GOOD MONEY & Soft Loan GSB Boost Up
หนึ่งในแบงก์เฉพาะกิจของรัฐ ที่มีความเคลื่อนไหวมากสุด ดูเหมือนเป็น “ธนาคารออมสิน” ที่คลอดโครงการและโปรเจกต์ตอบโจทย์สังคมและลูกค้าระดับฐานรากได้เป็นอย่างดี
หนึ่งในแบงก์เฉพาะกิจของรัฐ ที่มีความเคลื่อนไหวมากสุด ดูเหมือนเป็น “ธนาคารออมสิน” ที่คลอดโครงการและโปรเจกต์ตอบโจทย์สังคมและลูกค้าระดับฐานรากได้เป็นอย่างดี ล่าสุดเปิดตัว Non-Bank ใหม่ ภายใต้ชื่อ “GOOD MONEY : เงินดีดี” เน้นปล่อยกู้สินเชื่อบุคคลและนาโนไฟแนนซ์ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนประกอบอาชีพ ดอกเบี้ยเริ่มต้น 19-25% ตามความเสี่ยงลูกค้า พร้อมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3.5%
สำหรับ SMEs และรายย่อย ผ่านโครงการ Soft Loan GSB Boost Up เพื่อการลงทุนและบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุอุทกภัย..!!
การเปิดตัว Non-Bank ใหม่ ภายใต้ชื่อ GOOD MONEY เพื่อขยายผล Social Impact ผ่านภารกิจ Financial Inclusion เปิดโอกาสให้ประชาชนฐานรากเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะกลุ่มความเสี่ยงสูง ที่ระบบธนาคารไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ ทำให้ต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบหรือสินเชื่อในระบบที่ดอกเบี้ยสูงเกินจริง
นั่นจึงเป็นที่มาของการจัดตั้งบริษัทให้บริการสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “แพลตฟอร์มสินเชื่อเพื่อความเท่าเทียมในสังคม” ดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัท เงินดีดี จำกัด เป็นกลไกในการลดดอกเบี้ยในตลาดสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ภายใต้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (Nano Finance) ที่รับความเสี่ยงได้สูงขึ้น
แพลตฟอร์ม GOOD MONEY-เงินดีดีเพื่อคนไทย
นำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย 2 ประเภท คือ สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) และ Nano Finance สำหรับผู้ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจ มุ่งเน้นการสร้างหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ (Productive Loan) ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม เริ่มต้นที่ 19% ต่อปี
อีกหนึ่งโครงการคือ Soft Loan GSB Boost Up ผู้ประกอบการ SMEs และลูกค้ารายย่อยหรือผู้ประกอบการอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย สามารถยื่นขอกู้โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up ร่วมกับสถาบันการเงินอื่นรวม 16 แห่ง
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ให้กู้เพื่อการลงทุนทรัพย์สินถาวรหรือเสริมสภาพคล่องการดำเนินกิจการ ที่ไม่ใช่การรีไฟแนนซ์ ยื่นกู้ได้ถึง 30 ธ.ค. 68
ส่วนผู้ประกอบการ SMEs ลูกค้ารายย่อย หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ประสบอุทกภัย ให้กู้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเสริมสภาพคล่องการฟื้นฟูการดำเนินกิจการ ยื่นกู้ได้จนถึง 30 ธ.ค. 67
ถือเป็นการดำเนินตามนโยบายรัฐบาลเพื่อสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจนำไปปล่อยสินเชื่อต่อให้กับผู้ประกอบการ โดยให้กู้ตามความจำเป็นและความสามารถในการชำระหนี้ กำหนดวงเงินกู้สูงสุดรวมทุกสถาบันการเงินไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อราย วงเงินกู้รวมในโครงการ 100,000 ล้านบาท