ศาลสหรัฐฯ สั่ง “Google” เปิดกว้างแอป “Play Store” ให้ผู้ใช้มีทางเลือก

ศาลสหรัฐฯ มีคำสั่งตัดสินให้ Google เปิดกว้างทางเลือกให้ผู้ใช้แอป เพลย์ สโตร์ ทางมือถือแอนดรอยด์ หลังแพ้คดีฟ้องร้อง Epic Games บริษัทเกมชื่อดังสัญชาติอเมริกัน กรณีผูกขาดแอป Play Store


ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (8 ต.ค.67) สำนักข่าว “ซีเอ็นบีซี” รายงาน เจมส์ โดนาโต ผู้พิพากษาสหรัฐอเมริกา มีคำสั่งให้ กูเกิล (Google) ดำเนินการปรับปรุงธุรกิจแอปมือถือใหม่ เพื่อเปิดทางให้ผู้ใช้งานระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) มีทางเลือกมากขึ้นสำหรับการดาวน์โหลดแอปต่าง ๆ และสามารถชำระเงินในการทำธุรกรรมภายในแอปเหล่านั้นได้ หลังจากคณะลูกขุนตัดสินให้ บริษัท เอปิก เกมส์ (Epic Games) เจ้าของเกม “Fortnite” ชนะคดีฟ้อง Google เรื่องการผูกขาดแอปเพลย์ สโตร์ (Play Store) เมื่อปี 66

ทั้งนี้ คำตัดสินของศาลแขวงสหรัฐฯ ในซานฟรานซิสโก กล่าวย้ำถึงการเปลี่ยนแปลงที่ กูเกิล ต้องดำเนินการแก้ไขเพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันมากขึ้นในเพลย์ สโตร์ (Play Store) รวมถึงการเปิดทางให้แอปแอนดรอยด์สามารถดาวน์โหลดได้บนสโตร์ของคู่แข่ง โดยคำสั่งของผู้พิพากษาโดนาโต ระบุว่า ช่วงระยะเวลา 3 ปี กูเกิล ไม่สามารถห้ามการใช้วิธีชำระเงินภายในแอป (in-app payment) และต้องอนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดแพลตฟอร์ม แอปแอนดรอยด์หรือสโตร์ของบริษัทคู่แข่งอื่น ๆ ได้ ซึ่งในปี 66 ผู้ใช้งานจ่ายเงินกับแอปดังกล่าวไปถึง 124 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ คำสั่งศาลฯ ตัดสินห้ามไม่ให้ กูเกิล จ่ายเงินแก่ผู้ผลิตอุปกรณ์ เพื่อติดตั้งแอปสโตร์ของกูเกิลล่วงหน้าและห้ามการแบ่งปันส่วนรายได้ที่เกิดจากเพลย์สโตร์ให้กับผู้จัดจำหน่ายแอปรายอื่น ๆ อีกด้วย  หลังจาก ศาลมีคำสั่งตัดสินดังกล่าว ราคาหุ้น อัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google ร่วงลงไปถึง 2.5% แตะระดับ 164.39 ดอลลาร์เมื่อวันที่ 7 ต.ค.67 (ช่วงเช้าวันนี้ 8 ต.ค.67 ตามเวลาประเทศไทย)

ด้าน เจมส์ โดนาโต กล่าวว่า คำสั่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พ.ย.67 นี้ เพื่อให้เวลา Google ดำเนินการปฏิบัติตามข้อตกลงและแนวทางปฏิบัติในปัจจุบัน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนพ.ย.เป็นต้นไป เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยมีรายละเอียดที่ระบุห้ามไม่ให้ กูเกิล กระทำการดังต่อไปนี้ (1) จ่ายเงินให้กับบริษัทต่างๆ เพื่อเปิดตัวแอปเฉพาะหรือใช้งานครั้งแรกบน Google Play (2) จ่ายเงินให้กับบริษัทต่างๆ เพื่อไม่ให้แข่งขันกับ Google Play (3) จ่ายเงินให้กับบริษัทต่างๆเพื่อให้ติดตั้ง Google Play บนอุปกรณ์ใหม่มือถือแอนดรอยด์

(4) กำหนดให้ผู้พัฒนาแอปต้องใช้ Google Play Billing หรือห้ามผู้พัฒนาแอปไม่ให้แจ้งผู้ใช้สินค้าที่ถูกกว่าบนเว็บไซต์ของตนเอง (Google Play จะเก็บค่าธรรมเนียมระหว่าง 15% ถึง 30% จากการซื้อในแอปจากผู้พัฒนาขนาดใหญ่) (5) กูเกิล จะต้องอนุญาตให้ร้านแอป Android คู่แข่งเข้าถึงแคตตาล็อกแอปของ Google Play และ (6) กูเกิล จะต้องนำร้านแอปแอนดรอยของบุคคลที่ 3 มาลงในร้านแอป Google Play ของตนอีกด้วย

ขณะที่ กูเกิล แถลงการณ์หลังรับทราบคำสั่งศาลว่า บริษัทจะยื่นอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ เขต 9 ซึ่งตั้งอยู่ในซานฟรานซิสโก และจะขอให้ศาลระงับคำสั่งของผู้พิพากษาโดนาโตไว้ก่อนระหว่างการยื่นอุทธรณ์ในลำดับต่อไป

ฟาก ทิม สวีนี่ย์ CEO ของบริษัท เอปิก เกมส์ เปิดเผยว่า วัฒนธรรมองค์กรของ Google ส่งผลให้ เอปิก ชนะคดี เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของ Google มักจะบันทึกหรือจัดทำเอกสารเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติทางธุรกิจในอีเมลหรือช่องทางการสื่อสารอื่นๆ ซึ่งเรื่องดังกล่าวโชว์ออกมาระหว่างการพิจารณาดำเนินคดี

“ นี่หมายความว่าผู้พัฒนาแอปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ร้านค้า ผู้ให้บริการ และผู้ผลิตมีเวลา 3 ปี ที่จะสร้างการเข้าถึง Android อย่างไม่มีการปิดกั้นและเปิดกว้างอย่างมีชีวิตชีวาตามการแข่งขันที่ควรจะเป็น ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากจน Google ไม่สามารถหยุดมันได้” CEO เอปิก เกมส์ กล่าวทิ้งท้าย

Back to top button