DSI จับมือ AOT ให้ความรู้ “พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว” ผ่านสื่อสนามบินทั่วประเทศ

DSI จับมือ ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (AOT) ให้ความรู้การกระทำความผิด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ผ่านสื่อในสนามบินทั่วประเทศ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ​กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยพันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาการแทน อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ให้ความสำคัญในนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นส่งเสริมและแก้ปัญหาเกี่ยวกับคนต่างด้าวที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจในประเทศไทย รวมทั้งเล็งเห็นปัญหาของคนต่างด้าวประกอบธุรกิจ โดยฝ่าฝืนกฎหมาย รวมทั้งความสำคัญของเงินทุนจากต่างประเทศที่จะเข้ามายังประเทศไทย จึงได้อนุมัติให้กองคดีความมั่นคง มีคำสั่งตั้งคณะทำงานป้องกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับการใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพรางในการประกอบธุรกิจซึ่งฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ขึ้น เพื่อดำเนินการศึกษารวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ให้ได้มาซึ่งแนวทางป้องกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยคนต่างด้าวจะต้องได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในมิติต่าง ๆ อันเกิดจากการบูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วน โดยในวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา

ด้านนายสุวพิชญ์ มโนภาส รองผู้อำนวยการกองคดีความมั่นคง หัวหน้าคณะทำงาน พร้อมคณะทำงาน เข้าพบหารือกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งนายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายการท่าอากาศยาน ในการหารือทุกฝ่ายความเห็นชอบร่วมกันเพื่อเป็นการป้องปรามการกระทำความผิดกฎหมายในเรื่องการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ท่าอากาศยานเป็นด่านแรกที่คนต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทย หากมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ

อีกทั้งในเชิงการให้ความรู้ในการประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และแนวทางการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของภาครัฐอื่น ก็เป็นส่วนหนึ่งในการลดการเกิดการกระทำความผิดได้ บริษัทการท่าอากาศไทย จำกัด มหาชน ซึ่งมี 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ยินดีให้การสนับสนุนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์ของหน่วยงาน และในบริเวณท่าอากาศยานแห่งชาติสุวรรณภูมิ อาทิเช่น จอประชาสัมพันธ์บริเวณสายพานรับกระเป๋าขาเข้าระหว่างประเทศและพิจารณาความเหมาะสมในการตั้งป้าย หรือการตั้งสแตนดี้ (Standee) เพื่อประชาสัมพันธ์ตามจุดต่าง ๆ อีกด้วย

​นอกจากนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษตระหนักถึงทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ หน่วยงานราชการสภาพวิชาชีพต่าง ๆ รวมทั้งภาคเอกชน ล้วนเป็นส่วนสำคัญ ที่จำเป็นต้องร่วมกันปกป้องการประกอบธุรกิจของคนไทยเนื่องจากมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ต้องได้รับการปกป้องตามกรอบของกฎหมายและนโยบายของรัฐบาล จึงได้จัดทำโครงการฯ ดังกล่าวนี้ขึ้น ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษจะรีบดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อให้โครงการมีผลสำเร็จลุล่วงเห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

Back to top button