พาราสาวะถี

นึกว่าจะฮือฮาน่ากลัวจนคนในพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลอกสั่นขวัญผวา กับคำขู่ของ ไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคสืบทอดอำนาจ กับปมที่ว่าจะมีข่าวใหญ่ที่อาจนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทยได้


นึกว่าจะฮือฮาน่ากลัวจนคนในพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลอกสั่นขวัญผวา กับคำขู่ของ ไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคสืบทอดอำนาจ กับปมที่ว่าจะมีข่าวใหญ่ที่อาจนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทยได้ เอาเข้าจริงวิธีการที่ใช้ก็เป็นการเลี่ยงบาลี และคนเดิมเกมก็หน้าเก่า อาจมีดีกรีพกติดมาด้วยความสำเร็จในการยื่นยุบพรรคก้าวไกลได้เท่านั้น นั่นก็คือการที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพุทธะอิสระ ไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยใช้มุกเดียวกันกับที่เคยทำได้ในการล้มพรรคสีส้มมาแล้วนั่นเอง

ตั้งต้นด้วยการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งให้ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 โดยยกเอา 6 พฤติการณ์ที่มองว่าเข้าข่ายคือ หลังทักษิณได้รับพระราชทานอภัยโทษให้เหลือโทษจำคุก 1 ปี พบว่ามีการใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือในการสั่งรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ไม่ต้องรับโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว โดยไปพักอยู่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ

ทักษิณมีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฮุน เซน อดีตนายกฯ ของกัมพูชา และควบคุมการบริหารของรัฐบาลผ่านพรรคเพื่อไทย โดยการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเล ในเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทยกัมพูชาในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับทางกัมพูชา ทั้งที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นอธิปไตยของประเทศไทย ทักษิณสั่งให้พรรคเพื่อไทย ร่วมมือกับพรรคประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทักษิณมีพฤติกรรมเป็นเจ้าของ ครอบครอง ครอบงำ เป็นผู้สั่งการแทนพรรคเพื่อไทยในการเจรจากับพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล เพื่อเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกฯ คนใหม่เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่บ้านพักจันทร์ส่องหล้า หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง ทักษิณมีพฤติกรรมเป็นเจ้าของ ครอบงำ และสั่งการให้พรรคเพื่อไทยมีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยเพื่อไทยยินยอมตามที่สั่ง 

สุดท้ายคือ ทักษิณมีพฤติการณ์เป็นผู้ครอบงำและสั่งการให้พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนำนโยบายที่นายทักษิณได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ไปเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567 เมื่อวิเคราะห์ตามประเด็นที่กล่าวหาแล้ว มีเพียงกรณีเดียวที่ถ้าจะมองเป็นความผิดก็คือ การเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อสนับสนุนคนขึ้นเป็นนายกฯ จากข่าวที่ปรากฏว่าให้ดัน ชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยเป็นผู้นำประเทศ

แต่คล้อยหลังจากนั้น สส.และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยก็มีมติเสนอชื่อ แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามข่าวที่ปรากฏ อาจมีนัยที่ว่าถ้าครอบงำได้ทำไมผลจึงไม่เป็นไปตามข่าวที่ปรากฏ ส่วนเรื่องไม่ยอมเข้าคุกแม้แต่วันเดียว ก็ต้องไปว่ากันด้วยเอกสาร หลักฐาน พยานบุคคล เพื่อชี้ให้เห็นว่ามีการเข้าไปครอบงำกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ แบบไหน เพราะส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับทักษิณตั้งแต่รับโทษจนถึงการได้รับอภัยโทษ ทั้งหมดเป็นการดำเนินการโดยรัฐบาลผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ

ยิ่งประเด็นที่กล่าวหาสมคบกับอดีตผู้นำกัมพูชา เจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ ก็เป็นการจับแพะชนแกะเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องพื้นที่พิพาทของสองประเทศมาเป็นสารตั้งต้น ก่อนจะเชื่อมโยงไปถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองคน กรณีนี้ในการสืบพยานถามว่าฝ่ายที่ถูกลากเข้ามาเกี่ยวข้องที่เป็นคนของประเทศเพื่อนบ้านจะทำกันอย่างไร มองไปถึงความสัมพันธ์ของสองประเทศหรือไม่ พฤติการณ์ข้อกล่าวหาเช่นนี้ก็ไม่ต้องบอกว่า มีรากที่มาจากพวกม็อบนกหวีดและม็อบมีเส้นทั้งสิ้น

ขณะเดียวกัน เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เอาเพื่อไทยผูกกับพรรคประชาชน ก็เพียงเพื่อจะใช้ความเป็นอดีตก้าวไกลมาทำลายความน่าเชื่อถือของพรรคแกนนำรัฐบาลเท่านั้น เช่นเดียวกับเรื่องที่ว่าเพื่อไทยนำเอาวิสัยทัศน์ของทักษิณมาทำเป็นนโยบาย ต้องดูด้วยว่าเวทีที่อดีตนายกฯ ไปพูดเป็นการจัดของเพื่อไทย ชี้นำ สส.และคณะผู้บริหารพรรค หรือจัดโดยสื่อหลักของประเทศ ในฐานะอดีตผู้นำที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว เมื่อเสนออะไรที่เป็นแนวทางที่เกิดประโยชน์ ย่อมเป็นธรรมดาที่พรรคการเมือง หรือรัฐบาลจะหยิบยกเอามาใช้

ที่กลายเป็นตัวเฉลยการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ทั้งที่บอกปัดว่าไม่มีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับไพบูลย์ และพรรคสืบทอดอำนาจ แต่ดันชี้พฤติการณ์ว่าสั่งการให้พรรคเพื่อไทยมีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล คำถามที่จะตามมาคือ ถ้าพรรคสืบทอดอำนาจยังคงเป็นพรรคร่วมรัฐบาลจะมีการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้เกิดขึ้นหรือไม่ ทำไปทำมากลับเป็นประเด็นใช้นิติสงครามเพื่อสางแค้นส่วนตัวและพรรคพวก ที่สำคัญทำให้เห็นภาพขององคาพยพที่จ้องจะล้มรัฐบาลอยู่ในเวลานี้

เมื่อยังคงเป็นพวกหน้าเดิม ข้อกล่าวหาก็ไม่ได้พัฒนาไปจากเดิม โอกาสที่จะมีแนวร่วมยังมองไม่เห็น เว้นเสียแต่จะมีหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตใหญ่โตมโหฬารนั่นก็อีกเรื่อง ภายใต้สถานการณ์แบบนี้จึงเป็นการรักษาความสัมพันธ์เพื่อยืนระยะให้ได้ยาวระหว่าง พรรคแกนนำรัฐบาลกับพรรคอันดับสอง ผลจากการโหวตร่างกฎหมายประชามติที่ สว.ตีตกมาก่อนหน้า โดยเสียง สส.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับมติของสภาสูง แต่ 65 สส.ของภูมิใจไทยใช้วิธีการงดออกเสียง

นั่นเป็นการชี้ให้เห็นว่า พรรคสีน้ำเงินแสดงตัวชัดเจนว่าสายสัมพันธ์กับ สว.เป็นอย่างไร และทำให้เป็นหลักฐานพิสูจน์ที่แน่นอนแล้วว่า การล้มร่างกฎหมายประชามติของพวกสภาสูงนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร เป็นการเบ่งกล้ามโชว์ ทั้งที่น้องรักเพิ่งพาอาจารย์ใหญ่ของพรรคมุดรั้วบ้านจันทร์ส่องหล้าไปกินข้าวกับนายใหญ่ สถานการณ์ดำเนินไปเช่นนี้แสดงว่า ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องปรับจูนไม่ให้เกิดการปีนเกลียวจนกลายเป็นการแตกหัก ยังไงเสียประเมินตามหน้าเสื่อ สองพรรคไม่มีวันแตกคอ เพราะมันหมายถึงหายนะของทั้งคู่

อรชุน

Back to top button