BCP โกยรายได้ 9 เดือนแรกปี 67 แตะ 4.4 แสนล้าน โบรกชี้ Q4 ธุรกิจโรงกลั่นฟื้น
BCP โชว์รายได้ 9 เดือน เติบโต 84% แตะ 4.47 แสนล้านบาท รับอานิสงส์รับรู้รายได้ขายและให้บริการพุ่ง ฟากโบรกมองไตรมาส 4/67 ฟื้นตัวรับธุรกิจโรงกลั่นฟื้น พ่วงธุรกิจการตลาดมีปริมาณขายฟื้นตามการฟื้นของกำลังซื้อ
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3 และงวด 9 เดือนแรก สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2567 ดังนี้
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทและกรรมการผู้จัดการใหญ่ BCP เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปี 67 สร้างสถิติใหม่ของรายได้จากการขายและการให้บริการ รวมอยู่ที่ 447,631 ล้านบาท เติบโตกว่า 84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมียอดจำหน่ายน้ำมันเติบโตก้าวกระโดดกว่า อยู่ที่ 10,000 ล้านลิตร และกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติที่สร้างสถิติรายได้สูงสุดจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น มี EBITDA อยู่ที่ 33,499 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขระที่ กำไรส่วนของบริษัทใหญ่ อยู่ที่ 2,168 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.30 บาท และมีการรับรู้ Inventory Loss (รวม NRV) 4,683 ล้านบาท หรือ 1.88 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากค่าการกลั่นพื้นฐานและราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง แต่คาดว่าบริษัทจะมีรายได้ทั้งปีบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้มากกว่า 500,000 ล้านบาท
นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี ภายหลังจากได้ บริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) หรือ BSRC เข้ามาเมื่อวันที่ 1 ก.ย.66 กลุ่ม BCP ประสบความสำเร็จในการสร้าง Synergy เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการรับรู้ Synergy ให้บริษัทมียอดสะสมสูงถึง 4,400 ล้านบาทภายใน 9 เดือนแรกของปี 67 สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2,500 ล้านบาทอย่างมีนัยสำคัญ
โดยสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของกลยุทธ์ที่กลุ่ม BCP วางไว้ และสร้างความมั่นใจในการปรับเป้าหมาย Synergy ใหม่ให้สูงขึ้นเป็น 5,000 ล้านบาทในปี 67 และ 5,500 ล้านบาทในปี 68 และในปีถัด ๆ ไป เป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพและความมุ่งมั่นของกลุ่ม BCP ในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน สำหรับไตรมาส 4 คาดการณ์กว่าค่าการกลั่นจะปรับตัวสูงขึ้น และกำลังเข้าช่วงฤดูหนาว ซึ่งจะส่งผลให้แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น
ด้าน นางสาวภัทร์ภูรี ชินกุลกิจนิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบัญชีและการเงิน BCP รายงานผลการดำเนินงานที่สำคัญแต่ละกลุ่มธุรกิจใน 9 เดือนแรกของปี 67 ดังนี้
กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน มีรายได้ อยู่ที่ 373,716 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 85% มี EBITDA อยู่ที่ 4,832 ล้านบาท ปรับลดลง 58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ 254,000 บาร์เรลต่อวัน เติบโตกว่า 51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
แม้จะมีการหยุดซ่อมบำรุงหน่วยกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง ตามวาระ (Turnaround Maintenance) ในช่วงกลางปี 67 แต่มีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ศรีราชา มาช่วยชดเชย จากการรับรู้ผลการดำเนินงานเต็ม 9 เดือน ช่วยหนุนกำลังการผลิตของกลุ่ม BCP เติบโตได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางความท้าทายของราคาน้ำมันที่ผันผวนจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากค่าการกลั่นพื้นฐานลดลงจาก Crack Spread ของกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักปรับตัวลดลง
อีกทั้งประกอบกับการรับรู้ Inventory Loss อยู่ที่ 4,683 ล้านบาท จากราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยที่ปรับตัวลดลง และรับรู้กำไรจากสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันล่วงหน้าลดลง โดยมีค่าการกลั่นพื้นฐานที่ 3.8 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
นอกจากนี้ บริษัท บีซีพี เทรดดิ้ง (BCPT) มีธุรกรรมการซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันเพิ่มขึ้นและการขยายตลาดน้ำมันดิบแบบ Overseas Trading (Out-Out) ที่เติบโตขึ้น และยังเร่งขยายเครือข่ายซื้อขายน้ำมัน Out-Out อย่างต่อเนื่องทั้งน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ และเพิ่มช่องทางซื้อขายเพื่อเสริมความคล่องตัวในธุรกิจ
ขณะที่ กลุ่มธุรกิจการตลาด มีรายได้ อยู่ที่ 295,610 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมี EBITDA อยู่ที่ 5,029 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 68% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันรวมทุกช่องทาง 10,247 ล้านลิตร เติบโตอย่างก้าวกระโดดกว่า 97% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการผสานกันของเครือข่ายสถานีบริการและฐานลูกค้าตามการขยายตัวและฐานลูกค้าอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมมากขึ้น
อีกทั้ง มีการรับรู้ผลการดำเนินงานเต็ม 9 เดือนของปี 67 ของ BSRC รวมถึงการปรับกลยุทธ์การตลาดให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า การปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้มีความทันสมัย และการปรับปรุงคุณภาพของสถานีบริการอย่างต่อเนื่อง โดยได้ปรับเปลี่ยนโลโก้ของสถานีบริการ BSRC แล้วเสร็จไปมากกว่า 80%
รวมถึง ยังมีการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพสูง Premium 97 และ Premium Diesel ยืนหนึ่งในความเป็นพลังสะอาด ที่มาพร้อมความแรง และสามารถปกป้องเครื่องยนต์ได้ 100% ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดผ่านสถานีบริการรวมเติบโตขึ้นมาอยู่ที่ 29% ในส่วนของค่าการตลาดสุทธิรวมปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 0.86 บาทต่อลิตร จากการรับรู้ Inventory Loss ตามราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับตัวลดลง โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567 มีสถานีบริการรวม อยู่ที่ 2,141 สถานี และจุดชาร์จ EV กว่า 321 สถานี
ส่วนกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด มีรายได้ อยู่ที่ 3,402 ล้านบาท ลดลง 8% และมี EBITDA อยู่ที่ 3,743 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงการรับรู้ผลการดำเนินงานเต็ม 9 เดือน จากการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ 4 แห่งในสหรัฐอเมริกา 857 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในลาวที่มีปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 82% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีการหยุดการผลิตไฟฟ้าเพื่อเตรียมขายไฟฟ้าไปยังการไฟฟ้าแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
โดยช่วยบรรเทาผลกระทบการสิ้นสุด Adder ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยได้ทั้งหมด อีกทั้งมีการรับรู้กำไรหลังหักภาษีจากการจำหน่ายไปซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น อยู่ที่ 2,159 ล้านบาท จำนวน 9 โครงการในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมีรายได้ อยู่ที่ 15,532 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63% และมี EBITDA 654 ล้านบาท ได้รับแรงหนุนจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น 58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการผลิตภัณฑ์ B100 ที่เพิ่มขึ้นจาก BSRC ในขณะที่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล มีกำไรขั้นต้นเติบโต สอดคล้องกับปริมาณการผลิตและจำหน่ายเอทานอลที่เพิ่มขึ้น และราคาขายเอทานอลที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาต้นทุนวัตถุดิบหลักที่ยังอยู่ในระดับสูง
กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ มีรายได้ อยู่ที่ 29,501 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% และมี EBITDA 19,808 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และมีการรับรู้ผลการดำเนินงานจากแหล่งปิโตรเลียม Statfjord หนุนปริมาณการขายเติบโตกว่า 38% ที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2566 ประกอบกับแหล่งผลิต Brage สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มครึ่งปีจากแหล่งผลิต Hasselmus ที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนต.ค.2566
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/67 กลุ่ม BCP มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 154,193 ล้านบาท ลดลง 2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้น 63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมี EBITDA 7,427 ล้านบาท ลดลง 31% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในไตรมาสนี้รับรู้ผลขาดทุนส่วนของบริษัทใหญ่ 2,093 ล้านบาท
นอกจากนี้ ฐานะการเงินของกลุ่ม BCP ณ วันที่ 30 ก.ย.2567 มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด อยู่ที่ 30,707 ล้านบาท และมีสินทรัพย์รวม อยู่ที่ 329,441 ล้านบาท ลดลง 10,988 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ 31 ธ.ค.66 มีหนี้สินรวม อยู่ที่ 243,875 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 3,478 ล้านบาท และส่วนผู้ถือหุ้นรวม 85,566 ล้านบาท ลดลง 14,466 ล้านบาท โดยหลักมาจากหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (Perpetual Bond) ที่ถูกจัดประเภทใหม่เป็นหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปี ภายหลังจากบริษัทยืนยันการไถ่ถอนในเดือน ต.ค.67 โดยเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนของบริษัทใหญ่ อยู่ที่ 58,437 ล้านบาท และมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นในระดับที่ยังแข็งแรงที่ 1.18 เท่า
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุผ่านบทวิเคราะห์ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.67 คาดการณ์ผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/67 ของ BCP จะพลิกมีกำไรดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าและเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากธุรกิจโรงกลั่นฟื้นได้การขายของ BSRC ที่เพิ่มขึ้นจากปิดซ่อมน้อยลง และค่าการกลั่นรวมฟื้น ตาม economies of scale และ crude premium ที่ลดลงกลบ product spread ที่ supply ตึงตัวน้อยลงได้
อีกทั้ง OKEA ปริมาณขาย เพิ่มขึ้น 40% ตามแหล่งใหม่ Statfjord ส่วนจากไตรมาสก่อนหน้าฟื้น เพราะไม่มี stock loss ก้อนใหญ่ถ่วง รวมถึง ธุรกิจโรงกลั่นกลับมาผลิตปกติ รวมถึง product spread ฟื้นหนุนจาก winter season และฤดูท่องเที่ยว อีกทั้งธุรกิจการตลาดมีปริมาณขายฟื้นตามการฟื้นของกำลังซื้อ ขณะที่ผลกระทบน้ำท่วมลดลงและการท่องเที่ยว