ใครล้างหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ
คุณธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คือ ผู้จุดประกาย ความเคลื่อนไหวเรื่องการเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติจากฝ่ายการเมือง
คุณธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คือ ผู้จุดประกาย ความเคลื่อนไหวเรื่องการเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติจากฝ่ายการเมืองจะก่อให้เกิดความหายนะทางเศรษฐกิจ ตามด้วย 227 นักเศรษฐศาสตร์อีกเป็นพรวน ลงชื่อต่อต้าน
คนที่คุณธาริษา หมายถึง ผู้นั้นก็คือ คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไง
คุณธาริษา คงจะลืมไปแล้วว่าสมัยตนเป็นผู้ว่าฯ ธปท.ก็มีฝ่ายการเมืองคือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรี มาชี้นำบงการให้คุณธาริษา ประกาศควบคุมเงินทุน (Capital Control) จนตลาดหุ้นฉิบหายวายวอดวันเดียวหุ้นตกถึง 100 จุด จนมีฉายา “อุ๋ย 100 จุด” บ้าง… “ธาริษา 100 จุด” บ้าง และต้องตะลีตะลานประกาศเลิกมาตรการชุ่ย ๆ ที่ออกมาในวันเดียวไง
ยังจำได้ไหมคุณธาริษา! ถึงวีรกรรมครั้งนั้น
“กิตติรัตน์” นามนี้ มีประวัติที่น่าจดจำอย่างยิ่งในการ “ล้างหนี้” กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จำนวน 1,138,305.89 ล้านบาท อันเกิดจากการปิดสถาบันการเงินและการเยียวยาผู้ฝากเงินช่วงปี 2539-2541
นี่ก็เป็นผลงานการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยเช่นกัน รวมทั้งการนำเงินทุนสำรองไปต่อสู้กับการโจมตีค่าเงินบาทด้วย
หนี้ FIDF ก้อนนี้ มีข้อตกลงความรับผิดชอบกันอยู่ว่า “ภาระรับผิดชอบเงินต้นเป็นของแบงก์ชาติ ส่วนภาระจ่ายดอกเบี้ยเป็นของกระทรวงการคลัง”
ดูไปแล้ว เหมือนจะดี! ที่ให้แบงก์ชาติผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สถาบันการเงินล้ม รับผิดชอบหนี้เงินต้น ซึ่งมีจำนวนสูงกว่าหนี้ดอกเบี้ยมากมายนัก
แต่ในความเป็นจริง แบงก์ชาติก็มีพ.ร.บ.ของตนเองในการจ่ายหนี้ว่า จะต้องมีผลประกอบการ “กำไร” เท่านั้น หาก “ขาดทุน” ห้ามจ่าย และแบงก์ชาติก็ขาดทุนมาโดยตลอด ภาระจึงตกหนักที่กระทรวงการคลังที่เฉือนรายได้จากภาษีอากรประชาชนไปจ่าย
จ่ายได้แต่ดอกเบี้ย ตกประมาณปีละ 60,000 ล้านบาท ถ้าจ่ายมา 10 ปีก็เท่ากับจ่าย 6 แสนล้านบาท ฟรี ๆ โดยหนี้เงินต้นไม่ลดสักบาทเดียว
กระทรวงการคลัง สมัยกิตติรัตน์ว่าการควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี จึง “ผ่าหลุมดำ” จากหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ก้อนโตก้อนนี้ โดยการออกพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555
โดยนำเงินค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากธนาคารพาณิชย์ในอัตรา 0.46% ของฐานเงินฝาก ส่งเข้าไปที่กองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อนำไปทยอยใช้หนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และนำส่งเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากในอัตรา 0.01%
จนบัดนี้เป็นเวลา 12 ปี จากยอดหนี้เงินต้น 1.14 ล้านล้านบาท ที่ไม่มีอนาคตชำระคืน คงเหลือยอดหนี้ ณ สิ้น ก.ย. ปี 67 เพียงแค่ 552,627 ล้านบาทเท่านั้น
ฝีมือคนการเมืองชื่อ กิตติรัตน์ที่คุณธาริษารังเกียจนัก รังเกียจหนาไง
ชาญชัย สงวนวงศ์