KKPS มองเศรษฐกิจไทย ส.ค.ชะลอตัว “บริการ-โรงแรม-ขนส่ง” หดตัว

KKPS ประเมินเศรษฐกิจไทยช่วงเดือน ส.ค.มีทั้งแง่บวกและลบ การลงทุนภาคเอกชน การผลิต และบริการหดตัว ส่วนส่องออก การบริโภคขอภาคเอกชนรวมถึงผลิตทางการเกษตรเติบโตขึ้น


บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKPS ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนส.ค.มีความปะปนกันทั้งในแง่บวกและลบ โดยภาคส่วนที่มีการชะลอตัวหรือหดตัวลงได้แก่ การลงทุนของภาคเอกชน จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และภาคการผลิตและการบริการ ขณะที่การส่งออก การบริโภคของภาคเอกชน รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรเติบโตขึ้น

ดัชนีผลผลิตภาคบริการ (Service Production Index หรือ SPI) ในเดือนส.ค.หดตัวลด 1.4% MoMSA (MoM Seasonal Adjusted การวัดการเปลี่ยนแปลงที่ปรับผลกระทบจากปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว โดยเปรียบเทียบกับเดือนที่ติดกัน) เนื่องจากการชะลอตัวลงจากทุกภาคส่วนในดัชนี

ภาคส่วนโรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่งผู้โดยสารหดตัวลง จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ลดน้อยลง แม้รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศส่วนใหญ่ (เทียบกับเดือนก่อนหน้า) จะไม่เปลี่ยนแปลงก็ตาม ขณะที่ด้านการค้าและการขนส่งสินค้าตกต่ำลง จากจำนวนการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและยอดขายรถยนต์ที่ลดน้อยลง

ด้านการส่งออกสินค้าในเดือนส.ค. (ไม่รวมทองคำ) โตขึ้น 3.6% MoMSA จากการเติบโตของการส่งออกสินค้าทางการเกษตร เช่น ยางและน้ำตาล ไปยังประเทศที่มีการขาดแคลน รวมถึงการส่งออกยานยนต์ไปยังตะวันออกกลาง

ทั้งนี้ ในทางกลับกัน การลงทุนของภาคเอกชนและภาคการผลิตชะลอตัวลง -3.3% MoMSA และ -3.0% MoMSA ตามลำดับ เนื่องจากยอดขายรถยนต์ภายในประเทศที่ยังคงอ่อนแอ การเร่งส่งออกยาง พลาสติก และเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนก.ค. และระดับสินค้าคงคลังหลายรายการ เช่น ยานยนต์ แผงวงจรรวม (integrated circuits หรือ IC) และเซมิคอนดักเตอร์

การบริโภคของภาคเอกชนโตขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 0.5% MoMSA และ 0.5% จากปีก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภคสินค้าไม่คงทน (nondurable goods) โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมียอดขายเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การบริโภคสินค้าคงทน (durable goods) กลับหดตัวลง 4.6% จากเดือนก่อน และลดลง 11.6% จากปีก่อน หลังยอดขายรถยนต์ลดน้อยลง

ด้านการบริการตกต่ำลงเล็กน้อย จากอัตราการเติบโตของสินเชื่อธนาคารที่ลดน้อยลง แม้โครงการแจกเงิน 10,000 บาท อาจสามารถช่วยส่งเสริมภาคส่วนดังกล่าวได้ในไตรมาส 4/67

ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศในเดือนส.ค. มีการเติบโตขึ้น โดยมีงบเกินดุลกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 45,714 ล้านบาท) โดยมีสาเหตุมาจากดุลการค้าที่ดีขึ้น หลังการนำเข้าของประเทศชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม ดุลบริการมีการขาดดุลเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากการเพิ่มค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา

ทั้งนี้ ขณะที่ราคาน้ำมันลดลง ผนวกกับภาคการท่องเที่ยวที่กำลังเข้าสู่ช่วง peak season ฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 4/67

KKPS ระบุว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะแสดงให้เห็นสัญญาณของการฟื้นฟูหลายด้าน แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างช้า โดยฝ่ายวิเคราะห์มองไปที่ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคสินค้าคงทนที่มีความยึดโยงกับสินเชื่อ รวมถึงความท้าทายเชิงโครงสร้างในภาคการผลิต โดยแม้ว่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นแรงกระตุ้นแบบเป็นวัฏจักรให้กับเศรษฐกิจ แต่ก็อาจส่งผลกระทบโดยรวมที่มีนัยสำคัญน้อยลงกว่าเมื่อก่อน จากมูลค่าเพิ่มที่ลดลงในการส่งออกของไทย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนเส้นทางการส่งออกจากจีน

Back to top button