DIF ขวัญใจวัยเกษียณ จ่ายเงินปันผลต่อปีเฉลี่ยสูง 11.5%

DIF นักลงทุนยกให้เป็นหุ้นกองทุนโดดเด่นในกลุ่มกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน รองรับกลุ่มนักลงทุนหลังวัยเกษียณ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF ที่นักลงทุนยกให้เป็นตัวตึงผลแทนเงินปันผลต่อหน่วย (Dividend per Unit: DPU) ที่โดดเด่นในกลุ่มกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เรียกได้ว่าทุ่มเงินลงทุนไม่เสียเปล่า “ทั้งมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ ทั้งโอกาสได้ผลตอบแทนระยะยาว โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนหลังวัยเกษียณ DIF คือกองทุนขวัญใจเป็นกองทุนยอดนิยม “ของมันต้องมี” จนกระทั่งเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นสูง ทำให้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund)และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ที่มีการกู้ยืมเงินต้องเผชิญกับต้นทุนดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น

อีกทั้ง DIF ได้รับผลกระทบจากภาวะดอกเบี้ยสูงเช่นกัน DIF ไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมหาวิธีการลดต้นทุนทางการเงินและบริหารจัดการเพื่อการจ่ายเงินปันผลให้นักลงทุนได้เต็มศักยภาพ ไตรมาส 2/2567 ที่ผ่านมา DIF ยังจ่ายปันผลได้ที่ 0.2222 บาท/หน่วยลงทุน นับว่ายังทรงตัวได้ดีเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยมีอัตราตอบแทนจากเงินปันผลต่อปีเฉลี่ยสูงถึง 11.5%

ขณะที่ นางทิพาพรรณ ภัทรวิกรม Executive Director กลุ่มการลงทุนอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBAM ในฐานะบริษัทจัดการ DIF ระบุว่า นับตั้งแต่ DIF จัดตั้งกองทุนจนถึงปัจจุบัน ได้จ่ายเงินปันผลรวมมาแล้วเท่ากับ 10.3651 บาทต่อหน่วย โดยปี 2557 จ่ายเงินปันผลอัตราหน่วยละ 0.9384 บาท ปี 2558 จ่าย 0.9460 บาท ปี 2559 จ่าย 0.9560 บาท ปี 2560 จ่าย 0.9750 บาท ปี 2561 จ่าย1.0155 บาท ปี 2562 จ่าย 1.0335 บาท ปี 2563 จ่าย 1.0440 บาท ปี 2564 จ่าย 1.0440 บาท ปี 2565 จ่าย1.0335 บาท ปี 2566 จ่าย 0.9348 บาท และปี 2567 ไตรมาส1 กับไตรมาส 2/2567 จ่ายเท่ากันที่ 0.2222 บาท (ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)

DIF มีความแข็งแกร่งในการจ่ายปันผลสูงต่อเนื่อง แม้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นในปี 2565 และการชำระคืนเงินต้นในปี 2566 ประมาณ 1,091 ล้านบาท ในปี 2566 DIF ยังสามารถจ่ายเงินปันผลรวมเท่ากับ 0.9348 บาท ปี 2567 DIF มีการสำรองเงินชำระคืนเงินต้นอีกประมาณ 1,254 ล้านบาท แต่ในครึ่งปีแรกของปี2567 DIF ได้จ่ายเงินปันผลไปแล้วรวมเท่ากับ 0.4444 บาท” นางทิพาพรรณ กล่าว

ทั้งนี้ ผลจากการสิ้นสุดของสิทธิประโยชน์ภาษีที่จะทยอยเกิดขึ้นกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานทุกกองที่จัดตั้งมาครบ 10 ปี ทำให้นักลงทุนรายย่อยเริ่มถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินปันผล 10% เทียบเท่ากับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIT ที่มีผลเริ่มมาตั้งแต่ปี 2566 ส่งผลให้นักลงทุนรายเดิมรู้สึกว่าผลตอบแทนสุทธิที่ได้รับลดลง ในขณะที่นักลงทุนรายใหม่อาจยังไม่ได้ให้ความสนใจในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยผันผวน

แนวโน้มดอกเบี้ยเข้าสู่ขาลงชัดเจนจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศลดดอกเบี้ยครั้งแรกแล้ว ตลาดคาดการณ์เฟดอาจปรับดอกเบี้ยลดลงอีกภายในสิ้นปีนี้ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลง หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มปรับดอกเบี้ยลง DIF จะได้รับอานิสงส์จากประเด็นนี้

นางทิพาพรรณ กล่าวว่า ผลประกอบการ DIF แข็งแกร่ง สะท้อนได้จากการจ่ายเงินปันผลที่ต่อเนื่อง รายได้ค่าเช่าที่ DIF ได้รับจากสัญญาเติบโตทุกปี ขณะที่สัญญากับผู้เช่าหลักยังคงเหลือระยะยาว เสาโทรคมนาคมมีสัญญาสิ้นสุดปี 2576 ที่ยังมีระยะเวลาคงเหลืออีกกว่า9ปี ส่วนสายใยแก้วนำแสงสามารถต่อสัญญาสูงสุดได้อีก10ปี เมื่อเข้าเงื่อนไขที่กำหนด รวมถึง DIF ไม่ต้องรับภาระต้นทุนแปรผันใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการย้ายสายลงใต้ดิน การซ่อมแซมปรับปรุง ยกเว้นดอกเบี้ยเงินกู้

ปัจจุบัน DIF มุ่งหาประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติมจากทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐาน โดยหาผู้เช่ารายอื่นๆ ซึ่งทรัพย์สินของ DIFเป็นรูปแบบกรรมสิทธิ์ สามารถหาประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE คือ ผู้เช่าหลักและเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของประเทศ มีเครดิตเรทติ้งปรับดีขึ้นเป็น A+ เมื่อเดือนมี.ค.2567

ภายหลังควบรวมกับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ทำให้สัดส่วนตลาดธุรกิจ Mobile TRUE ขยับขึ้นมาเท่ากับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ภายใต้ชื่อ AIS ที่ 50%  ส่วนตลาดธุรกิจบรอดแบนด์ TRUE ยังคงมีสัดส่วนที่ 31% ขณะที่ภาพรวมธุรกิจโทรคมนาคมในอนาคต ผู้ให้บริการยังต้องมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงพัฒนาโครงข่ายและคุณภาพการให้บริการ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานลูกค้ามากขึ้น

ราคาหน่วยลงทุน DIF ที่ปรับตัวลดลงเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 -2565 หลังจากที่ TRUE ขาย DIF ออกรวม 8-10% (เดิมถือ 28% ปัจจุบันถืออยู่ 20%) ซึ่งการขายหน่วยลงทุนของกลุ่มTRUE ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่า อาจจะมีการลดการลงทุน จึงรู้สึกไม่เชื่อมั่นในการถือหน่วย ”

นางทิพาพรรณ ชี้แจงว่า กลุ่มTRUE ไม่ได้มีการขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติมตั้งแต่ปลายปี 2565 พร้อมกับถือ DIF เป็น Strategic Holdings เพราะเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการให้บริการ Mobile และ Internet ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัท ขณะเดียวกัน การปรับโครงข่ายการให้บริการภายหลังควบรวม DTAC จะไม่กระทบต่อจำนวนการเช่าและค่าเช่าที่ TRUE เช่ากับ DIF

เนื่องจากกลุ่ม TRUE มีสัญญาเช่าระยะยาวกับ DIF ที่กำหนดจำนวนและราคาไว้แล้ว ส่วนการเช่าเสาของ DTAC ภายหลังควบรวม ไม่ได้ต่อสัญญาเช่ากับ DIF มีผลกระทบต่อรายได้เกิดขึ้นเล็กน้อย ซึ่งผลกระทบนั้นจบแล้วในไตรมาส 1/2567 รวมถึงปัจจัยตลาดทุนผันผวนและภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอนตั้งแต่สถานการณ์ COVID-19  ส่งผลให้นักลงทุนชะลอการลงทุนต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ว่า DIF จากนี้ไปจะไม่เหมือนเดิม มีทิศทางไปในทางบวกมากขึ้น ขณะที่ปัจจัยลบด้านต่างๆลดลง ปัจจุบันราคาหน่วยลงทุน DIF พลิกกลับมาเพิ่มขึ้น นักลงทุนสายหน่วยลงทุนปันผลสูง DIFเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ควรมีติดพอร์ต

อย่างไรก็ดี ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง การทำความเข้าใจในลักษณะของกองทุนจึงสำคัญ หากมุ่งหวังเรื่องผลตอบแทน ต้องพิจารณาปัจจัยรอบด้าน เพราะผลตอบแทนที่ผ่านมา ยังไม่ใช่ตัวชี้วัดถึงผลตอบแทนหลังจากนี้  (ขอข้อมูลเพิ่มได้จาก บลจ. ไทยพาณิชย์ 02-777-7777)

Back to top button