WHO ไฟเขียวชุดตรวจฝีดาษลิง “อะลินิตี เอ็มฯ” ชนิดแรก ใช้ในภาวะฉุกเฉิน

WHO อนุมัติชุดตรวจฝีดาษลิง "อะลินิตี เอ็ม เอ็มพีเอ็กซ์วี" ชนิดแรก ใช้ในภาวะฉุกเฉิน และเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจโรคในประเทศต่าง ๆ


องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้อนุมัติชุดตรวจโรคฝีดาษลิง (mpox) ของบริษัทแอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส (Abbott Laboratories) สำหรับใช้ในภาวะฉุกเฉินเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (3 ต.ค.) นับเป็นการอนุมัติครั้งแรกในความพยายามของ WHO ที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถในการตรวจโรคในประเทศต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญกับการระบาดของโรคนี้

WHO ระบุว่า ชุดตรวจ “อะลินิตี เอ็ม เอ็มพีเอ็กซ์วี” (Alinity m MPXV) เป็นการตรวจแบบ real-time PCR (RT-PCR) ที่สามารถตรวจหา DNA ของไวรัสฝีดาษลิงจากตัวอย่างที่เก็บจากแผลบนผิวหนังของผู้ป่วย โดยออกแบบมาสำหรับการใช้งานโดยเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการทางคลินิกที่ได้รับการฝึกอบรมมาโดยเฉพาะ

โดยทาง WHO ระบุว่ากำลังประเมินชุดตรวจโรคฝีดาษลิงอีก 3 ชนิดสำหรับการใช้ในภาวะฉุกเฉิน และอยู่ระหว่างการหารือกับผู้ผลิตรายอื่น ๆ เพื่อขยายการเข้าถึงเครื่องตรวจวินิจฉัยโรคฝีดาษลิงให้มากขึ้น

ดร.ยูกิโกะ นาคาทานิ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ด้านการเข้าถึงยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของ WHO กล่าวว่า “ชุดตรวจวินิจฉัยโรคฝีดาษลิงชนิดแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนภายใต้กระบวนการสำหรับการใช้งานฉุกเฉิน (Emergency Use Listing หรือ EUL) นี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการขยายความสามารถในการตรวจวินิจฉัยในประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ”

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา WHO ได้ขอให้บริษัทผู้ผลิตส่งผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อการทบทวนในภาวะฉุกเฉิน และได้หารือกับผู้ผลิตเกี่ยวกับความจำเป็นในการมีเครื่องมือวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ

ทั้งนี้ กระบวนการ EUL เป็นการประเมินความเสี่ยงของวัคซีน ชุดตรวจ และการรักษาที่ยังไม่ได้รับอนุญาต เพื่อเร่งการเข้าถึงในช่วงภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข

WHO ได้ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปีเมื่อเดือนส.ค. หลังจากเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสนี้ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือดีอาร์คองโก ซึ่งได้แพร่กระจายไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างบุรุนดี ยูกันดา และรวันดา

ขณะนี้มีการแพร่ระบาดของเชื้อฝีดาษลิง 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ “เคลด 1” (clade I) ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นในบางพื้นที่ของแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง และสายพันธุ์ใหม่ “เคลด 1 บี” (clade Ib) ที่แพร่เชื้อได้ง่ายกว่าและก่อให้เกิดความกังวลในระดับโลก

นอกเหนือจากดีอาร์คองโกและประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ประเทศสวีเดน อินเดีย และไทย ได้ยืนยันการพบผู้ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์เคลด 1 บี แล้วเช่นกัน

Back to top button