4 สมมติฐาน..เลือกตั้งสหรัฐ
ช่วงค่ำวันนี้ (6 พ.ย.) น่าจะได้เห็นผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่พอจะสรุปเบื้องต้นได้ว่า “กมลา แฮร์ริส” จะก้าวขึ้นสู่ “ประธานาธิบดีหญิง” คนแรกของสหรัฐฯได้หรือไม่..!? หรือ “โดนัลด์ ทรัมป์” จะคัมแบ็กเก้าอี้ประธานาธิบดีหรือไม่.!?
ช่วงค่ำวันนี้ (6 พ.ย.) น่าจะได้เห็นผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่พอจะสรุปเบื้องต้นได้ว่า “กมลา แฮร์ริส” รองประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตจะก้าวขึ้นสู่ “ประธานาธิบดีหญิง” คนแรกของสหรัฐฯ ได้หรือไม่..!? หรือ “โดนัลด์ ทรัมป์” จากพรรครีพับลิกัน จะคัมแบ็ก (Comeback) เก้าอี้ประธานาธิบดีหรือไม่.!?
บรรดานักวิเคราะห์ต่าง ๆ มีการจำลองผลการเลือกตั้ง 4 สมมติฐาน..
1)กรณี Red sweep คือหาก “โดนัลด์ ทรัมป์” ชนะเลือกตั้ง และได้เสียงข้างมากทั้งสภาบนและสภาล่าง จะเป็นลบต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยง จากแนวโน้มความขัดแย้งทางการค้าโลกเพิ่มสูงขึ้น (Trade war theme)
2)กรณีหาก “โดนัลด์ ทรัมป์” ชนะเลือกตั้ง และได้เสียงข้างมากในสภาบนหรือสภาล่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นบวกต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยง จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดภาษี และเพิ่มการผลิตการจ้างงานในประเทศ (Stimulus theme)
3)กรณี Blue sweep คือหาก “กมลา แฮร์ริส” ชนะเลือกตั้ง และได้เสียงข้างมากทั้งสภาบนและสภาล่าง จะเป็นลบต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยง จากแนวโน้มความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น หรือความเสี่ยงเรื่องสงครามตะวันออกกลางและยุโรปเพิ่มขึ้น (Real war)
4)กรณีหาก “กมลา แฮร์ริส” ชนะเลือกตั้ง และได้เสียงข้างมากในสภาบนหรือสภาล่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นบวกเล็กน้อยต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยง จากความต่อเนื่องของนโยบายและการบริหาร (Continuity theme)
กลับมาดู “เงื่อนไขสำคัญ” ที่จะเป็นตัวกำหนดผลการเลือกตั้งครั้งนี้
นั่นคือ..นโยบายหาเสียงของทั้ง “กมลา แฮร์ริส” และ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ดูแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
เริ่มจาก “นโยบายอัตราเงินเฟ้อ” ทางฝั่งของ “แฮร์ริส” ระบุว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกคือการพยายามลดค่าอาหารและที่อยู่อาศัยสำหรับครอบครัวที่ทำงาน โดยห้ามการขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ช่วยเหลือผู้ซื้อบ้านครั้งแรก เพิ่มอุปทานที่อยู่อาศัยและปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ
“อัตราเงินเฟ้อ” ปรับสูงขึ้น ภายใต้การนำของนายไบเดน เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตกหลายประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาอุปทานหลังโควิดและสงครามยูเครน และอัตราเงินเฟ้อก็ลดลงนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ขณะที่ “ทรัมป์” สัญญาว่าจะยุติภาวะเงินเฟ้อและทำให้ราคาสินค้าในอเมริกาถูกลงอีกครั้ง และการขุดเจาะน้ำมันมากขึ้นจะช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานและลดอัตราดอกเบี้ยลง พร้อมเนรเทศผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารจะช่วยลดแรงกดดันต่อที่อยู่อาศัย และจะจัดเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้นและนั่นอาจทำให้ราคาสูงขึ้น
สำหรับ “นโยบายภาษี” ฝั่ง “แฮร์ริส” ต้องการเพิ่มภาษีธุรกิจขนาดใหญ่และชาวอเมริกันที่มีรายได้ 400,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และปรับขึ้นภาษีนิติบุคคล (เน้นธุรกิจขนาดใหญ่)
ขณะที่ “ทรัมป์” เสนอ “ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล” และอีกหลายประการ
ส่วน “นโยบายการค้าระหว่างประเทศ” ฝั่ง “แฮร์ริส” จะลดความเสี่ยงทางการค้ากับจีน เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน เช่น รถยนต์ไฟฟ้า
ขณะที่ “ทรัมป์” จะปรับสมดุลการค้าสู่การผลิตในประเทศ เพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ 10-20% และปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 60%
สำหรับนโยบายการเมืองระหว่างประเทศ ฝั่ง “แฮร์ริส” สนับสนุนยูเครน และนโยบาย Two State (แนวทางที่เสนอขึ้นเพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์)
ขณะที่ “ทรัมป์” จะมีการเจรจากับรัสเซีย เพื่อยุติสงครามในยูเครนภายใน 24 ชั่วโมง และสนับสนุนอิสราเอล
มาถึง “นโยบายสิ่งแวดล้อม” ทางฝั่งของ “แฮร์ริส” สนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อบรรลุเป้าหมาย COP28
ขณะที่ “ทรัมป์” ยกเลิกเครดิตภาษีคาร์บอนและจะออกจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) อีกครั้ง
แหละทั้งหมดนี้ต้องดูล่ะว่า “อเมริกันชน” จะซื้อไอเดียใคร.!?
แต่ที่แน่ ๆ “หุ้นไทย” เตรียมตัวรับมือกันไว้ให้ดีละกัน..!??
เล็กเซียวหงส์