“พาณิชย์” ประเมินนโยบาย “แฮร์ริส-ทรัมป์” ตั้งรับผลกระทบ “สงครามการค้า”
สนค. กระทรวงพาณิชย์ ประเมิน เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ว่าใครจะชนะ ไทยต้องเตรียมรับมือผลกระทบการค้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (30 ต.ค. 67) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2567 จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย จะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจตามมาจากผลการเลือกตั้งและนโยบายของทั้งสองฝ่าย
โดยทั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ และ กมลา แฮร์ริส ต่างมีแนวนโยบายต่อการค้าระหว่างประเทศที่ใกล้เคียงกัน คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จะยังคงดำเนินต่อไป และอาจทวีความรุนแรงขึ้น โดยจะเกิดการแข่งขันทั้งในด้านเศรษฐกิจ การทหาร และเทคโนโลยี
สิ่งที่ต่างกันคือ กรณี แฮร์ริส ชนะการเลือกตั้ง คาดว่าการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศ จะเป็นไปในทิศทางเดิม อีกทั้งคาดว่าจะสนับสนุนการค้าเสรีมากขึ้น โดยอาจผลักดันให้สหรัฐฯ ดำเนินการเจรจาในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework : IPEF) เสาที่ 1 ให้สำเร็จ รวมทั้งอาจกลับเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยพิจารณาสมัครเข้าเป็นสมาชิก CPTPP
แต่ในกรณี หาก ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง นโยบาย “อเมริกามาก่อน (America First)” จะกลับมา มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ออกมาตรการจูงใจดึงดูดการลงทุนกลับสู่สหรัฐฯ โดยการค้าระหว่างประเทศ คาดว่า ทรัมป์จะคงยังยึดมั่นนโยบายการค้าแบบปกป้อง (Protectionism) และการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ (Reshoring) และจะให้ความสนใจประเทศอื่นน้อยลง ปรับแก้กฎหมายและกฎระเบียบให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศ สนับสนุนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และยกเลิกเครดิตภาษีคาร์บอน
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง กระทบต่อค่าเงินทั่วโลก และจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน และคาดว่า ทรัมป์จะใช้มาตรการปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯ ที่เข้มข้นขึ้น รวมถึงสงครามการค้ากับจีน จะทวีความรุนแรงมากขึ้นอีก เช่น จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกชนิดจากจีน 60% และจากประเทศอื่น 10%
สนค. ประเมินไทยอาจจะได้รับประโยชน์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทั้งในด้านการย้ายฐานการผลิตของสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและเซมิคอนดักเตอร์ และการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ทดแทนสินค้าจีน ขณะที่หากสินค้าจีนถูกจำกัดการส่งออกไปสหรัฐฯ ไทยควรเตรียมมาตรการรับมือกับการหลั่งไหลของสินค้าจากจีน รวมถึงพิจารณากลยุทธ์ดึงดูดการลงทุนจากการย้ายฐานผลิตของสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทยในภูมิภาค
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวอีกว่า ประเทศไทยควรดำเนินการในหลายด้าน เริ่มจากภาคธุรกิจที่ควรกระจายความเสี่ยง โดยขยายตลาดส่งออกไปยังภูมิภาคอื่น ๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ พร้อมพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ควรติดตามนโยบายการค้าและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับตัวได้ทันท่วงที และพิจารณาการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดและพลังงานทางเลือก เพื่อรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานในอนาคต