พาราสาวะถี อรชุน
ถูกเรียกไปปรับทัศนคติเพราะคำพูดที่ว่า”เผด็จการเหมือนหมาถูกน้ำร้อนลวก” สำหรับ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. โดยเจ้าตัวบอกว่าเป็นความเข้าใจผิดของหน่วยงานด้านความมั่นคงคิดว่าคำพูดดังกล่าวเป็นการด่าหัวหน้า คสช. ทั้งๆที่เป็นการตอบโต้ วันชัย สอนศิริ สมาชิก สปท.ซึ่งกล่าวหานักการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยว่า”เหมือนผีถูกน้ำมนต์”
ถูกเรียกไปปรับทัศนคติเพราะคำพูดที่ว่า”เผด็จการเหมือนหมาถูกน้ำร้อนลวก” สำหรับ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. โดยเจ้าตัวบอกว่าเป็นความเข้าใจผิดของหน่วยงานด้านความมั่นคงคิดว่าคำพูดดังกล่าวเป็นการด่าหัวหน้า คสช. ทั้งๆที่เป็นการตอบโต้ วันชัย สอนศิริ สมาชิก สปท.ซึ่งกล่าวหานักการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยว่า”เหมือนผีถูกน้ำมนต์”
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็สุดแท้แต่ นี่ย่อมสะท้อนภาพการไม่ยอมรับฟังความเห็นต่าง สิ่งสำคัญก็คือ เป็นการยอมรับในตัวตนและแนวทางของคณะยึดอำนาจว่าไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เพราะหากยืนบนเส้นทางที่ท่านผู้นำย้ำโดยตลอดว่า เข้ามาเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และเป็นเดินตามแนวทางประชาธิปไตยมาโดยตลอด
เหตุไฉนจึงต้องหวั่นไหวกับคำว่า”เผด็จการ”ด้วยเล่า เมื่อไม่ใช่เผด็จการ คำพูดของจตุพรข้างต้นย่อมไม่ได้หมายถึงคณะผู้ปกครองและรวมไปถึงหน่วยงานด้านความมั่นคง จึงไม่มีเหตุจำเป็นอันใดที่จะต้องเรียกตัวประธาน นปช.ไปปรับทัศนคติ แต่เมื่อเลือกที่จะกระทำนั่นหมายถึงเป็นการพิสูจน์ทฤษฎีตรงข้ามที่อรชุนเคยย้ำมาตลอดว่า บุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ตามที่ผลิตซ้ำความคิดในเรื่องๆ หนึ่ง ในทางปฏิบัติมักจะเป็นสิ่งตรงข้าม
กรณีดังกล่าวไม่แตกต่างจากการร่างรัฐธรรมนูญของ มีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะ กรธ. ที่ย้ำนักย้ำหนาว่าเป็นประชาธิปไตย แต่แนวทางปฏิบัติกลับไม่ได้เปิดใจรับฟังและเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็นอย่างเต็มที่โดยเฉพาะฝ่ายนักการเมืองและพรรคการเมือง ด้วยเหตุผลซ้ำซากหวั่นว่าจะสร้างกระแสให้เกิดความขัดแย้ง วุ่นวาย
ไม่เพียงเท่านั้น ปากที่บอกว่ายึดมั่นในกติกาประชาธิปไตยแต่กลับมีพฤติกรรมข่มขู่ประชาชน ด้วยคำพูดที่ว่าหากลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเจอฉบับที่โหดกว่า การแสดงออกย้อนแย้งกับวาทกรรมสวยหรูที่เชิดชูประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการสะท้อนความคับแคบและไม่จริงใจ
คงไม่ต่างจากคำพูดของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ปากก็บอกว่าไม่ปิดกั้นในการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากใช้วาจาที่ส่อเสียดหรือเข้าข่ายยุยง ปลุกปั่นจะ”เรียกปรับทัศนคติทุกวัน” มันอะไรกันนักหนา เมื่อเป็นฝ่ายเห็นต่างคงไม่มีภาษาที่มายกยอปอปั้นหรือสรรเสริญกันจนเลยเถิดไปจากโลกแห่งความจริง
ถ้ามั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้อัปลักษณ์หรือเข้าข่ายปล้นอำนาจอธิปไตยของประชาชนอย่างที่หลายฝ่ายออกมาโจมตี ก็ไม่จำเป็นจะต้องอินังขังขอบต่อความต่างไม่ว่าจะใช้ถ้อยคำดุเดือดรุนแรงปานใดก็ตาม เหมือนอย่างคำโบราณที่ว่าคนดีตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ ทองก็ย่อมเป็นทองอยู่วันยังค่ำ เว้นเสียแต่จะเป็นทองชุบทองเก๊แหกตาประชาชนนั่นก็อีกเรื่อง
ยังคงต่อเนื่องในจุดยืนหลังจากที่ สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกมาแสดงจุดยืนและระบุว่าร่างรัฐธรรมนูญมีชัยเป็นฉบับ”อภิชนเป็นใหญ่” ล่าสุดม.เที่ยงคืนได้ออกแถลงการณ์ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ภายใต้ชื่อ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ อภิชนเป็นใหญ่
เนื้อหาใจความโดยสรุปก็คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ลดทอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากยิ่งกว่าฉบับใดๆ ทำให้ระบบการเมืองไทยมีจุดยึดโยงกับประชาชนน้อยลง ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขาดความยึดโยงกับประชาชนโดยสิ้นเชิง แต่กลับมีอำนาจในการกำกับการทำงานของรัฐบาลสูงมาก
วุฒิสภาที่บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจไว้มากและกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการให้ความเห็นชอบต่อการแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ แต่วุฒิสมาชิกปราศจากการยึดโยงกับประชาชนทั้งหมดในสังคมเกือบสิ้นเชิง เพราะวุฒิสมาชิกมาจากการเลือกกันเอง ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จึงเรียกร้องให้สังคมร่วมกันพิจารณา วิพากษ์วิจารณ์และออกเสียงประชามติไม่ให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
คงต้องยกเอาความเห็นของเหล่านักวิชาการมาสะท้อน เพราะหากไปหยิบเอาความเห็นของนักการเมืองก็จะถูกมองว่ามีเบื้องหลัง ซึ่งความจริงการชูประเด็นว่าด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงนั้น ประชาชนย่อมเห็นดีเห็นงามด้วย เนื่องจากต้องการรัฐบาลที่ซื่อสัตย์สุจริตแต่ในทางกลับกันพฤติกรรมที่ปรากฏก็ต้องทำให้สังคมเชื่อมั่นด้วยเช่นกัน เพราะในรัฐบาลนี้มีปัญหาที่ตกเป็นขี้ปากมานับตั้งแต่ไมค์ทองคำจนมาถึงอุทยานราชภักดิ์ พร้อมๆกับวลีเด็ด”ไม่โกงแค่ส่วนต่างเยอะ”ที่ยังเป็นปมกังขาของสังคม
กล่าวสำหรับร่างรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยที่มา ส.ว.มาจากการเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพ มีความพยายามจะอธิบายถึงความเป็นประชาธิปไตยและไม่ใช่การแต่งตั้ง แต่เมื่อมองไปในเนื้อแท้แล้วเมื่อนำไปเทียบกับการเลือกตั้งก็จะชัดเจนว่าการเลือกกันเองไม่เท่ากับการเลือกตั้ง เพราะการเลือกกันเองไม่เกี่ยวข้องกับปวงชนชาวไทยที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยในมาตรา 3 ของร่างรัฐธรรมนูญ
สิ่งสำคัญอันเป็นฐานรากของระบอบประชาธิปไตยที่สากลโลกยอมรับกันอยู่ที่การเลือกตั้ง ไม่ใช่การเลือกกันเอง ดังนั้น ที่มาของ ส.ว.จึงจะพลิกพลิ้วแปลความเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากการแต่งตั้งหรือลากตั้ง ซึ่งไม่ว่าใครแต่งตั้งก็ตามแต่ไม่ใช่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยที่กำหนดไว้ในมาตรา 109 อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับทุกองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญที่ต้องมีความโปร่งใสและยึดโยงประชาชน สามารถตรวจสอบได้ ไม่ใช่องค์กรเทวดาอย่างที่กำลังทำกันอยู่