JMT กำไรไตรมาส 3 แตะ 430 ล้านบาท ดีกว่าคาด! ลุ้น Q4 ฟื้นตัวแกร่ง
JMT รายงานงบไตรมาส 3/67 กำไรแตะ 430 ล้านบาท ดีกว่าคาดไว้ โบรกมองไตรมาส 4/67 อาจปรับตัวดีขึ้นต่อเนือง หลังคาดยอดจัดเก็บดีขึ้น ลุ้นปี 68 คาดกําไรจะฟื้นตัวได้ราว 23%
บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3 และงวด 9 เดือนแรกของปี 67 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.67 มีกำไรสุทธิลดลง ดังนี้
นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMT เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/67 รายได้รวมอยู่ที่ 1,285 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.7 และสำหรับงวด 9 เดือนแรกปี 67 มีรายได้รวมเท่ากับ 3,948 ล้านบาท เติบโตจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.5 โดยรายได้ในส่วนบริหารหนี้ด้อยคุณภาพยังคงมีการเติบโตที่ดี และจะค่อยๆ เติบโตไปพร้อมกับการจัดเก็บกระแสเงินสด
สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นในไตรมาส 3/67 เท่ากับ 430 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากงวดไตรมาส 2/2567 ฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา JMT มีผลประกอบการต่ำที่สุดของปี เนื่องจากภาพรวมธุรกิจซื้อหนี้มาบริหารมีทิศทางที่ดีขึ้น ผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง (Expected Credit Loss: ECL) ด้วยความพยายามในการติดตามหนี้อย่างใกล้ชิดกับลูกค้า ยอดจัดเก็บกลับเข้ามาอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ในงวด 9 เดือนแรกปีนี้มีกำไรสุทธิ เท่ากับ 1,215 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทฯ มียอดกระแสเงินสดจากการจัดเก็บหนี้ (Cash Collection) ในไตรมาส 3/67 กรณีรวมกระแสเงินสดที่จัดเก็บของบริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK AMC) เท่ากับ 2,263 ล้านบาท สำหรับงวด 9 เดือนปี 67 กรณีกระแสเงินสดรวม JK AMC เท่ากับ 6,479 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ภาพรวมการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารในปีนี้ เริ่มส่งสัญญาณบวกจากสถาบันการเงินทั้ง Bank และ Non-Bank เตรียมทยอยขาย NPL ออกมาในครึ่งปีหลังมากกว่าครึ่งแรก โดยเฉพาะในกลุ่มหนี้ประเภทไม่มีหลักประกัน (Unsecured Loan) อาทิ กลุ่มบัตรเครดิต หนี้สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล สนับสนุนให้ ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 JMT สามารถปิดดีลซื้อหนี้ไปแล้วเท่ากับ 807 ล้านบาท
ขณะที่ก่อนหน้านี้ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ระบุว่า มีการประเมินผลการดำเนินงานไตรมาส 3/67 ไว้อยู่ที่ 400 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 9% จากไตรมาสก่อนหน้า แม้ยังอ่อนตัว 14% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
โดยแนวโน้มที่ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากยอดจัดเก็บที่คาดการณ์ว่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ราว 1.4 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาสก่อนหน้า และ 6% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากไม่มีวันหยุดยาวเหมือนในไตรมาส 2/67 บวกกับแนวโน้ม เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยหลังการจัดตั้งรัฐบาล
ส่วนต้นทุนในการให้บริการยังทรงตัวค่อนข้างสูงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากทางบริษัทยังคงนโยบายฟ้องคดีเพื่อเร่งให้ลูกหนี้กลับมาเจรจาชำระหนี้อยู่ ขณะที่ ค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานอาจลดลงเล็กน้อยราว 4% จากไตรมาสก่อนหน้าหลังคาดการณ์ค่าใชจ่ายสํารองหนี้ (ECL) ลดลงราว 8% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลกระทบจากยอดจัดเก็บที่ดีขึ้นทําให้ต้องตั้งสํารองหนี้น้อยลง
ทั้งนี้ คาดการณ์กําไรงวดไตรมาส 4/67 อาจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องหลังคาดการณ์ยอดจัดเก็บดีขึ้น ผนวกกับค่าใช้จ่ายสํารองหนี้ลดลงตามฤดูกาล แม้ว่าค่าใช้จ่ายจากการฟ้องคดีจะยังสูงต่อเนื่อง พร้อมประเมินกําไรปี 2567 อยู่ที่ 1,549 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มปี 68 คาดการณ์กําไรจะฟื้นตัวได้ราว 23% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยยังเห็นโมเมนตัมของการฟื้นตัวของยอดจัดเก็บบวกกับการลดลงของค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ แต่ยังต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค อาทิ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การลดดอกเบี้ยนโยบาย รวมไปถึงนโยบายแก้หนี้ครัวเรือน เป็นต้น