จับตาราคา BA เด้ง! หลังร่วมทุน THAI ลุยศูนย์ซ่อม “ท่าอากาศอู่ตะเภา” หมื่นล้านบาท

จับตา BA เด้ง! หลังประกาศร่วมทุน “การบินไทย” ลุยโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ท่าอากาศยานอู่ตะเภา พื้นที่ 220 ไร่ มูลค่า 10,000 ล้านบาท ผู้บริหารมั่นใจการบินไทย-BA เหมาะสมกว่ารายอื่น เนื่องจากเป็นสายการบินสัญชาติไทยทั้งคู่ ตั้งเป้าเฟสแรกเสร็จภายในปี 72 รองรับซ่อมบำรุงฝูงบินทุกแอร์ไลน์


นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า ล่าสุด THAI ได้หารือกับ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เพื่อร่วมลงทุนในโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ท่าอากาศยานอู่ตะเภา พื้นที่ประมาณ 220 ไร่ โดยเบื้องต้นทราบว่าสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มีแผนจะเชิญผู้ประกอบการแบบกำหนดรายชื่อเข้าร่วมประกวดราคา ซึ่งมั่นใจว่าการร่วมทุนระหว่าง THAI กับ BA จะตอบโจทย์การลงทุน MRO ของภาครัฐ เพราะทั้ง 2 ราย เป็นสายการบินสัญชาติไทย และมีฝูงบินเป็นของตัวเอง ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะเป็นฝูงบินขนาดใหญ่มากกว่า 100 ลำ

ทั้งนี้ ปัจจุบัน THAI กับ BA อยู่ระหว่างการเจรจาสัดส่วนการลงทุนของแต่ละฝ่าย ซึ่งแน่นอนว่า THAI ต้องลงทุนในสัดส่วนที่มากกว่าเพราะมีประสบการณ์ MRO และมีฝูงบินมากกว่า BA โดยจากการศึกษารายละเอียดขณะนี้ THAI ประเมินการลงทุนไว้ว่าจะก่อสร้างโรงซ่อมบำรุง (Hangar) รวม 6 Hangar แบ่งเป็น 2 เฟส วงเงินลงทุนรวมประมาณ 10,000 ล้านบาท เฟสแรกจะลงทุนก่อสร้าง 3 Hangar พร้อมโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง วงเงินลงทุน 6,000 ล้านบาท ส่วนเฟสที่ 2 จะก่อสร้างอีก 3 Hangar แต่วงเงินลงทุนน้อยกว่า เนื่องจากมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นไว้ตั้งแต่เฟสที่ 1 แล้ว

โดย MRO ดังกล่าวจะสามารถรองรับได้ทั้งเครื่องบินแบบลำตัวกว้าง (Wide-body aircraft) และลำตัวแคบ (Narrow-body aircraft) และจะให้บริการซ่อมบำรุงตั้งแต่การซ่อมย่อยหรือซ่อมขั้นลานจอด (Line/Light Maintenance) และการซ่อมใหญ่ (Overhaul) โดยให้บริการทุกสายการบิน ไม่เฉพาะแค่ THAI กับ BA เท่านั้น

“ตอนนี้ต้องรอความชัดเจนจากฝ่ายรัฐว่าจะลงทุนอย่างไร หากเปิดประมูล THAI-BA ก็พร้อมเข้าแข่งขัน และมั่นใจว่ามีความเหมาะสมกว่ารายอื่น ๆ เพราะเป็นสายการบินสัญชาติไทยทั้งคู่ และต่างก็มีฝูงบินของตัวเอง อย่างเราที่มีแผนจัดหาฝูงบินใหม่อีก 80 ลำ เมื่อจัดหาครบแล้วจะทำให้ THAI มีฝูงบินที่ 143 ลำ แค่ซ่อมเฉพาะของ THAI เองก็คุ้มทุนแล้ว” นายชาย กล่าว

อย่างไรก็ตาม THAI วางเป้าหมายว่า หากได้ลงทุน MRO จริงก็อยากดำเนินการเฟสที่ 1 ให้แล้วเสร็จภายในปี 2572 ซึ่งถ้าการก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) 2 ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภายังไม่แล้วเสร็จ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาการให้บริการ MRO จึงมีแผนจะเจรจากับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA (BA/บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ผู้รับงานโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ให้ช่วยก่อสร้างทางขับ (แท็กซี่เวย์) จากรันเวย์เข้าสู่ Hangar เพราะหาก THAI ดำเนินการเองก็อาจไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นพื้นที่ของ UTA

ขณะเดียวกัน THAI ยังมีแผนเชิญผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ MRO เช่น ผู้จำหน่ายอะไหล่เครื่องบิน ผู้ให้บริการทำความสะอาดเครื่องบินมาร่วมลงทุนใน MRO ในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ที่มิใช่ Hangar ด้วย เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ซึ่งหาก THAI-BA ได้รับงาน MRO ก็จะมีการเจรจากับผู้ประกอบการที่สนใจต่อไป

Back to top button