รฟม.จ่อชง “คมนาคม” ต่ออายุรถไฟฟ้า 20 บ. “สายสีแดง-ม่วง” อีก 1 ปี เดดไลน์ 26 พ.ย.นี้

“รฟม. เตรียมชง “คมนาคม” เสนอ ครม. ต่ออายุโครงการรถไฟฟ้า 20 บาท สายสีแดง-ม่วง อีก 1 ปี ภายใน 26 พ.ย.นี้ ก่อนนโยบายครอบคลุมทุกเส้นทางเดือนก.ย. ปี 68


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (21 ต.ค.67) นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)  เปิดเผยถึง นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ซึ่งจะครบกำหนดการดำเนินการครบระยะเวลา 1 ปี  ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ว่า รฟม.ซึ่งกำกับดูแล รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) และสายสีแดง  ซึ่ง ขณะนี้ รฟม. อยู่ระหว่างรอกระบวนการทางกฎหมายจะเสนอต่อ กระทรวงคมนาคม ต่ออายุออกไปอีก 1 ปี ซึ่งคาดการณ์ว่ากระทรวงคมนาคมจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในวันที่ 26 พฤศจิกายน เพื่อให้ทันกับระยะเวลาที่มาตรการจะหมดอายุในวันที่ 30 พ.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ ครม. มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการหรือบอร์ด รฟม.  ให้แล้วเสร็จ จากนั้นมีการเรียกประชุมบอร์ดเพื่ออนุมัติการขยายอายุโครงการ ก่อนที่จะนำมติเสนอให้กระทรวงคมนาคม ขอความเห็นชอบจาก ครม. และจะนำกลับเข้ามาพิจารณาในคณะกรรมการอีกครั้ง เพื่อให้โครงการดำเนินได้ต่อเนื่อง

สำหรับหลังจากมีนโนบายรถไฟฟ้า 20 บาท รถไฟฟ้าสายมีม่วงมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นประมาณ 17-18% จากเดิมจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่เฉลี่ย 55,000 คนต่อวัน หรือ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 65,000 คนต่อวัน โดยมีสถิติผู้โดยสารสูงสุดอยู่ที่ 87,000 คน ขณะที่ในวันหยุดผู้โดยสารลดลงเหลือ 2-3 หมื่นคนต่อวัน

ส่วนของกำไรที่ รฟม.ได้รับจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงหลังมีนโยบาย 20 บาท ลดลงจากเดิมประมาณ 250 ล้านบาท หรือลดลง 20% จากเดิมที่มีกำไรอยู่ประมาณ 400 ล้านบาท แต่คาดการณ์ว่าในปีถัดไป ตัวเลขรายได้และกำไรจากการดำเนินการในจะเพิ่มขึ้นจากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 7% ต่อปี หรือคาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารจะอยู่ที่ประมาณ  70,000 คนต่อวัน ในปี 2568

ทั้งนี้หากจะให้กำไรของรถไฟฟ้าสายสีม่วงกลับขึ้นไปที่ใกล้เคียงกับระดับ 400 ล้านบาทต่อปี จะต้องมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 90,000 คนต่อวัน ซึ่งคาดการณ์ว่านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาททุกเส้นทางจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้ามากขึ้น จนทำให้ตัวเลขกำไรของรถไฟฟ้าสายสีม่วงกลับไปเท่าจำนวนกำไรเดิมได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้หากพูดถึงภาพรวมผลประกอบการรวมของ รฟม. มีกำไรรวมประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยเมื่อหักลบกำไรที่ลดลงจากการให้บริการ 20 บาท ในรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ลดลง 250 ล้านบาท ถือว่ายังมีกำไรคงเหลือประมาณ 800 ล้านบาท

Back to top button