จับตา FM-GFPT-CPF วิ่ง! ออเดอร์ส่งออกไก่พุ่ง รับหวัดนกญี่ปุ่นระบาด

FM แย้มมีโอกาสได้รับออเดอร์ส่งออกไก่ไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น หลังญี่ปุ่นประกาศเตือนภัยไข้หวัดนกระดับสูงสุด ฟากโบรกฯ ชี้ GFPT และ CPF ได้ประโยชน์สูงสุด หลัง 2 บริษัทมีสัดส่วนส่งออกไก่ไปญี่ปุ่นมากที่สุด เชียร์ “ซื้อเก็งกำไร” ให้เป้าราคา 17 บาท และ 28 บาท ตามลำดับ


นายเชฏฐพล ดุษฎีโหนด กรรมการ บริษัท ฟู้ดโมเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ FM เปิดเผยว่า จากกรณีที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นได้ประกาศยกระดับการเตือนภัยไข้หวัดนกเป็นระดับสูงสุด หลังจากตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรงใน 2 เมืองในจังหวัดฮอกไกโด ทางตอนเหนือของประเทศ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา บริษัทมองว่ามีโอกาสที่ประเทศไทยจะส่งออกไก่ไปประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นได้นำเข้าไก่เนื้อปีละประมาน 1 ล้านตัน ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกไก่ไปประเทศญี่ปุ่นที่ประมาณ 46% โดยในส่วนของ FM ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีสัดส่วนการส่งออกไก่ไปประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ 33% ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 บริษัทมีสัดส่วนการส่งออกไก่ไปประเทศญี่ปุ่นแล้ว 29% ขณะที่ในไตรมาส 4/2567  FM จะเริ่มมีการส่งมอบสินค้าไก่แปรรูปปรุงสุกล็อตแรกไปให้ลูกค้าในประเทศเกาหลีใต้ด้วย ซึ่งเป็นลูกค้าที่ส่งสินค้าไปยังประเทศญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งเชื่อว่าน่าจะได้รับอานิสงส์จากกรณีดังกล่าวไปด้วย

ขณะที่ FM ยังคงเป้าหมายสัดส่วนการส่งออกเพิ่มเป็น 65% ภายใน 3 ปีจากนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 50% ด้านกำลังการผลิตในไตรมาส 4/2567 มีปริมาณการผลิตไก่ดิบของ FM เพิ่มขึ้น 19% โดยยังคงใช้เครื่องจักรเดิม ขณะที่กำลังการเชือดไก่เพิ่มขึ้นเป็น 130,000 ตัวต่อวัน จากเดิมที่เชือด 110,000 ตัวต่อวัน นอกจากนี้ ในช่วงปลายไตรมาส 2/2567 ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการขยายกำลังการผลิตไก่แปรรูปปรุงสุกเพิ่มขึ้นเป็น 27,000 ตัน สามารถรองรับการขายที่เพิ่มขึ้นได้แน่นอน

สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2567 บริษัทมั่นใจรายได้รวมจะเติบโตประมาณ 25-30% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 5,791 ล้านบาท ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทมีรายได้รวมแล้ว 3,646.29 ล้านบาท โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้มีการลงทุนขยายกำลังการผลิตตามแผนที่วางไว้ ขณะเดียวกัน FM ยังมีการเปิดตลาดใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ด้านกลยุทธ์หลักที่จะสร้างการเติบโตในอนาคต ประกอบด้วย 1. เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูป ซึ่งสร้างอัตรากำไรที่สูงกว่า ควบคู่ไปกับการสรรหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการผลิตที่ทันสมัยเป็นที่นิยมและดีต่อสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคร่วมกับลูกค้าของบริษัท ทำให้สามารถขายสินค้าได้ในราคาที่มีกำไรที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2. วางแผนการผลิตเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากทุกส่วนของไก่และไม่มีส่วนสูญเสียจากกระบวนการผลิต (Zero Wasted) ทำให้สามารถเพิ่มอัตรากำไรที่ดีขึ้นจากการเพิ่มมูลค่าให้กับ Waste และมีแผนขยายสู่ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งจะยกระดับอัตรากำไรให้ดียิ่งขึ้น

3.ขยายฐานลูกค้าไปยังภูมิภาคใหม่ ๆ และรักษาฐานลูกค้าปัจจุบัน โดยการรักษามาตรฐานในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพหลากหลายและมีมูลค่าเพิ่ม เพื่อผลประกอบการที่เติบโตอย่างยั่งยืน 4. ให้ความสำคัญกับการสรรหาและพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการดำเนินธุรกิจและตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและกลุ่มลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 5. ปรับห่วงโซ่อุปทานของวัตถุดิบ และนวัตกรรมการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีอัตรากำไรที่เหมาะสมและเติบโตอย่างยั่งยืน

ด้านนายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุว่า กรณีที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นได้ประกาศยกระดับการเตือนภัยไข้หวัดนกเป็นระดับสูงสุด หลังจากตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรงใน 2 เมืองในจังหวัดฮอกไกโดนั้น ส่งผลบวกกับบริษัทที่ดำเนินการส่งออกไก่ไปยังประเทศญี่ปุ่น

โดยบริษัทที่มีสัดส่วนการส่งออกไก่ไปยังประเทศญี่ปุ่นสูงสุดอันดับหนึ่ง ได้แก่ บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับประโยชน์เชิงบวกจากประเด็นดังกล่าวด้วย ดังนั้น จึงให้คำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ที่ราคาเป้าหมาย 17 บาทต่อหุ้น และหุ้นที่มีสัดส่วนการส่งออกไก่รองลงมา คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF จึงให้คำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ที่ราคาเป้าหมาย 27-28 บาทต่อหุ้น โดยหุ้นทั้งสองตัว (GFPT และ CPF) มีทิศทางและแนวโน้มผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น และยังมีปัจจัยบวกจากประเด็นข้างต้นด้วย ดังนั้น จึงแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ทั้ง GFPT และ CPF

Back to top button