จับตา! ท่าที “ประธาน กสทช.” หลัง“ไตรรัตน์”โดนเพื่อนเทถอนคำสั่งตั้งให้อยู่ยาวถึงอายุ 60 ปี

จับตา! ท่าที “ประธาน กสทช.” หลัง “ไตรรัตน์” โดนเพื่อนเทถอนคำสั่งตั้งให้อยู่ยาวถึงอายุ 60 ปี


ผู้สื่อข่าวรายงานอ้างอิงแหล่งข่าวใน “สำนักงาน กสทช.” ว่า อาจเกิดความไม่ชอบมาพากลในการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงภายใน “สำนักงาน กสทช.” ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาถึง 2 เหตุการณ์ โดย เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 67 ได้มีคำสั่งสำนักงาน กสทช.เลขที่ 1016/2567 เรื่องการแต่งตั้งพนักงานซึ่งปฏิบัติงานเป็นการประจำลงนามโดยนายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการสายงานกิจการโทรคมนาคม ปฏิบัติหน้าที่รักษาการ เลขาธิการ กสทช. ในเนื้อความของคำสั่งเป็นการให้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ตำแหน่ง รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงาน และแต่งตั้งให้เป็นพนักงานประจำ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป

โดยที่มาของเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากสัญญาจ้างฉบับปัจจุบันของ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ในตำแหน่ง รองเลขาธิการ ด้านยุทธศาสตร์ฯ ที่มีระยะเวลา 5 ปี จะสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายน 2568 ดังนั้น การประเมินผลงานของรองเลขาธิการ ด้านยุทธศาสตร์ฯ ควรจะทำในช่วงต้นปี 2568 ไม่ใช่ในช่วงเวลานี้

นอกจากนี้ ตามระเบียบสำนักงาน กสทช. ข้อ 29. วรรค 4 ระบุว่า “ให้เลขาธิการ กสทช. เป็นผู้ออกคำสั่งบรรจุ และ แต่งตั้ง หรือแต่งตั้งบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งตามวรรค 1 โดยความเห็นชอบของ กสทช.” ดังนั้น คำสั่งแต่งตั้งต้องดำเนินการผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ กสทช. ทั้งคณะก่อน

นอกจากนี้ คณะกรรมการ กสทช.ชุดที่แล้ว ในการประชุมกสทช. ครั้งที่ 24/2564 วันที่ 17 ธ.ค.64 ในระเบียบวาระที่ 5.3.8 : ข้อเสนอหลักการการปรับปรุงระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2555 ได้เคยมีมติเสียงข้างมากเห็นชอบให้กำหนดตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช. สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร เป็นตำแหน่งพนักงานประจำ (คือเกษียณอายุเมื่อครบ 60 ปีและไม่อยู่ภายใต้สัญญาจ้างเป็นระยะ) โดยต้องเข้าสู่ตำแหน่งตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน กสทช. กำหนด โดยความเห็นชอบของ กสทช.

ทั้งนี้ กรรมการ กสทช. เสียงข้างมากมีมติว่า สำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช. สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กรในปัจจุบัน เมื่อครบวาระการดำรงตำแหน่ง หากมีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ ให้บรรจุและแต่งตั้งเข้าเป็นพนักงานประจำต่อไป

จากมติดังกล่าวทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่า คำสั่งที่ลงนามโดยนายสุทธิศักดิ์ สะท้อนว่าเป็นการทำการประเมินผลงานล่วงหน้า กว่า 7 เดือน และตามข้อเท็จจริงจากวาระการประชุมคณะกรรมการ กสทช.ที่ผ่านมา ไม่ปรากฏว่าประธาน กสทช. เคยนำเรื่องการประเมินผลดังกล่าว เข้ามาสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ กสทช. แต่อย่างใด

ยิ่งไปกว่านั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า คำสั่งแต่งตั้งนายไตรรัตน์ฉบับดังกล่าวที่ลงนามโดยนายสุทธิศักดิ์ ในวันที่ 7 ต.ค. 67 เกิดขึ้นหลังจากที่นายสุทธิศักดิ์ได้รับแต่งตั้งโดยนายไตรรัตน์ ให้เป็นรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ตามคำสั่ง กสทช.ที่ 1019/2567 ลงวันที่ 4 ต.ค. 67 ที่แต่งตั้งให้นายสุทธิศักดิ์เป็นรักษาการเลขาธิการ กสทช. ระหว่างวันที่ 5-9 ตุลาคม พ.ศ. 67 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นายไตรรัตน์เดินทางไปต่างประเทศ กับ ประธาน กสทช. พอดี

อย่างไรก็ดี ต่อมาในวันที่ 9 ต.ค. 67 ผ่านมาเพียง 2 วัน แหล่งข่าวเดียวกันรายงานว่า นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน กลับทำหนังสือ ถึง ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรบุคคล (อบย.) ขอยกเลิกคำสั่งสำนักงานเลขที่ 1016/2567 ที่ตนเป็นผู้ลงนาม โดยอ้างว่าอาจจะไม่อยู่ในอำนาจของ รักษาการเลขาฯ ที่จะออกคำสั่งในลักษณะดังกล่าว

แหล่งข่าวจาก “สำนักงาน กสทช.” ตั้งข้อสังเกตว่า การแต่งตั้งและยกเลิกคำสั่งในวันเดียวกันนี้ อาจถูกมองว่า มีความพัวพันและประจวบเหมาะกับการแต่งตั้ง “นายสุทธิศักดิ์” มารักษาการเลขาธิการ กสทช.ในช่วงที่นายไตรรัตน์ เดินทางไปต่างประเทศ กับ ประธาน กสทช.พอดี เหตุผลใดที่ทำให้นาย สุทธิศักดิ์ แม้จะเป็นเพื่อนกับนายไตรรัตน์ แต่ถือว่าเป็นลูกหม้อที่ทำงานใน กสทช.มามากกว่า 20 ปี  มีความเข้าใจกระบวนการทำงานของ กสทช.เป็นอย่างดี เหตุใดจึงได้มีคำสั่งดังกล่าวออกมา และเมื่อเจอคำทักท้วงจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย จึงต้องรีบยกเลิกคำสั่งในวันเดียวกัน

 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าต้องจับตามองอย่างยิ่ง และอาจมีการตั้งคำถามจากสังคมเมื่อ ประธาน กสทช. และ นายไตรรัตน์ กลับมาจากต่างประเทศกันแล้ว จะชี้แจงเกี่ยวคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวอย่างไร จะมีการหาทางเลี่ยงไม่ยอมนำเสนอให้ ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. พิจารณา เหมือนเมื่อครั้งการออกประกาศสรรหาเลขาธิการ ที่ประธานรวบอำนาจไว้เองอีกหรือไม่

Back to top button