กสทช. เคาะวงโคจร 50.5 วันนี้! THCOM พร้อมยิงดาวเทียม โบรกเคาะเป้า 17 บาท
จับตาประชุมบอร์ดกสทช.นัดพิเศษวันนี้ พิจารณา 3 ใบอนุญาตวงโคจร 50.5, 51 และ 142 องศาตะวันออก บอร์ดกสทช.เสนอเคาะไลเซนส์วงโคจร 50.5E รักษาสิทธิ์ประเทศไทยก่อนกำหนดเส้นตาย 27 พ.ย.นี้ ส่วนวงโคจรที่เหลือขึ้นอยู่กับบอร์ดพิจารณา ด้าน “ไทยคม” ลั่นพร้อมส่งดาวเทียมเข้าวงโคจรเพื่อประโยชน์ของชาติ โบรกฯ ให้ราคาเป้าหมาย 17 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (21 ต.ค.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นัดประชุมวาระพิเศษ เพื่อรับรองและประกาศรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาต เรื่อง จัดทำร่างประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อรักษาสิทธิวงโคจรดาวเทียม ณ ตำแหน่งวงโคจร 50.5 และ 51 องศาตะวันออก และ 142 องศาตะวันออก หลังจากเลื่อนมาจากวันที่ 16 ต.ค. 2567 ซึ่งเป็นที่น่าจับตาว่าหากไม่มีการพิจารณาในวันนี้ ตำแหน่งวงโคจร 50.5E อาจเสียสิทธิ์ให้ประเทศอื่นที่มีความพร้อมมากกว่าไทย
ทั้งนี้ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM ได้ส่งบริษัทลูกเข้ามาเสนอขอใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียม ณ ตำแหน่งวงโคจร 50.5 และ 51 องศาตะวันออก และ 142 องศาตะวันออก เพียงรายเดียว หลังจากเปิดประมูลไปก่อนหน้านี้ 2 รอบแล้ว แต่ไม่มีผู้สนใจเข้าร่วม
สาเหตุที่ไม่มีผู้สนใจประมูล เนื่องจากวงโคจรดาวเทียมทั้ง 3 ตำแหน่งนี้มีฟุตปรินต์ หรือรัศมีสัญญาณในพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิก และในเขตตะวันออกกลาง ห่างไกลจากประเทศไทย การทำการตลาดค่อนข้างยาก ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน
อย่างไรก็ตาม กสทช.ได้ปรับเกณฑ์ใหม่ อนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมตามตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม โดยจะไม่จัดชุดของข่ายงานดาวเทียมที่จะนำมาอนุญาตสิทธิ์ (สามารถแยกขอใบอนุญาตได้) และไม่กำหนดราคาขั้นต่ำ (จากเดิมที่มีกำหนดราคาขั้นต่ำ) ซึ่งใช้วิธีการอนุญาตโดยพิจารณาเปรียบเทียบจากข้อเสนอของผู้ขอรับอนุญาต ตามเกณฑ์การพิจารณาอนุญาต
พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า การประชุมบอร์ดกสทช.นัดพิเศษวันนี้ จะเริ่มประชุมเวลาประมาณ 8.30 น. ซึ่งมีวาระเร่งด่วนเพียงวาระเดียว คือการพิจารณารับรองและประกาศรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาต เรื่อง จัดทำร่างประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อรักษาสิทธิ์วงโคจรดาวเทียม ณ ตำแหน่งวงโคจร 50.5 และ 51 องศาตะวันออก และ 142 องศาตะวันออก
โดยเฉพาะตำแหน่งวงโคจร 50.5 ตะวันออก ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องได้ข้อสรุปภายในวันนี้ เพื่อให้ไทยคมสามารถส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรได้ทันกำหนดเส้นตาย คือ 27 พ.ย.นี้ ตามที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) กำหนดไว้ หากไม่มีผู้ใช้สิทธิ์ภายในเวลาดังกล่าว ประเทศไทยก็จะเสียสิทธิ์วงโคจรนี้ไป
“ผมจะเสนอให้ที่ประชุมฯ เคาะวงโคจร 50.5 ตะวันออกภายในวันนี้เลย เพราะถ้าช้าไปกว่านี้ ประเทศไทยที่จะเสียสิทธิ์วงโคจรดังกล่าวให้แก่ประเทศอื่นเขาไป ซึ่งทางไทยคมก็ยืนยันว่าพร้อมส่งดาวเทียมทันกำหนดภายในเดือน พ.ย.นี้” บอร์ด กสทช. กล่าว
ส่วนวงโคจรที่เหลือตำแหน่งที่ 51 องศาตะวันออก และ 142 องศาตะวันออก อาจแยกพิจารณาเนื่องจากยังพอมีเวลาเตรียมตัวอยู่ อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับบอร์ดว่าจะพิจารณาพร้อมกันไปทั้งหมดหรือไม่
สำหรับวงโคจร 50.5 องศาตะวันออก อยู่บริเวณตะวันออกกลาง ถัดมาเป็น 51 องศาตะวันออก อยู่ใกล้ประเทศไทยเข้ามาบริเวณประเทศปากีสถาน และ 142 องศาตะวันออก อยู่ในทะเลแปซิฟิก ซึ่งแต่ละตำแหน่งวงโคจรมีความจำเป็นเร่งด่วนไม่เหมือนกัน
โดยรายละเอียดของแต่ละวงโคจรไม่เหมือนกัน ซึ่งตำแหน่งวงโคจร 50.5 และ 142 ตะวันออก สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) กำหนดให้อยู่ในขั้น N (Notification) ซึ่งอนุญาตให้ประเทศไทยสามารถยิงดาวเทียมได้แล้ว ตามรัฐธรรมนูญของไทยกำหนดว่าต้องรักษาสิทธิ์ดังกล่าวไว้ แต่ที่เร่งด่วนสุดคือ วงโคจร 50.5 ที่กำลังจะหมดอายุ ส่วน 142 ตะวันออก เพิ่งได้รับอนุญาต จึงพอมีเวลาเตรียมการ
ขณะที่ ตำแหน่งวงโคจร 51 องศาตะวันออกนั้น ตามกฎของ ITU กำหนดให้ประเทศไทยอยู่ในขั้น C (Coordination) โดยให้เวลาถึง 7 ปี แต่ก็ผ่านมากว่า 3 ปีแล้ว ปัจจุบันถือว่าประเทศไทยยังไม่ได้รับสิทธิ์ยิงดาวเทียมในวงโคจรนี้ และไม่เข้าข่ายที่ต้องรักษาสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ตามข้อกำหนด ITU Radio Regulations ก่อนที่ประเทศใดจะนำดาวเทียมขึ้นใช้งานจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนหลัก ๆ 3 ขั้นตอน กล่าวคือ (1) แจ้งความประสงค์การใช้งานตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมไปยังองค์การสหภาพ ITU ว่าต้องการใช้วงโคจรตำแหน่งใดและใช้ความถี่ใด (ขั้นตอนนี้เรียกว่าขั้น A : Advanced Publication) หลังจากนั้นก็ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่ (2) คือส่งข้อมูลรายละเอียดทางด้านเทคนิคของดาวเทียมและดำเนินการเจรจาประสานงานความถี่กับประเทศต่าง ๆ ให้สำเร็จเรียบร้อย (เรียกขั้นตอนนี้ว่าขั้น C : Coordination) แล้วจึงจะถึงขั้นตอนสุดท้าย (3) คือการแจ้งจดทะเบียนความถี่กับองค์การสหภาพ ITU (เรียกว่าขั้น N : Notification)
ก่อนหน้านี้ นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM กล่าวว่า ได้เสนอเงื่อนไขเพื่อให้กสทช.พิจารณาตามความเหมาะสม โดยไทยคมมีแผนจะนำดาวเทียมซึ่งเช่าจากประเทศอื่นลากเข้าสู่วงโคจร 50.5 องศาตะวันออก เพื่อรักษาสิทธิ์ให้กับประเทศไทย ส่วนจะสร้างดาวเทียมดวงใหม่คงไม่ทัน เพราะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 ปี
“กสทช.ควรพิจารณาใบอนุญาตวงโคจร 50.5 องศาตะวันออก ให้เร็วที่สุด ถ้าต้องการรักษาวงโคจร 50.5 องศาตะวันออกไว้ ส่วนวงโคจรดาวเทียมที่ตำแหน่ง 51 และ 142 องศาตะวันออก นั้นยังมีเวลาให้พิจารณาอยู่ ซึ่งบริษัทจะพิจารณาเงื่อนไขแยกเป็นแต่ละวงโคจร”
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในวงโคจรดาวเทียมที่ตำแหน่ง 50.5, 51 และ 142 องศาตะวันออก ไม่ได้สูงมาก ส่วนบริษัทจะนำไปทำธุรกิจด้านใดบ้าง อยู่ระหว่างกำลังพิจารณา เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและผู้ถือหุ้นของไทยคม
บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด คงคำแนะนำ “ซื้อ” THCOM อิงราคาเหมาะสม 17 บาทต่อหุ้น สำหรับการประมูลวงโคจรรอบใหม่ของกสทช. ปรับสองเกณฑ์สำคัญเป็น Beauty Contest ไม่ต้องจ่ายค่าวงโคจรในการประมูล และไม่ต้องรักษาวงโคจรด้วยการยิงดาวเทียมของตัวเองภายใน 5 ปี ทำให้ THCOM ไม่มีต้นทุนการประมูลและมีทางเลือกในการรักษาวงโคจรเพิ่มขึ้น มองเป็นความพยายามของไทยคมที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับภาครัฐเพื่อโอกาสอื่น ๆ ในอนาคตมากกว่า
โดยช่วงที่เหลือของปีนี้ THCOM มีลุ้น 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1)ลุ้นการได้รับอนุมัติจากหน่วยงานในประเทศ อินเดีย เพื่ออนุญาตการใช้งานดาวเทียม THCOM8 ในตลาดอินเดีย หากสำเร็จจะทำให้ THCOM ขึ้นลูกค้าได้อย่างช้าในปี 2568 2)ลุ้นการเปิดประมูลบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม หรือ USO รัฐบาลอินเดียรอบใหม่ที่หากเกิดขึ้นตลาดจะกลับมาเก็งกำไร โอกาสปิด Presale ดาวเทียม THCOM 10 เพิ่มเติม และ 3)ลุ้นการประมูล USO ประเทศไทยเฟสใหม่ที่จะมีขนาดใหญ่กว่ารอบก่อนในช่วงปลายปี 2567 ถึงต้นปี 2568