กสทช. ร่วมเวที “GSMA” เกาหลีใต้ โชว์วิชั่น ดันไทยขึ้นฮับดิจิทัลแห่งเอเชีย

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช. ร่วมเวที “GSMA” เกาหลีใต้ โชว์วิสัยทัศน์แผนบริหารคลื่นความถี่ฉบับใหม่ เพื่อพลิกมิติสื่อสารโทรคมนาคม ดันไทยสู่ประเทศดิจิทัลชั้นนำแห่งเอเชีย


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (3 ต.ค.67) ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) นำทีมผู้บริหาร กสทช. เข้าร่วม การประชุม GSMA M360 APAC ณ สาธารณรัฐเกาหลี นับเป็นงานใหญ่ของภูมิภาคเอเซียประจำปี 2567 ประกอบด้วยเครือข่ายหน่วยงานกำกับดูแลและบริษัทเทคโนโลยีโทรคมนาคมชั้นนำจากทั่วโลก

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ กล่าวว่า กสทช. ในฐานะตัวแทนของประเทศไทย ได้ใช้โอกาสเวที GSMA แสดงวิสัยทัศน์ระบบสื่อสารโทรคมนาคมของไทย และหารือกับผู้บริหาร GSMA ถึงแนวทางบริหารจัดการคลื่นความถี่ โดยปัจจุบัน กสทช. อยู่ระหว่างจัดให้แสดงความคิดเห็น “แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่” ฉบับใหม่ ที่ต้องตอบโจทย์การเข้าถึงบริการของประชาชนอย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพและราคาถูก ซึ่งการจัดสรรคลื่นความถี่ให้ถูกต้องคือจุดเริ่มต้นของกระบวนทัศน์ทางการตลาดและผู้บริโภคได้รับบริการโทรคมนาคมมีคุณภาพดีและเพียงพอในอนาคต

 “ในเวที GSMA กสทช. ได้สะท้อนภาพรวมความสำเร็จในการพัฒนาแนวทางกำกับดูแลกิจการสื่อสารและโทรคมนาคม จนส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศชั้นนำด้านดิจิทัล อันดับ 7 ของภูมิภาคเอเชีย” ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ กล่าว

ทั้งนี้ ในการประชุม GSMA ยังได้พบกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโทรคมนาคม ประเทศมาเลเซีย และหน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมจากประเทศอินเดีย มาเลเซีย และกัมพูชา รวมถึงผู้บริหารจากบริษัท กูเกิล และ ผู้บริหารของ GSMA แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หารือแนวทางกำกับดูแลและการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทย

พร้อมมอบให้ นายพชร นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช. และ โฆษกประจำประธาน กสทช. ขึ้นเวทีเป็นวิทยากรในฐานะตัวแทนหน่วยงานกำกับดูแลภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเรื่อง “ดิจิทัล ทรัสต์” สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเฉพาะเรื่องการจัดการแก็งคอลเซ็นเตอร์ โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ ประธาน กสทช. ได้เข้าร่วมประชุมการจัดการด้านสาธารณสุขผ่านระบบโทรคมนาคม การแพทย์ทางไกล และการสร้างระบบโครงข่ายเพื่อบริการประชาชนด้านสาธารณสุข โดยได้นำตัวอย่างการพัฒนาของประเทศไทย ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช ที่เป็นโรงพยาบาล 5G แห่งแรก และจะมีโรงพยาบาลสำคัญอื่น ๆ ตามมา โดยระบบโทรคมนาคมเป็นส่วนสำคัญของการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านสาธารณสุข สร้างคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

Back to top button