จับตา! “ปราโบโว ซูเบียนโต” ปธน.คนใหม่ ดันอินโดฯ เป็น “พี่ใหญ่” อาเซียน?

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ มองเป็นไปได้เศรษฐกิจอินโดนีเซียพลิกโต 8% ตามเป้าผู้นำคนใหม่ แต่ความนิยมที่แท้จริงไม่ใช่ “ปราโบโว” ชี้ไทยควรตื่นตัวเข้าเกาะการขยายตัวนี้


กลายเป็นประเด็นที่ถูกจับตาจากทั่วโลก หลัง นายปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto) อดีตผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษ วัย 73 ปี เข้าพิธีรับตำแหน่ง ประธานาธิบดีคนที่ 8 ของอินโดนีเซีย อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 67 โดยมีผู้นำและตัวแทนผู้นำจากหลายประเทศไปร่วมพิธีฯ จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น รองประธานาธิบดีจีน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และนายกรัฐมนตรีติมอร์-เลสเต

ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ กับ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” โดยวิเคราะห์ทั้งมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ รวมถึงไทยควรปรับตัวอย่างไร หลังนายปราโบโว ขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ของอินโดนีเซีย ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

ดร.ปณิธาน ให้ความเห็นด้านมิติทางการเมืองว่า เสถียรภาพทางการเมืองของอินโดนีเซียนั้นเคยมีปัญหามานาน แต่หลังจากนายโจโค วิโดโด (Joko Widodo) หรือ โจโกวี (Jokowi) ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี อินโดนีเซียก็เปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยที่เริ่มตั้งมั่นได้มากขึ้น ซึ่งก็ทำให้เสถียรภาพในประเทศดี เศรษฐกิจเจริญเติบโต แต่การที่ ปราโบโว ซึ่งเคยแพ้เลือกตั้งให้กับโจโกวี 2 ครั้ง ชนะเลือกตั้งและขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ แสดงให้เห็นว่า ความนิยมจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน แต่อยู่ที่ โจโกวี พอมีการเจรจาเป็นพันธมิตรทางการเมือง

โดยเฉพาะการนำนาย กีบรัน รากาบูมิง รากา บุตรชายของโจโกวี ซึ่งอายุน้อยเพียง 37 ปี ขึ้นมาเป็นรองประธานาธิบดี จึงทำให้เกิดสูตรที่ลงตัว ระหว่างคู่แข่งขัน ซึ่งดีกว่าผู้แข่งขันลำดับอื่นที่มีฐานเสียงสนับสนุนน้อยกว่ามาก ทำให้เสถียรภาพเกิดความต่อเนื่อง โดยเฉพาะการหาเสียงของปราโบโว ที่จะเดินหน้าสานต่อนโยบายของโจโกวี ซึ่งเน้นด้านเศรษฐกิจ ตลาดภายในประเทศ การสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ นโยบายที่ได้รับความนิยมเหล่านี้ในแง่เสถียรภาพคงจะดีขึ้น

แต่ ดร.ปณิธาน ก็ประเมินว่า เสถียรภาพนี้อาจอยู่ได้ไม่นานนัก เพราะตัวของปราโบโว มีปัญหามาตั้งแต่แรก เช่น ถูกไล่ออกจากกองทัพ แต่ไม่มีการสืบสวนอย่างจริงจัง จากกรณีที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกทั้งมาจากแวดวงของคนที่มีอำนาจ มั่งคั่ง จะไม่ได้สัมผัสกับคนทั่วไปอย่างโจโกวี เมื่อดำรงตำแหน่งนาน ๆ ไป ทั้งวิธีคิด ลักษณะครอบครัว รวมทั้งผลประโยชน์ของพวกพ้องปัญหาอาจจะกลับเข้ามา นอกจากนี้ นโยบายที่จะพยายามลงทุนในโครงสร้างรถไฟความเร็วสูง จากบันดุงไปสุราบายา อาจจะเกิดปัญหา เช่นทุจริตคอร์รัปชัน, ผลกระทบกับจีน สหรัฐฯ ที่จะตามมาอีก ซึ่งจะเป็นความซับซ้อนเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตามความสำคัญและน้ำหนักของอินโดนีเซีย ก็ยังคงอยู่ ในฐานะประเทศมุสลิมที่เป็นประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก มีประชากรมากกว่า 280 ล้านคน ทำให้หลายประเทศให้ความสนใจ เห็นได้จากพิธีสาบานตนฯ ของปราโบโว ผู้นำของอาเซียนและอีกหลายประเทศไปร่วมเฉลิมฉลอง สะท้อนถึงความสำคัญของอินโดนีเซียที่ต้องมีการค้าขายและดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ต่อกัน

ดร.ปณิธาน กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาอินโดนีเซียซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการอาเซียน พยายามมีบทบาทชี้นำแก้ปัญหาของประเทศต่าง ๆ เช่นปัญหาในเมียนมาร์ แต่ก็ล้มเหลวและสร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับหลายประเทศ ดังนั้นต้องติดตามว่า อินโดเซียจะกลับมาเป็นผู้นำของอาเซียนได้หรือไม่ ขณะที่ปี 2568 มาเลเซียจะเป็นบทบาทประธานอาเซียน กำลังแข่งขันเพื่อยกระดับสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ อันวาร์ อิบราฮิม เป็นประธานาธิบดี เป็นช่วงชิงบทบาทในการคลี่คลายปัญหาของประเทศในอาเซียน

เป็นไปได้ เป้า GDP โตเป็น 8%

ผู้นำคนใหม่ของอินโดนีเซีย ตั้งเป้าหมายว่าจะเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้ถึง 8 % จาก 5% พร้อมสัญญาว่าจะทำให้อินโดนีเซีย พึ่งพาตนเองได้ในการผลิต สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น และส่งสัญญาณว่าจะมีบทบาทที่แข็งขันมากขึ้นในเวทีโลก

ดร.ปณิธาน มองว่า การทำให้ GDP โตขึ้นตามเป้าดังกล่าวนั้นยังเป็นไปได้ เพราะว่าชนชั้นกลางของอินโดนีเซียมีการขยายตัว บริโภคสูง สามารถใช้ฐานเศรษฐกิจภายในประเทศในการขยายตัวได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจจะไม่ได้รวดเร็วเหมือนห้วงก่อน และเชื่อว่าจะมีการแสวงหาความร่วมมือใหม่ ๆ กับ BRICS หรือกลุ่มประเทศกําลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (Emerging Market) ประกอบด้วยประเทศบราซิล (Brazil), รัสเซีย (Russia), อินเดีย (India) และจีน (China)

รวมทั้งอีกหลายประเทศในตะวันออกกลาง อย่างการเข้าไปมีบทบาทในการฟื้นฟูฉนวนกาซา ก็จะทำให้อินโดนีเซียขยายฐานเศรษฐกิจได้ และมองว่าจะตอบโจทย์ที่ปราโบโวสัญญาไว้กับประชาชน ซึ่งถือว่าอินโดนีเซียยังมีโอกาสดีถ้าเทียบกับไทยซึ่งค่อยข้างตึงตัว และฐานของชนชั้นกลางในการบริโภคขณะนี้ก็หดตัวลง แต่ทั้งนี้ก็เชื่อว่าจะขยายตัวได้ไม่มาก

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ กล่าวว่า ประเทศไทยโดยรัฐบาลใช้นโยบาย non conflict ไม่เคยเห็นใครเป็นคู่แข่ง เห็นทุกคนเป็นเพื่อน ถ้าคิดเช่นนั้นก็ไม่ต้องกลัว แต่จริง ๆ ควรตื่นตัวและตระหนักว่า เราควรจะต้องออกจากเขตปลอดภัยของเรา เข้าสู่การแข่งขันกับประเทศเหล่านี้อย่างเป็นมิตร โดยแข่งขันกันอย่างเข้มข้นขึ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งเศรษฐกิจที่โต ไม่เช่นนั้นเราก็จะติด “กับดัก” รายได้ปานกลาง เศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างนี้ไปอีกยาวนาน การกระตุ้นตลาดผู้บริโภคในประเทศอย่างเดียวไม่พอ หรือว่าการใช้นโยบายแจก ลด แถม เพื่อชะลอหรือประคองค่าครองชีพมันก็ไม่ใช่

แนะไทยตื่นตัวเกาะเศรษฐกิจอินโดฯ ขยายตัว

การตื่นตัวเพื่อที่จะแข่งขันกับอินโดนีเซียในหลายตลาดจะต้องทำให้มากขึ้น อย่างตลาดรถยนต์เราก็เสียความเป็นผู้นำไปแล้วให้กับอินโดนีเซีย ตลาดการท่องเที่ยวอินโดนีเซียก็กำลังเร่งวางโครงสร้างใหม่ ๆ ตลาดก่อสร้าง ตลาดโครงสร้างพื้นฐานเขาก็กำลังขยายตัว และตลาดส่งออกใหม่ ๆ ที่เขาไปเชื่อมโยงกับอีกหลายกลุ่มประเทศ อย่างที่เราก็พยายามทำ เช่น  OECD, BRICS แต่เขาจะมีความได้เปรียบในเรื่องขนาดของ GDP ประชากร และคนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อ ซึ่งเราควรหาทางไปเกาะการขยายตัวในอินโดนีเซียอย่างเช่นที่เราทำกับเวียดนามจะดีกว่าการจะไปแข่งเป็นคู่แข่งอย่างเดียว โดยภาคเอกชนของไทยก็ปรับตัวได้โดยเข้าไปลงทุนเพื่อเกาะการขยายตัวของเวียดนามไป เราก็จะได้ประโยชน์ทางอ้อม ก็จะดีกว่าการไม่ทำอะไร หรือการเร่งปรับฐานแล้วก็ยังตามไม่ทันแบบนี้อยู่

Back to top button