“ดีอี” จัดประชุม TopEX ตั้ง “กองนวัตกรรมดิจิทัล” ป้องกัน “โจรไซเบอร์”

กระทรวงดีอี จัดประชุม TopEX ลุยตั้งกองนวัตกรรมดิจิทัลพร้อมเร่งตัดวงจร “โจรออนไลน์” เร่งเดินหน้าสร้างบุคลากรดิจิทัล 2.5 แสนคน


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้  (6 พ.ย. 67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Top Executives) ครั้งที่ 13/2567 โดยมี นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงดีอี นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอี และโฆษกกระทรวงดีอี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัล เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 801 ชั้น 8 อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT และผ่านระบบ VDO CONFERENCE

นายประเสริฐ กล่าวว่า ในการประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารกระทรวงดีอี มีวาระสำคัญในการร่วมพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับมาตรการการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามนโยบายของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยเน้นให้ความสำคัญกับมาตรการการตรวจสอบและปราบปรามเว็บไซต์ และลิงค์ URL ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางที่ใช้ก่ออาชญากรรมของมิจฉาชีพ

พร้อมกันนี้ กระทรวงดีอี ได้จัดตั้งกองนวัตกรรมด้านดิจิทัล ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงดีอี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 ภายใต้นโยบายการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลโดยข้าราชการกระทวงดีอี ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมพัฒนาระบบสำคัญโดยไม่ใช้งบประมาณ ได้แก่

1.การพัฒนาแอปพลิเคชันพยากรณ์อากาศ เป็นความร่วมมือในการพัฒนาแอปฯ ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อพัฒนาโมดูลภายใต้แอปฯ Thai weather ของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยระบบใหม่จะรองรับการแสดงผลบนแผนที่ในรูปแบบเคลื่อนไหว รวมทั้งเพิ่มข้อมูลและฟังก์ชัน อาทิ พยากรณ์ฝน ความชื้น ทิศทางลม อุณหภูมิ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถระบุพิกัดได้ถึงระดับตำบล และยังสามารถติดตามการพยากรณ์ล่วงหน้าได้ 7 วัน ซึ่งทำให้ระบบมีความทันสมัยและสะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น

2.ระบบ MDES PDF Encrypter ที่พัฒนาร่วมกับ สกมช. เพื่อรองรับการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในการเข้ารหัสเอกสารชั้นความลับต่างๆ ได้ ซึ่งสามารถเข้ารหัสเอกสารครั้งละจำนวนมากได้ และเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อ license ของโปรแกรมเข้ารหัสได้ เช่น สป.ดศ. ได้จำนวน 1.7 ล้านบาทต่อปี โดยระบบนี้ได้เปิดให้หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

3.ระบบตรวจสอบและเก็บหลักฐานเว็บไซต์ที่กระทำผิดกฎหมายตามคำสั่งศาลขึ้น โดยระบบนี้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยลดขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ให้สามารถตรวจสอบและจัดเก็บหลักฐาน และดําเนินการทางการปรับเป็นพินัย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Robotic Process Automation (RPA) ที่ช่วยให้กระบวนการต่าง ๆ เป็นไปโดยอัตโนมัติ

สำหรับระบบตรวจสอบและเก็บหลักฐานเว็บไซต์ที่กระทำผิดกฎหมายตามคำสั่งศาล มีส่วนประกอบที่สำคัญ 3 ระบบ ได้แก่

1.) ระบบตรวจสอบเว็บไซต์ผิดกฎหมาย (URLChecker) ทำหน้าที่ในการตรวจสอบเว็บไซต์ผิดกฎหมายที่ยังคงมีการเผยแพร่หลังมีการออกคำสั่งศาล ที่รองรับ URL ที่ต้องตรวจสอบจำนวนมาก

2.) ระบบเก็บหลักฐานเว็บไซต์ผิดกฎหมาย (Evidence) บันทึกและจัดเก็บไฟล์สื่อจากเว็บไซต์ (วิดีโอและรูปภาพ) ที่ผ่านการตรวจสอบของระบบตรวจสอบเว็บไซต์ผิดกฎหมาย และพบว่ามีการละเมิดต่อไปแม้จะมีคำสั่งศาลแล้ว

3.) ระบบการทำงานอัตโนมัติโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ RPA ใช้เพื่อช่วยในการบันทึกและเก็บหลักฐานโดยอัตโนมัติ และส่งมอบให้กับเจ้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบและดำเนินการต่อไป

ขณะเดียวกัน ยังได้พัฒนาให้ระบบตรวจสอบ สามารถเชื่อมโยงผ่านแอปพลิเคชัน โดยเชื่อมโยงกับระบบสนับสนุนการทำงานปิดเว็บไซต์ผิดกฎหมาย (Webd) ที่มีอยู่เดิม เพื่อรับส่งข้อมูลเว็บไซต์ผิดกฎหมายและคำสั่งศาลได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งไปตรวจสอบ (URL Checker) และเก็บหลักฐานเว็บไซต์ผิดกฎหมาย (Evidence) ผ่านเครือข่ายของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) และระบบจะส่งหลักฐานเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายและยังเผยแพร่อยู่ได้อัตโนมัติ

“ระบบนี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบหลักฐานเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ที่ยังมีการเผยแพร่อยู่ได้ในทันที โดยหลักฐานที่ระบบสามารถเก็บได้ ประกอบด้วย เว็บไซต์ วันที่ออกคำสั่งศาล วันที่ตรวจพบ และชื่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต  จึงช่วยให้การดำเนินการตามกฎหมายมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการทำงานที่สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ โดยสามารถตรวจสอบ เว็บไซต์ผิดกฎหมาย จำนวน 10,000 URL ได้ภายในเวลา 3 ชั่วโมง และใช้จำนวนเจ้าหน้าที่เพียง 1 คนในการทำงาน การพัฒนาระบบดังกล่าวจะช่วยทำให้ดำเนินมาตรการตรวจสอบ เฝ้าระวัง และปราบปรามเว็บไซต์ และ URL ผิดกฎหมาย ได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ช่วยให้สามารถตัดวงจรช่องทางการก่ออาชญากรรมของขบวนการมิจฉาชีพได้อย่างมีนัยสำคัญ” นายประเสริฐ กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณา แนวทางการขับเคลื่อนสถานภาพการเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy: DL) ของประเทศ โดยมุ่งเป้าที่การขยายองค์ความรู้และทักษะดิจิทัล (Digital Knowledge & Skill) ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาและสร้างเสริมศักยภาพและทรัพยากรมนุษย์ สำหรับปี 2566 – 2570 จำนวน 250,000 คน ผ่านการดำเนินงานด้วยการขับเคลื่อนขยายองค์ความรู้และทักษะดิจิทัลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล (Digital Divide) ให้ประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัด ผ่านศูนย์ดิจิทัลชุมชนประมาณ 1,722 ศูนย์ทั่วประเทศ เช่น การอบรมทำคลิป และการซื้อขายสินค้าออนไลน์

โดยได้กำหนดเป้าหมายผู้เข้าร่วมการอบรม คือ 150 คน/ศูนย์/ปี พร้อมทั้งสร้างบุคลากรในรูปแบบดิจิทัลอำเภอ เพื่อระดมสร้างองค์ความรู้ด้านดิจิทัลผ่านการอบรมบุคลากรในศูนย์ดิจิทัลชุมชน รวมทั้งเพิ่มจำนวนอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) ในแต่ละจังหวัด ซึ่งมีสถิติจังหวัดเป็นหน่วยงานดูแล โดยเสนอให้ สดช. จัดทำโครงการสร้างดิจิทัลอำเภอ (ลูกจ้างชั่วคราว) ซึ่งอาจต่อยอดเป็นพนักงานราชการต่อไปในอนาคต

Back to top button