THAI พ้นฟื้นฟูปี 68 โบรกมอง BBL-KTB เพิ่มอัพไซด์คุณภาพสินทรัพย์ พ่วง NPL ลดลง
CGSI มอง “การบินไทย” จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการปี 68 ทำให้ BBL-KTB ในฐานะเจ้าหนี้จะได้กลับรายการแปลงหนี้เป็นทุนเนื่องจาก THAI ต้องจ่ายหนี้ให้ครบตามเงื่อนไข จึงจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้ ที่สำคัญส่งผลให้ NPL ทั้งสองแบงก์ปรับลดลง
บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ถึง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI กรณีจะออกจากการฟื้นฟูกิจการในปี 2568 นั้น
โดยเบื้องต้น THAI ซึ่งไม่ได้จัดทำเรทติ้ง ประกอบกับหุ้นถูกพักการซื้อขาย มีการเปิดเผยเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2567 ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์หรือ filing ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า บริษัทจะผ่านการปรับโครงสร้างเงินทุนในไตรมาสที่ 4 ปี 2567
สำหรับแผนฟื้นฟูธุรกิจที่ออกคำสั่งโดยศาลล้มละลายกลาง มีการปรับโครงสร้างเงินทุนจะรวมถึง 1.การออกหุ้นใหม่จำนวน 9,800 ล้านหุ้น ในราคาไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น เพื่อสนับสนุนการแปลงหนี้เป็นทุนสำหรับบรรดาเจ้าหนี้ และ 2.หุ้นที่เสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม, พนักงาน และนักลงทุน โดยผ่านการออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายต่อบุคคลในวงจำกัด หรือ Private Placement (PP) หลังจากนั้น บริษัทจะทำการลดมูลค่าที่ตราไว้ หรือพาร์ (par) เพื่อล้างขาดทุนสะสม
โดยฝ่ายบริหารของ การบินไทย เชื่อว่าส่วนของผู้ถือหุ้นจะพลิกมาเป็นบวกได้ในเดือน ก.พ. 2568 (ประมาณการ) หลังจากนั้นจะยื่นงบการเงินต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเตรียมการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในเดือนเม.ย. 2568
ทั้งนี้ การบินไทย ระบุคาดการณ์ว่าศาลล้มละลายกลางคาดการณ์ว่าจะอนุมัติให้บริษัทออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในเดือน พ.ค. 2568 (ประมาณการ) ดังนั้นฝ่ายบริหารคาดการณ์ว่าหุ้นการบินไทยจะกลับมาเปิดให้มีการซื้อขายภายในสิ้นเดือน มิ.ย. 2568 (ประมาณการ)
อย่างไรก็ตาม จากธนาคารทั้งหมด 7 แห่งที่ฝ่ายวิจัยครอบคลุมในการวิเคราะห์ ซึ่งมีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB มียอดเงินให้สินเชื่อแก่ “การบินไทย” เป็นจำนวนทั้งหมด 11,900 ล้านบาท และ 5,800 ล้านบาท ตามลำดับ
ส่วนผู้ให้กู้รายอื่นๆ ของ การบินไทย นั้น ฝ่ายวิจัยไม่ได้ครอบคลุมในการวิเคราะห์หรือไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อ
โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 ทาง BBL ถือหุ้น THAI ในสัดส่วน 0.40% แต่สัดส่วนการถือหุ้นในสายการบินแห่งชาติจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 5.80% ภายหลังเสร็จสิ้นการแปลงหนี้เป็นทุน เชื่อว่าทั้ง BBL และ KTB ได้จัดประเภทเงินให้สินเชื่อที่ให้กับ “การบินไทย” ไว้เป็น NPLs หรือสินเชื่อด้อยคุณภาพ นับตั้งแต่บริษัทยื่นล้มละลายในปี 2563 ด้วยตามกำหนดเวลาของการบินไทยที่จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการที่กล่าวมาข้างต้น
ดังนั้น BBL และ KTB น่าจะมีการอัพเกรดสินเชื่อเหล่านี้มาเป็นสินเชื่อที่ชำระหนี้ปกติ หรือไม่ได้ผิดนัดชำระ ในไตรมาส 4 ปี 2568 ในมุมมองของฝ่ายวิจัยประเมินไว้
ทั้งนี้ หนึ่งในเงื่อนไขหลายๆ อย่างของการที่จะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการคือ การบินไทย จะต้องชำระจ่ายคืนหนี้อย่างสม่ำเสมอเป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน (สำหรับปี 25 63-68)
อย่างไรก็ตาม หากว่าเงินให้สินเชื่อของ การบินไทย มีการอัพเกรดหรือยกระดับไปสู่สินเชื่อที่ชำระหนี้ปรกติ หรือ Stage 1 คาดการณ์ว่าสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL ratio) ของ BBL จะปรับลดลงจาก 3.64% ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 มาอยู่ที่ 3.18% และอัตราเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) จะเพิ่มขึ้นจาก 283% ในไตรมาส 2 ปี 2567 ไปสู่ระดับ 321%
ขณะที่คาดการณ์ว่า สัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL ratio) ของ KTB จะลดลงจาก 3.85% ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 มาอยู่ที่ 3.59% และอัตราเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) จะเพิ่มสูงขึ้นจาก 181% ในไตรมาส 2 ปี 67 มาที่ 192% พร้อมตั้งสมมติฐานว่าธนาคารทั้ง 2 แห่งจะไม่มีการกลับยอดตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญหรือผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) แต่จะเพิ่มในส่วนของการตั้งสำรองพิเศษ (management overlay) หรือเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์จัดชั้นปกติ
ทั้งนี้ ยังคงเรทติ้งเป็นกลาง (Neutral) เนื่องจากเชื่อว่ากลุ่มธนาคารขาดปัจจัยกระตุ้นที่แข็งแกร่ง ขณะที่ประเมินอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) สำหรับหุ้นที่เราวิเคราะห์นั้นยังต่ำอยู่ที่ 8.7-8.8% ในปี 2567-69 (ประมาณการ) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของธนาคารหลายแห่งในอาเซียนภายใต้ธนาคารที่เราครอบคลุมในการวิเคราะห์ซึ่งอยู่ที่ 11.2-12.9%
ฝ่ายวิจัยชอบธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจรายใหญ่มากกว่าธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อให้กับรายย่อย สำหรับปัจจัยเสี่ยงด้านบวก ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่งมากขึ้น, การเติบโตของภาคการส่งออกที่ดีขึ้น และนโยบายหรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ ของรัฐบาล ส่วนปัจจัยเสี่ยงด้านลบ ได้แก่ คุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมถอยมากขึ้น และการล่าช้าของนโยบายหรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ