พาราสาวะถี อรชุน
คำขู่ของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ว่าถ้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเจอฉบับที่โหดกว่า กลายเป็นการยืนยันความเป็นเผด็จการที่ซุกซ่อนอยู่ในใจได้เป็นอย่างดี เพราะตามหลักการหากเป็นคนที่ยึดมั่นใจระบอบประชาธิปไตย จะต้องปล่อยให้สิ่งที่ตัวเองทำขึ้นเดินทางไปสู่การลงประชามติของประชาชนโดยธรรมชาติ จะรับหรือจะคว่ำมันต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนเป็นสำคัญ
คำขู่ของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ว่าถ้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเจอฉบับที่โหดกว่า กลายเป็นการยืนยันความเป็นเผด็จการที่ซุกซ่อนอยู่ในใจได้เป็นอย่างดี เพราะตามหลักการหากเป็นคนที่ยึดมั่นใจระบอบประชาธิปไตย จะต้องปล่อยให้สิ่งที่ตัวเองทำขึ้นเดินทางไปสู่การลงประชามติของประชาชนโดยธรรมชาติ จะรับหรือจะคว่ำมันต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนเป็นสำคัญ
แต่เมื่อกระบวนการทั้งหมดไม่ได้ยึดโยงประชาชนเป็นที่ตั้งเสียแล้ว จึงมองไม่เห็นความสำคัญหรือเรียกง่ายๆว่าไม่เห็นหัวประชาชน จะขู่ยังไงก็ได้ ด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้เนติบริกรใหญ่ถึงไม่อินังขังขอบกับการถูกครหาเรื่องการคงอำนาจตามมาตรา 44 ไว้ แม้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะประกาศใช้ไปแล้วก็ตาม นั่นเป็นเพราะต้องคงเครื่องมือติดหนวดเพื่อจัดการคนที่เห็นต่างนั่นเอง
เอาเป็นว่าจากมุมมองของคนที่อยู่ตรงข้ามคณะรัฐประหารและองคาพยพแม่น้ำ 5 สาย ลองหันมาฟังทัศนะของคนที่อยู่ฝ่ายเดียวกันบ้าง ล่าสุด คมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีสำคัญที่ล้มรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร่วมหัวจมท้ายกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ ในการโบกมือดักกวักมือเรียกทหารออกมาปฏิวัติ
ยังทนไม่ได้กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถึงกับประกาศว่า “เป็นเผด็จการชัดและดูถูกประชาชนจริง” โดยนักวิชาการกฎหมายรายนี้หยิบเอาแค่หมวดเดียวมาพิจารณานั่นก็คือ แค่หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ก็แสดงอาการรับไม่ได้แล้ว เพราะร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของมีชัย ตัดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เสียเหี้ยนเตียนโล่ง
ไม่ว่าจะเป็นหลักความผูกพันสิทธิเสรีภาพโดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ การอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ตัดสิทธิเพิกถอนและการเยียวยาความเสียหายจากการกระทำที่กระทบสิทธิและเสรีภาพ สิทธิในกระบวนการยุติธรรมเหลือมาตราเดียว สิทธิความเป็นส่วนตัว ตัดหลักการสำคัญในเรื่องการคุ้มครองเพื่อประโยชน์สาธารณะต้องรอออกกฎหมายก่อนหรือภาษาชาวบ้านคือ ปิดปากตลอดกาลถ้าไม่ตรากฎหมาย
นอกจากนี้ยังตัดสิทธิชุมชน เสรีภาพในการนับถือศาสนาถูกลิดรอน ตัดสิทธิการได้หลักประกันและสวัสดิภาพแรงงานและหลักประกันการดำรงชีพ เสรีภาพทางวิชาการลดลง เสรีภาพของสื่อถูกเซ็นเซอร์ สิทธิได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการของรัฐถูกตัดหมด สิทธิได้รู้ในข้อมูลข่าวสารของราชการถูกตัดหมด
โดยมีการตัดสิทธิการมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของรัฐ สิทธิของผู้บริโภค สิทธิติดตามตรวจสอบ สิทธิคุ้มครองสถานะความเป็นส.ส. สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีและส่วนใหญ่ไปเขียนเป็นหน้าที่ของรัฐและแนวนโยบายแห่งรัฐเท่ากับจะให้ประชาชนแค่ไหนก็ได้ เรียกว่าแค่หมวดนี้หมวดเดียว คนกันเองก็ส่ายหน้ากับการปิดกั้นทุกกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน
อย่างไรก็ตาม เรื่องสิทธิชุมชน ภัทระ คำพิทักษ์ คนสื่อที่เข้าไปมีส่วนร่วมใน กรธ.ออกมาแก้ต่างว่า ยังคงมีเรื่องสิทธิชุมชนอยู่เช่นเดิม เพียงแต่มิได้จัดหมวดหมู่เอาไว้ พร้อมกับอ้างถึงมาตรา 53 และมาตรา 54 ของร่างรัฐธรรมนูญ
โดยมาตรา 53 ระบุว่า “รัฐต้องอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการ และใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วยตามที่กฎหมายบัญญัติ”
ขณะที่มาตรา 54 ระบุว่า”การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบสุข วิถีชีวิตหรือสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาด้วยตามที่กฎหมายกำหนด”
เรื่องนี้ เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาตอบโต้คำอธิบายของภัทระ โดยอธิบายว่า กรณีมาตรา 53 ประชาชนและชุมชนมีสิทธิแค่ “มีส่วนร่วมในการดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าว” ประชาชนไม่มีสิทธิในการแสดงความเห็นที่จะปฏิเสธหรือไม่รับโครงการดังกล่าว ขณะที่ในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 จะใช้คำว่า “จะดำเนินการมิได้ เว้นแต่ จะมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียก่อนการดำเนินโครงการ”
ถ้อยคำสองอย่างนั้นต่างกันมาก เพราะในการรับฟังความเห็นตามรัฐธรรมนูญเดิม ประชาชนและชุมชนมีสิทธิที่จะเสนอความเห็นที่คัดค้านโครงการดังกล่าว แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประชาชนจะสิทธิแค่ร่วมในการดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนอาจถูกกำหนดให้เข้าร่วมหลังโครงการดำเนินการไปแล้วก็ได้ ในร่างรัฐธรรมนูญมาตรานี้ ประชาชนไม่มีสิทธิแสดงความเห็นปฏิเสธเลยแม้แต่น้อย ซึ่งภัทระไม่ได้ชี้แจง
ส่วนมาตรา 54 นั้นเดชรัตน์มองว่ามีความเจ็บปวด 3 ประการคือ การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ความเห็นประกอบขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และความมั่นใจว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนจะต้องดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนที่จะดำเนินโครงการ ส่วนที่ยังต้องลุ้นต่อไปคือ กฎหมายที่บัญญัติจะบัญญัติขึ้นเมื่อไรและอย่างไร จะเป็นธรรมกลับพี่น้องประชาชนมากเพียงใด
โดยเดชรัตน์ได้ย้ำว่า ถ้าสิทธิชุมชนอยู่ที่เดิม รัฐจะร่างกฎหมายลูกเสร็จหรือไม่ หรือจะร่างดีหรือไม่ดีเพียงใดสิทธิชุมชน ยังคงอยู่และล่วงละเมิดไม่ได้ ชุมชนยังสามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลได้ทั้งสิ้น แต่เมื่อย้ายหมวดแล้ว สิทธิชุมชนก็ไม่ใช่ประเด็นในการนำคดีขึ้นร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลอีกต่อไป นี่คือ สิทธิชุมชนที่หายไปจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย และต้องบอกว่านี่เป็นแค่ความเห็นต่อเรื่องหนึ่งเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ยังมีความเห็นต่างอีกหลายมุม ที่จะทยอยนำมาบอกกล่าวกันต่อไป