NER ยังแกร่งทุกมิติ!

ถ้าไปดูปัจจัยพื้นฐานของแต่ละบริษัทยังมีแนวโน้มการเติบโตแข็งแกร่ง โดยเฉพาะ NER ซึ่งทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสม


คุณค่าบริษัท

จากกรณีที่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission : EC) เสนอขยายเวลาในการบังคับใช้กฎหมายปราศจากการทำลายป่า (Deforestation Regulation : EUDR) ไปอีก 12 เดือน จากแผนเดิมที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 กลายเป็นเซนติเมนต์เชิงลบต่อหุ้นยางพารา

แต่ถ้าไปดูปัจจัยพื้นฐานของแต่ละบริษัทยังมีแนวโน้มการเติบโตแข็งแกร่ง โดยเฉพาะบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ซึ่งทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสม เพื่อจำหน่ายไปยังผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และกลุ่มผู้ค้าคนกลาง

โดย NER มีปัจจัยสนับสนุนจาก 1)ราคาขายยางพารายังยืนในระดับสูงต่อเนื่อง มีการคาดการณ์ผลผลิตที่ลดลงทำให้ราคายางพุ่งขึ้นมากกว่า 50% แล้วในปีนี้ และทำให้ยางเป็นหนึ่งในสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวได้ดีที่สุดในปี 2567 โดยสัญญายางมาตรฐานในตลาดโอซากาทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 ปีที่ 419.7 เยน (2.81 ดอลลาร์ฯ) เมื่อสัปดาห์ก่อน

2)รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ซึ่งคาดจะส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มมากขึ้น

และ 3)มีคำสั่งซื้อ (Order) ล่วงหน้าครอบคลุมทั้งปี 2567 แล้ว โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัทได้มีการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง EUDR ให้กับลูกค้าสัญชาติจีนไปแล้วประมาณ 3,000 ตัน และอยู่ระหว่างการปิดดีลกับคู่ค้าสัญชาติเกาหลี คาดว่าจะเริ่มส่งออกในไตรมาส 4/2567 ทั้งนี้คาดว่าระยะแรกภายในปี 2567 น่าจะส่งออกยาง EUDR ได้ประมาณ 45,000 ตัน และจะเติบโตมากขึ้นในปี 2568

ขณะที่ นักวิเคราะห์ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อ NER โดย บล.เอเอสแอล ระบุว่า ผู้บริหารปรับเพิ่มรายได้ทั้งปีมาอยู่ที่ 2.85 หมื่นล้านบาท แต่มีการปรับปริมาณการขายลงเหลือ 4.4 แสนตัน จากช่วงต้นปีที่ตั้งไว้ 5.1 แสนตัน และมีการเลื่อนสำหรับแผนการสร้างโรงงานแห่งที่ 3 ออกไปไม่มีกำหนด ขณะที่มีแผนการขายยาง EUDR ปีนี้ 4-5 พันตัน โดยจะเริ่มส่งล็อตแรก 1-2 พันตัน ก.ย.นี้

ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยมีการปรับประมาณการใหม่สาหรับทั้งปี เดิมคาดปริมาณขายไว้ที่ 4.5 แสนตัน ที่รายได้ 3.03 หมื่นล้านบาท จึงมีการปรับปริมาณขายลงเล็กน้อยมาเป็นเป้าเดียวกันกับผู้บริหารที่ 4.4 แสนตัน รายได้ที่ 2.81 หมื่นล้านบาท แต่มีการปรับอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ลงเล็กน้อยจาก 11.9% มาอยู่ที่ 11.7% และปรับสัดส่วนรายจ่ายต่อรายได้ลงจาก 3.3% มาอยู่ที่ 2.5% จากแนวโน้มสัดส่วนการขายสินค้าในประเทศที่สูงขึ้น รวมถึงภาษีจ่ายลดลงจากการได้ BOI

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการปรับประมาณการรายได้ค่าใช้จ่าย แต่ยังคงกำไรสุทธิทั้งปีที่ 1,922 ล้านบาท ทำให้ยังคงมองว่าในช่วงครึ่งปีหลัง ผลประกอบการจะยังเติบโตได้จากครึ่งปีแรก เนื่องจากระดับราคาขายที่ยังคงอยู่ในระดับสูงจากผลของเอลนีโญในช่วงต้นปี ด้านต้นทุนขายเริ่มปรับตัวขึ้นมาด้วย โดยกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรกคิดเป็นสัดส่วน 48.5% ของประมาณการกำไรทั้งปีแล้ว

สอดคล้องกับมุมมองของ บล.หยวนต้า ระบุว่า กำไรปกติในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 968 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 47% ของประมาณการกำไรปกติทั้งปี ขณะที่คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งปีแรกทั้งปริมาณขายและราคาขาย โดยคาดว่ากำไรปกติปี 2567 อาจเท่ากับหรือดีกว่าประมาณการ จึงยังคงประมาณการกำไรปกติปี 2567 ไว้ที่ 2,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.9% จากปีก่อน คาด EPS ที่ 0.95 บาท เติบโต 11.3% (เนื่องจากใส่ Fully dilute จาก NER-W2)

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) ปัจจุบันราคาหุ้น NER ซื้อขายกันที่ P/E ระดับ 5.47 เท่า เทียบกับ P/E ตลาดโดยรวมที่ระดับ 18.64 เท่า ถือว่าราคาซื้อขายต่ำกว่าตลาด อย่างไรก็ตามถ้าดู P/BV ที่ระดับ 1.19 เท่า ก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาดที่ปัจจุบันซื้อขาย P/BV เฉลี่ยที่ 1.41 เท่า โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 6.28 บาท จากราคาต่ำสุด 5.50 บาท และราคาสูงสุด 8.30 บาท

Back to top button