การเงินว่าด้วย 4Gพลวัต 2016
ความยากลำบากและความเปราะบางของบริษัทโทรคมนาคมในการหาแหล่งเงินทุนเพื่อทำธุรกิจ 4G ของ 2 บริษัทที่ชนะได้รับใบอนุญาตย่านความถี่ 900MHz อย่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น และ จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล สะท้อนเหตุผลถึงความไม่พร้อมของภาคธุรกิจได้ดีว่าเมื่อมีความจำเป็นต้องระดมทุนจำนวนนับ 1 แสนล้านบาทขึ้นไปนั้น การหาแหล่งเงินทุนสนับสนุน จะเป็นปัญหาคอขวดที่ขัดขวางเทคโนโลยีขึ้นมาได้
วิษณุ โชลิตกุล
ความยากลำบากและความเปราะบางของบริษัทโทรคมนาคมในการหาแหล่งเงินทุนเพื่อทำธุรกิจ 4G ของ 2 บริษัทที่ชนะได้รับใบอนุญาตย่านความถี่ 900MHz อย่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น และ จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล สะท้อนเหตุผลถึงความไม่พร้อมของภาคธุรกิจได้ดีว่าเมื่อมีความจำเป็นต้องระดมทุนจำนวนนับ 1 แสนล้านบาทขึ้นไปนั้น การหาแหล่งเงินทุนสนับสนุน จะเป็นปัญหาคอขวดที่ขัดขวางเทคโนโลยีขึ้นมาได้
เหตุผลก็เพราะ ธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้นั้น ต้องมีความมั่นใจภายใต้กฎความปลอดภัยของสินเชื่อตามหลักการบาเซิล 3 อันเข้มงวดอย่างยิ่ง
เงื่อนไขที่บริษัทที่ชนะการประมูลต้องวางแบงก์การันตีเต็มจำนวน และการกำหนดเวลาสร้างเครือข่ายให้บริการ รวมทั้งการแข่งขันที่เข้มข้นกว่าในอดีต ทำให้การระดมทุนในเวลาจำกัด เป็นเงื่อนไขที่บังคับให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเจอปัญหา “ทุกขลาภ”ขึ้นมา
ในเชิงเทคโนโลยี ผู้ประกอบการไทยนั้นมีความพร้อมสำหรับการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอลเพื่อไม่ให้หลงยุคและไม่ตกการแข่งขันยุค 4G+LTE เข้ามาใช้บริการ ว่าสามารถสนองตอบต่อการเรียกร้องของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ โดยที่การสื่อสารผ่าน non-voice จะเป็นการสื่อสารหลัก โดยมี voice เป็นช่องทางรอง
ความโดดเด่นของเทคโนโลยี 4G+LTE ซึ่งมีความเร็วแปรผันกับปริมาณการใช้งานของผู้ใช้บริการนั้น สามารถเปรียบเทียบได้ว่าเป็นซุปเปอร์ไฮเวย์ ในขณะที่ถนนสายรองคือ 3G+LTE นับวันจะแออัดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทุกขณะ
ปัญหาและอุปสรรคที่แท้จริงของ 4G+LTE ในทางปฏิบัติ จึงตกมาที่ต้นทุนของการทำธุรกรรมทางการเงินนั้น เริ่มต้นเป็นวงเงินก้อนใหญ่ซึ่งลำพังไม่มีบริษัทที่เป็นผู้ประกอบการรายใดจะมีเงินสดรองรับมากเพียงพอ
ประเด็นเรื่องการก่อหนี้เพื่อระดมทุน แล้วตามมาด้วยการพึ่งพาตลาดทุนเพื่อระดมทุนลดภาระหนี้ในภายหลังด้วยตราสารหนี้และตราสารทุน จึงเป็นความซับซ้อนที่วิศวกรรมการเงินทั้งหลายจะมีบทบาทสำคัญ
ความจำเป็นต้องเพิ่มทุนเพื่อหาเงินก้อน 6 หมื่นล้านบาทของค่ายทรูฯ จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาด ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะแรงบีบของธนาคารเจ้าหนี้ หรือ เพราะเหตุอื่นใด ก็สะท้อนว่า บริษัทมีขีดจำกัดในเรื่องเงินทุนที่ต้องหาทางออกในระยะเวลาอันสั้น ไม่ใช่เกิดจาก “ฤกษ์ยาม”ตามที่กล่าวอ้างมาแต่แรก
ส่วนกรณีการระดมก่อหนี้จำนวนมากกว่า 1 แสนล้านของจัสมินฯ ก็เช่นเดียวกัน จนกระทั่งทุกวันนี้ ยังถือเป็นเรื่องเปราะบางสำหรับนายธนาคารพาณิชย์ เพราะด้านหนึ่งก็เป็นความเสี่ยงที่ต้องแบกรับ อีกด้านหนึ่งก็เป็นผลประโยชน์จากรายได้ในการปล่อยกู้ ที่ต่อสู้กันอยู่ว่า จะพอมีข้อยุติที่เหมาะสมก่อนที่จะออกแบงก์การันตีให้บริษัทดังกล่าว
ความยากลำบากเช่นนี้ อาจจะมองได้หลายมุม คือ ด้านหนึ่งเป็นความเขี้ยวของธนาคารที่จะเรียกดอกเบี้ยแพงๆจากผู้ประกอบการลูกหนี้ แต่อีกมุมหนึ่งก็คือเรื่องความปลอดภัยของสถาบันการเงินที่ปล่อยเงินกู้ก้อนมหึมาด้วยเงินออมของประชาชนผู้มีเงินฝาก
ในขณะเดียวกัน การประเมินมูลค่าก่อนหน้าการกู้และหลังกู้ของบริษัทลูกหนี้ก็เป็นภาระของผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องใช้ความรอบคอบอย่างเต็มที่ เพราะธุรกิจนี้มีเดิมพันค่อนข้างสูงกว่าเดิมจากการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น แม้ว่าภาพโดยรวมของธุรกิจจะมีการเติบโตที่โดดเด่น แต่ก็อาจจะมีความสุ่มเสี่ยงปะปนไม่น้อย
หากมองในแง่บวก พ้นจากปัญหาคอขวดเฉพาะหน้าในเรื่องการกู้เงินมารับใบอนุญาต 4G นี้แล้ว คาดว่า จากนี้ไป จะถึงช่วงเวลาของการเปิดเข้าสู่โลกดิจิตอลที่มีอนาคตของธุรกิจใหญ่โตกว่าเดิมอีกมาก
โดยพื้นฐาน การแข่งขันของธุรกิจ 4G จะเป็นการเปิดทางให้กับธุรกิจใหม่ที่ใหญ่โตมหาศาล นั่นคือ ธุรกรรมว่าด้วยกรรมวิธีจัดเก็บข้อมูลที่ดีที่เรียกว่า big data ที่จะต้องมีโปรแกรมที่มีขีดความสามารถในการจัดเก็บวิเคราะห์ และประมวลผลอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้โปรแกรมที่คิดค้นขึ้นเพื่อสนองความต้องการใช้งานอย่างเต็มความสามารถ ซึ่งภาครัฐสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องรอให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ทำ โดยเฉพาะโปรแกรม หรือ Application ที่เรียกว่า cloud computing หรือระบบประมวลแบบกลุ่มเมฆ
การที่ทิศทางสื่อสารร่วมสมัยผ่านเทคโนโลยีโทรคมนาคมดิจิตอล มีความชัดเจนว่า การใช้ข้อมูลไม่ใช่เสียงมีความสำคัญอย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ต้องการระบบสำรองข้อมูล ซึ่งเป็นเทคโนโลยีผ่านอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า Cloud Computing ทำให้ระบบสัญญาณจราจรบนเครือข่ายโทรคมนาคมเรียกร้องให้มีคุณภาพและความเร็วมากขึ้น ทั้งในแง่ของการรับและส่งสัญญาณ
ปัจจุบัน จำนวนผู้ใช้ Cloud Computing ในระดับโลก เติบโตปีละมากกว่า 100% ซึ่งหากอัตราการเพิ่มขึ้นเป็นเช่นนี้ เท่ากับภายใน 5 ปีข้างหน้า จะมีความต้องการใช้ 32 เท่าของปัจจุบัน (2 ยกกำลัง 5) และ 1,000 เท่า( 2 ยกกำลัง 24) ใน 10 ปีข้างหน้า
บทเรียนจากการทำธุรกิจ 4G ในต่างประเทศหลายแห่ง สามารถบอกแนวโน้มของธุรกิจโทรคมนาคมไทยในระยะต่อไปว่า ไม่ว่าจะเผชิญกับปัญหาทางเทคนิคในเรื่องภาระทางการเงิน โดยเฉพาะความแข็งแกร่งของผู้ได้ใบอนุญาตให้เข้าสู่การแข่งขันที่จะมีลักษณะ “ถอยไม่ได้”อย่างแท้จริง
ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องการหาแหล่งเงินกู้ และแหล่งทุนทางการเงินของบริษัทโทรคมนาคมที่กำลังเข้าไคลยามนี้ เป็นเพียงแค่สายลมที่ผ่านเลยเท่านั้นเอง
คนที่มีความพร้อมต่ำ วางแผนไม่ดี ย่อมมีต้นทุนการเงินสูงเป็นธรรมดา ตามกฎของทุนนิยมโลก