3 แบงก์ใหญ่อัดงบ 2 พันล้าน ปล่อยสินเชื่อ Green Loan “เอไอเอส” ยกระดับ 5G

ADVANC เซ็น 3 แบงก์ใหญ่ รับสินเชื่อ Green Loan วงเงิน2 พันล้านบาท ยกระดับ 5G สู่ Green Network


บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC หรือ AIS ลงนามสินเชื่อสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Loan) ครั้งแรกในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย มูลค่ารวม 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 7 ปี จาก ธนาคารพันธมิตร ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK และ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เพื่อลงทุนยกระดับขีดความสามารถของโครงสร้างพื้นฐาน 5G สู่โครงข่ายสีเขียว Green Network โดยใช้แหล่งพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ควบคู่กับแหล่งพลังงานหลักที่สถานีฐานทั่วประเทศในการดำเนินงานและส่งมอบประสบการณ์ดิจิทัลให้กับลูกค้าและประเทศไทย รวมถึงความร่วมมือครั้งนี้ยังเป็นการผสานกลยุทธ์ด้านการเงินในการขับเคลื่อนเป้าหมายการดำเนินธุรกิจของ AIS ที่จะสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน

นายมนตรี คงเครือพันธุ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน ADVANC กล่าวว่า AIS มีความมุ่งมั่นและขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรโทรคมนาคมเทคโนโลยีอัจฉริยะ หรือ Cognitive Tech-Co ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด Sustainable Nation ที่นำขีดความสามารถของดิจิทัลเทคโนโลยีมาสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศบนเศรษฐกิจแบบร่วมกัน หรือ ECOSYSTEM ECONOMY ทั้ง ผู้คน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในโลกดิจิทัล ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเรามีความแข็งแกร่งในทุกมิติโดยเฉพาะสถานะทางการเงินจากผลการดำเนินงานและการลงทุนอย่างต่อเนื่องจนได้รับความเชื่อมั่นและการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ Green Loan จากสถาบันทางการเงินทั้ง 3 แห่ง

“การได้รับ Green Loan ในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของ AIS ที่จะขับเคลื่อนธุรกิจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผ่านการจัดหาเงินทุนอย่างยั่งยืนตาม AIS Sustainable Finance Framework ที่ได้รับการสอบทานจากผู้ชำนาญอิสระ บริษัท ดีเอ็นวี (ประเทศไทย) จำกัด โดยเราจะนำเงินกู้มาช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและโครงข่าย 5G และยกระดับสู่การเป็น Green Network หรือ โครงข่ายสีเขียวที่ยืดหยัดเพื่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่สถานีฐาน ศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์และชุมสายทั่วประเทศ เพื่อผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ที่จะมาใช้ควบคู่กับพลังงานหลักในการดำเนินงานเพื่อส่งมอบประสบการณ์ดิจิทัลให้กับลูกค้าและคนไทย” ายมนตรี กล่าว

นายประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ และวาณิชธนกิจ BAY กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้ทั้งกรุงศรี และ AIS บรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป โดยธนาคารมีความยินดีที่ได้รับโอกาสในการทำงานอย่างใกล้ชิดกับทั้งบริษัท AIS และ บริษัท ดีเอ็นวี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้ AIS Sustainable Finance Framework ครอบคลุมโครงการเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจโทรคมนาคมที่หลากหลาย และเป็นไปตามมาตรฐานสากล

นายวัลลภ ว่องจิตต์วุฒิไกร รองผู้จัดการใหญ่ KBANK กล่าวว่า การสนับสนุนวงเงินสินเชื่อเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับ AIS ซึ่งเป็นผู้นำด้านโทรคมนาคมของไทยในครั้งนี้ ธนาคารมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด Sustainable Nation ของ AIS และร่วมยกระดับขีดความสามารถของโครงสร้างพื้นฐาน 5G สู่โครงข่ายสีเขียว Green Network ด้วยการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งเป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย และเป็นก้าวสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การโทรคมนาคมที่มีความยั่งยืนได้อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065

นางศรัณยา อัสสมงคล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ KTB กล่าวว่า การร่วมสนับสนุนสินเชื่อ Green  Loan ให้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (AWN) ในกลุ่ม AIS  เพื่อใช้ในการลงทุนติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในสถานีฐาน รวมถึงโครงการ ESG อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจโทรคมนาคมของ AWN

ทั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของกรุงไทยและ AWN ในการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการส่งเสริมการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนการดำเนินงาน เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศไทยไปสู่โครงข่ายสีเขียว (Green Network) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดต้นทุนในการดำเนินงาน

อีกทั้ง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความสามารถของโครงสร้างพื้นฐาน 5G สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Economy) ตลอดจน ขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

Back to top button