SAK สินเชื่อโตเด่นคุม NPL ดี

SAK โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 2/2567 1.สินเชื่อบุคคลที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 45.5% 2.สินเชื่อบุคคลที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน-เงื่อนไขเกษตรกร 33.8%


คุณค่าบริษัท

บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SAK โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 2/2567 1.สินเชื่อบุคคลที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 45.5% 2.สินเชื่อบุคคลที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน-เงื่อนไขเกษตรกร 33.8% 3.สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ 9.4% 4.สินเชื่อเช่าซื้อ 4.4% 5.สินเชื่อบุคคล 1.6% 6.สินเชื่อที่ดิน 5.3% โดยสินเชื่อมีหลักประกันมีสัดส่วน 89% และสินเชื่อไม่มีหลักประกันมีสัดส่วน 11% ของสินเชื่อรวม ทั้งนี้รายได้ของ SAK มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) (ปี 2564-2566) ที่ 20.5%

SAK รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 มีกำไรสุทธิ 199.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.85% จากไตรมาส 2/2566 และเพิ่มขึ้น 2.22% จากไตรมาส 1/2567 ที่มีกำไรสุทธิ 195.36 ล้านบาท กำไรไตรมาส 2 ดีกว่าคู่แข่งรายอื่นในกลุ่มการเงินที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลง กำไรปกติของ SAK ใกล้เคียงกับประมาณการของบล.กสิกรไทย โดยการเติบโตของกำไรปกติทั้งเมื่อเทียบไตรมาส 1/2567 และเทียบไตรมาส 2/2566 ส่วนใหญ่มาจากการเติบโตของสินเชื่อที่ 8% จากไตรมาส 1/2567 และ 17% จากไตรมาส 2/2566 และจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ควบคุมได้

คุณภาพสินทรัพย์ของ SAK อยู่ภายใต้การควบคุม โดยมี NPL ratio ไตรมาส 2/2567 ที่ 2.44% (ลดลง 0.06% จากไตรมาส 1/2567) และสินเชือชั้นที่ 2 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 5% (เพิมขึ้น 0.40% จากไตรมาส 1/2567) ขณะที่การก่อตัวของ NPL ใหม่ยังคงอยู่ในระดับเดิม ทั้งเมื่อเทียบไตรมาส 2/2566 และเทียบกับไตรมาส 1/2567 จากการคำนวณของบล.กสิกรไทย

ผู้บริหาร SAK แสดงความมั่นใจในการเติบโตของกำไรในปี 2567 โดยคาดว่า 1.สินเชื่อจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 15% จากปี 2566 2.อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ (CIR) ลดลง จากการเลื่อนเปิดสาขาใหม่ 3.ต้นทุนการเงินลดลง 0.20% ถึง 0.25% หลังประสบความสำเร็จในการเจรจากับธนาคารเพื่อลดต้นทุนดอกเบี้ยในครึ่งหลังของปี 2567 และ 4.มั่นใจในการควบคุมหนีเสีย (NPL) และค่าใช้จ่ายสำรองหนีสูญ (credit cost) ให้คงอยู่ ณ ระดับปัจจุบัน

SAK สามารถคง NPL ratio ไว้ที่ระดับคงที่และต่ำที 2.5% และพอร์ตสินเชื่อของ SAK สามารถเติบโตต่อไปได้ รวมถึงทำผลงานได้ดีกว่าคู่แข่ง ซึ่งบล.กสิกรไทย พบว่า NPL และสินเชื่อชั้นที่ 2 ของหุ้นกลุ่มการเงินภายใต้การวิเคราะห์ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ยกเว้นของ SAK และ MTC เชื่อว่าเป็นเพราะสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรของ SAK มีสัดส่วนสูง (มากกว่า 35% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด) และความสามารถเฉพาะตัวในการคัดกรองลูกหนี้ที่มีคุณภาพดี

บล.กสิกรไทย คาดว่ากำไรปกติของ SAK จะเติบโตในระดับตัวเลข 2 หลักในปี 2567 ดังนั้นจึงคาดว่า SAK จะรายงานการเติบโตของรายได้เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้าต่อไปในไตรมาสที่ 3 และ 4/2567 ซึ่งน่าจะได้แรงหนุนจาก 1.การเติบโตของสินเชื่อที่บรรลุเป้าที่ 15% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.คุณภาพสินทรัพย์ที่ควบคุมได้ และ 3.ต้นทุนดอกเบี้ยที่ลดลงหลังการเจรจากับธนาคาร

ข้อมูลจาก LSEG Consensus สำหรับ SAK ระบุว่า ประมาณการรายได้รวมปี 2567 ที่ 2,699.20 ล้านบาท และประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 ที่ 844.40 ล้านบาท โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 6.17 บาท จาก 4 โบรกเกอร์

บล.กสิกรไทย ปรับประมาณการกำไรปกติปี 2567-2569 ของ SAK ลง 5% /7% /5% มาเป็น 838 /1,026 /1,269 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสมมติฐานดังนี้ 1.ปรับประมาณการผลตอบแทนจากสินเชื่อลง 0.40% ถึง 0.50% เนื่องจากสินเชื่อที่ดินซึ่งให้ผลตอบแทนต่ำมีสัดส่วนสูงขึ้น 2.ปรับเพิ่มประมาณการต้นทุนดอกเบี้ย เนื่องจากคาดจะไม่มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่จะถูกหักล้างบางส่วนจากความสำเร็จในการเจรจาระหว่าง SAK และธนาคารเพื่อลดต้นทุนดอกเบี้ย

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น SAK ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 4 ต.ค. 2567 ที่ 4.82 บาท) เทรดที่ P/E 12.79 เท่า ต่ำกว่า P/E กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ที่ 16.36 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น SAK อยู่ที่ 1.71 เท่า สูงกว่า P/BV กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ที่ 1.48 เท่า

Back to top button