Gen AI กับข้อกังวลภาคธุรกิจ
จากเวทีสัมมนา The Digital Imperative ที่จัดขึ้นโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Management Association : TMA)
จากเวทีสัมมนา The Digital Imperative ที่จัดขึ้นโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Management Association : TMA) ช่วงปลายเดือนก.ย. 67 ที่ผ่านมา โดย 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด โดย “เชาวลิต รัตนกรไกรศรี” รองกรรมการผู้จัดการสายงานโซลูชั่นองค์กร และบริษัท กูเกิล คลาวด์ จำกัด โดย “อรรณพ ศิริติกุล” ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย ประกาศพร้อมสนับสนุนและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence :AI) ให้ภาครัฐและเอกชนไทย เพื่อตอบโจทย์ในการเพิ่มศักยภาพและพัฒนาการแข่งขันของประเทศไทย ตามแผนรัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยปี 2570
ไฮไลต์อยู่ที่หัวข้อเรื่อง Telling Right form Not Right: A Matter of Trust in the Digital World ที่งานวิจัยของไมโครซอฟท์ พบว่า คนไทยใช้ Generative AI (Gen AI) สูงถึง 92% สูงกว่ามาตรฐานของทั่วโลกที่ใช้ Generative AI เฉลี่ย 73% และจากผลการวิจัยสิ่งที่ภาคธุรกิจกังวลในการใช้ AI คือเรื่องของการหลอกลวง และการรั่วไหลของข้อมูลจากการใช้ Generative AI โดยสิ่งที่ไมโครซอฟท์ทำคือจะมีการตรวจสอบข้อมูลและระมัดระวังการรั่วไหลของข้อมูล ด้วยการจำกัดการเข้าถึงข้อมูลอย่างเข้มงวด จะทำให้เทคโนโลยี AI สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับภาคธุรกิจ
“ปัจจุบันเทคโนโลยีและ AI เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ สอดคล้องกับนโยบายไมโครซอฟท์ ที่ต้องการให้ทุกคนสามารถใช้เทคโนโลยีและ AI โดยมี 2 ภารกิจหลัก คือ การทำอย่างไรที่จะพัฒนาเทคโนโลยี ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนและสรรค์สร้างสิ่งใหม่ ๆ และการสร้างความไว้วางใจ (Trust) กับการใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัย”
ส่วน “กูเกิล” มีกรอบการทำงานที่สำคัญในประเทศไทย ว่าด้วยเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI ใน 4 ประเด็นคือให้การศึกษาโครงการ Advance AI โดยการให้ความรู้กับคนไทยทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้มีแนวคิดในการพัฒนาให้ Advance AI เป็นผู้ช่วยในการทำงานให้กับผู้ใช้งาน
โดยมีแผนลงทุน Advance Infrastructure โดยนำนวัตกรรมที่ใช้ AI ในระดับสูง มาใช้ในประเทศไทย และตั้ง Academy เพื่อให้ความรู้กับอาจารย์และนักศึกษาในประเทศไทย เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI เป็นสร้างรากฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI ในประเทศไทย
“นอกจาก 4 แนวทางสำคัญเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI ในประเทศไทยแล้ว สิ่งสำคัญคือให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการใช้งานเพื่อสร้างความไว้วางใจในการใช้งานเทคโนโลยี โดย “กูเกิล” มีระบบในการจัดการและบล็อก เว็บไซต์อันตรายแบบ Real Time เพื่อป้องกันผู้ใช้งานและมีการลงทุนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน”
อีกหนึ่งไฮไลต์ความพร้อมของประเทศไทย โดย “วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ” ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ปาฐกถาผ่านหัวข้อ The Digital Imperative ถึงความพร้อมของประเทศไทย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีปัจจุบันว่ากรอบการทำงานงานของกระทรวงดิจิทัล มีหน้าที่สำคัญในการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ
โดยเฉพาะการเพิ่มสมรรถภาพของประเทศ เรื่องการแข่งขันด้านดิจิทัล ปัจจุบันความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของไทย อยู่อันดับที่ 35 ปี 2567 เพิ่มขึ้นมาจากอันดับที่ 40 เมื่อปี 2566 จากการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย International Institute for Management Development (IMD) และประเทศไทย มีเป้าหมายพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของไทยอย่างต่อเนื่อง
จากสถิติคนไทยใช้ Generative AI มากถึง 92% สูงกว่ามาตรฐานของทั่วโลกที่ใช้ Generative AI เฉลี่ย 73% ข้างต้น บ่งชี้ให้เห็นว่า การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการเรียนรู้เพื่อเท่าทัน ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะมิเช่นนั้นแล้ว Generative AI จะกลายเป็น “บูมเมอแรงเชิงลบ” ได้เช่นกัน..!!??
สุภชัย ปกป้อง