SCB EIC ชี้อุตสาหกรรมอิเล็กฯปี 68 โต 2.8% รับดีมานด์สินค้ากลุ่มชิ้นส่วน-ไฟฟ้าขาขึ้น

SCB EIC มองอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปี 68 โตต่อเนื่อง 2.8% รับดีมานด์สินค้ากลุ่มชิ้นส่วน-ไฟฟ้าวัฏจักรขาขึ้น ตามคอมพิวเตอร์กับฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ฟื้นตัว ส่วนปีนี้คาดขยายตัว 2.4%


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกที่ขยายตัวได้ดี แต่ยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเปราะบางและเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง

โดยในปี 2567 คาดว่ามูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นจากปี 2566 โดยคาดว่า จะขยายตัว 2.4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับปัจจัยหนุนจากวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าคอมพิวเตอร์และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์

โดยมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ 2.8% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มไฟฟ้ากำลัง (Power electronics) ในตลาดโลกที่ขยายตัวต่อเนื่อง และเป็นไปตามวัฏจักรขาขึ้นของคอมพิวเตอร์กับฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ฟื้นตัว ขณะที่ความต้องการในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าชะลอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเปราะบางและเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคบางส่วน

สำหรับกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี คือกลุ่ม Power electronics ส่วนกลุ่ม Consumer electronics ยังคงขยายตัวตามวัฏจักรขาขึ้น ขณะที่กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ : การส่งออกในปี 2568 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 3.0%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกที่กลับมาฟื้นตัว โดยเฉพาะในกลุ่มชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยี AI

-อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ : การส่งออกในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับทิศทางตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์โลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องจากปีนี้

-อุตสาหกรรม Consumer electronics : การส่งออกในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวอยู่ที่ 2.7% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับวัฏจักรขาขึ้นและความต้องการซื้อคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบที่ขยายตัว แต่ยังคงต้องจับตาความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

-อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า: การส่งออกในปี 2568 มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวอย่างช้า ๆ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยคาดว่าภาพรวมการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าจะขยายตัวอยู่ที่ 1.2%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าในกลุ่มเครื่องปรับอากาศและเครื่องซักผ้าไปยังสหรัฐฯ ที่ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง

-อุตสาหกรรมไฟฟ้ากำลัง หรือ Power electronics : การส่งออกในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ราว 4.3%  เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้จะขยายตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เช่น หม้อแปลงไฟฟ้า แผงสวิตช์ และสายไฟฟ้า/สายเคเบิล เป็นต้น

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังมีประเด็นที่ต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงของ Global value chain ครั้งใหม่ จากความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลให้เกิดกระแสการย้ายฐานการผลิต และแนวโน้มการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ตลอดจนเทรนด์รักษ์โลก

การเปลี่ยนแปลงของ Global value chain ครั้งใหม่ จากประเด็นความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วเศรษฐกิจและนำมาสู่กระแสการย้ายฐานการผลิต รวมไปถึงแรงกดดันจาก Mega trend ต่าง ๆ เช่น เทรนด์รักษ์โลก การเติบโตของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และกลุ่ม Data center แนวโน้มความต้องการยานยนต์ไฟฟ้า ที่จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของ Global value chainครั้งใหม่ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลก

ส่วนแนวโน้มการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับการเติบโตของสินค้าไฮเทคมากขึ้น

นอกจากนี้เทรนด์รักษ์โลกกับการบริหารธุรกิจให้เติบโตแบบยั่งยืน ผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญและใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีการปรับตัวและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงกระบวนการผลิต การเลือกใช้วัสดุรีไซเคิล รวมไปถึงการจัดทำแผนการพัฒนาองค์กรแบบยั่งยืน

โดย SCB EIC มองว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีการปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ ดังนี้

-การพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวมากขึ้น ตั้งแต่การจัดหาวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมลดการใช้สารเคมีอันตราย ไปจนถึงการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสม

-การส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานที่มีทักษะสูง มีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรในสถาบันการศึกษาที่สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น เช่น วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ นักวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เป็นต้น

-การส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนาที่มุ่งเน้นการสร้างห่วงโซ่อุปทานการผลิตระดับต้นน้ำมากขึ้น ภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกันส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปสู่การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ระดับต้นน้ำที่มีมูลค่าเพิ่ม (High value-added) มากขึ้น

Back to top button