ปีใหม่ยังไม่ลด! กกพ. เคาะโมเดล “ค่าไฟ” งวด “ม.ค.-เม.ย.68” 4.18-5.49 บาท

กกพ. เปิดเฮียริ่ง 3 ทางเลือก ค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. ปี 68 ต่ำสุดยังเท่างวดปัจจุบันที่ 4.18 บาท แจงเหตุต้องเร่งใช้คืนหนี้ค่าเชื้อเพลิงคงค้างกว่า 100,000 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (8 พ.ย. 67) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.68  ตามมติที่ประชุม กกพ. เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา

สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.68 ที่ 4.18-5.49 บาท/หน่วย จากค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาท/หน่วย ซึ่งงวดก่อนหน้าอยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย โดยเปิดรับฟังความคิดเห็น แบ่งเป็น 3 กรณี ตั้งแต่วันที่ 8-22 พ.ย.67 ก่อนสรุปและประกาศต่อไป

กรณีที่ 1 ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. ทั้งหมด)

ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 170.71 สตางค์/หน่วย ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.49 บาท/หน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 31%

คำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft ที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุน 16.52 สตางค์/หน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ.จำนวน 85,236 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 131.01 สตางค์/หน่วย) และมูลค่า AFGAS ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ (กฟผ. และ ปตท.) เดือน ก.ย. – ธ.ค.66 จำนวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 23.18 สตางค์/หน่วย) รวมทั้งสิ้นจำนวน 154.19 สตางค์/หน่วย

กรณีที่ 2 ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ.ทั้งหมด)

ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 147.53 สตางค์/หน่วย ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.26 บาท/หน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 26%

คำนวณสูตรการปรับค่า Ft ที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุน 16.52 สตางค์/หน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ.จำนวน 85,236 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 131.01 สตางค์/หน่วย) โดย กฟผ. จะได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชน ในช่วงสภาวะวิกฤตของราคาพลังงานที่ผ่านมา คืนทั้งหมดภายในเดือน เม.ย.68 เพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้มีสถานะทางการเงินคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

กรณีที่ 3 กรณีตรึงค่า Ft เท่ากับงวดปัจจุบัน (ข้อเสนอ กฟผ.)

ค่า Ft ขายปลีก เท่ากับ 39.72 สตางค์/หน่วย ซึ่งจะสะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือน ก.ย.-ธ.ค.67 จำนวน 16.52 สตางค์/หน่วย และทยอยชำระคืนภาระต้นทุน AF คงค้างสะสมได้จำนวน 15,094 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 23.20 สตางค์/หน่วย) ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คงที่เท่ากับ 4.18 บาท/หน่วย เช่นเดียวกับปัจจุบัน

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการ กกพ. ฐานะโฆษกฯ เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจากงวดก่อนหน้า 3.27 บาท/ดอลลาร์ (งวด ก.ย.-ธ.ค. 67) เป็น 33.36 บาท/ดอลลาร์ การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศ ซึ่งมีต้นทุนราคาถูกมีความพร้อมในการผลิตเพิ่มขึ้น และสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวแบบสัญญาจร (LNG Spot) ในตลาดโลกปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากงวดก่อนหน้า 0.2 ดอลลาร์/ล้านบีทียู และปริมาณก๊าซธรรมชาติในแหล่งอ่าวไทยซึ่งมีต้นทุนราคาถูกมีปริมาณเพิ่มขึ้น ทำให้แนวโน้มต้นทุนจากปัจจัยนอกเหนือการควบคุมดีขึ้น ส่งผลต่อแรงกดดันต่อการเพิ่มค่าไฟลดลง แต่ปัจจัยที่ยังไม่สามารถทำให้ค่าไฟลดลงได้ ยังคงมาจากภาระหนี้ค่าเชื้อเพลิงสะสมในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าจะลดลงจากงวดก่อนหน้าบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงและต้องได้รับการดูแล เพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศด้วย

นายพูลพัฒน์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวลดลง แต่เมื่อรวมกับการทยอยคืนหนี้ค่าเชื้อเพลิงค้างชำระในงวดก่อนหน้าที่ยังคงสูงอยู่ ส่งผลให้ค่าไฟในช่วงต้นปี 2568 อาจจะต้องปรับเพิ่มค่า Ft ขึ้นสู่ระดับ 147.53-170.71 สตางค์/หน่วย เพื่อคืนหนี้คงค้างให้กับ กฟผ. และ ปตท. ซึ่งทำให้เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาท/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บในงวดเดือนม.ค.-เม.ย.68 เพิ่มขึ้นเป็น 5.26-5.49 บาท/หน่วย หรือหากตรึงค่า Ft ไว้ที่ 39.72 สตางค์/หน่วย แล้วทยอยคืนหนี้คงค้างควบคู่ไปกับการลดผลกระทบต่อการปรับค่าไฟฟ้าอย่างก้าวกระโดดเพื่อลดภาระของประชาชน ค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วยเท่ากับปัจจุบัน

Back to top button