่าไทยมีความต้องการ Data center ในประเทศสูง เนื่องจากประชากรที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก จึงส่งผลให้ความต้องการอินเทอร์เน็ตพุ่งสูงขึ้นตาม นอกจากนี้เชื่อว่าไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งและพัฒนาต่อเนื่อง เช่น โครงข่ายพลังงานไฟฟ้าที่เชื่อถือได้และโครงข่ายโทรคมนาคมที่พัฒนาแล้ว ส่งผลให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายการลงทุนด้าน Data center ที่น่าสนใจ

Back to top button