การบินไทยเหินฟ้าฟื้นฟูสู่กำไร ก้าวต่อไป “ในฐานะเอกชนไทยที่พร้อมแข่งขันในระดับโลก”
กลับมาเหินฟ้าอย่างสง่างามสำหรับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI หลังเจอมรสุมหนักกับการเผชิญภาวะการมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก
กลับมาเหินฟ้าอย่างสง่างามสำหรับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI หลังเจอมรสุมหนักกับการเผชิญภาวะการมีหนี้สินเป็นจำนวนมากและไม่สามารถชำระหนี้ที่เกิดจากสภาวะการแข่งขันในธุรกิจสายการบินที่ปรับเปลี่ยนและทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาจากความไม่คล่องตัวในการดำเนินธุรกิจจากการมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ และผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลให้ต้องยกเลิกเที่ยวบินอย่างกะทันหัน
ในเวลานั้นรัฐบาลไทยไม่ได้ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินไม่ว่าจะเป็นงบประมาณหรือเงินกู้พิเศษ ส่งผลให้ THAI ซึ่งยังมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้นเกิน 51% ต้องยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ หลังจากนั้นศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 ให้ THAI ดำเนินการฟื้นฟูกิจการและตั้งคณะผู้ทำแผนฟื้นฟู
โดยหลังจากคณะผู้ทำแผนดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและแต่งตั้งผู้บริหารแผนโดยมีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 และ THAI ได้เริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการตั้งแต่นั้นมา นอกจากนี้ ตั้งแต่นับจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 กระทรวงการคลังซึ่งเคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 51.03% ขายหุ้นให้กับกองทุนวายุภักษ์ ทำให้กระทรวงการคลังเหลือสัดส่วนการถือหุ้นเพียง 47.86% ทำให้การบินไทย พ้นสภาพการเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ทันทีและดำเนินการภายใต้การเป็น “บริษัทเอกชน” มาเป็นระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา
- เส้นทางการฟื้นฟูและภาพลักษณ์ใหม่
การบินไทยกลับมาดำเนินการปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งสำคัญ หลังจากการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยมีเป้าหมายที่จะฟื้นฟูภาพลักษณ์ สร้างความเชื่อมั่นและขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นสายการบินที่แข่งขันได้ในระดับสากล ด้วยศักยภาพและความคล่องตัวที่เพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจจากการแปรสภาพเป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว
THAI มุ่งมั่นเดินหน้าดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเคร่งครัดเพื่อกอบกู้องค์กรกลับคืนมาให้เป็นสายการบินแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยอีกครั้ง ตั้งแต่การปรับโครงสร้างองค์กร (การลดขนาดองค์กรและการปรับลดสิทธิประโยชน์บัตรโดยสารพนักงาน การเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องทั้งธุรกิจการบิน การปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบินรวมถึงการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจการบิน Thai Smile และการจัดหาฝูงบินเพิ่มเติม รวมไปถึงการเป็นสายการบินที่ให้บริการแบบเครือข่าย (network airline)
การปรับลดขนาดองค์กร ด้วยโครงการ “ร่วมใจจากองค์กร” ซึ่งก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 THAI มีพนักงานประมาณ 28,000 คน ณ สิ้นปี 2562 ลดลงมากว่า 52% ในปีถัดมา จนปัจจุบันมีการทยอยปรับเพิ่มจำนวนพนักงานที่ประมาณ 16,000 คน ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้อย่างเห็นผลและทำให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายพนักงานต่อรายได้จากการขายและการให้บริการรวม อยู่ในระดับที่ต่ำกว่ากับผู้เล่นรายอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม เป็นต้น
- บทพิสูจน์เป็นเอกชนดีกว่า
หลังจาก THAI หลุดพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจมาเป็นองค์กรเอกชน กลายเป็นปัจจัยหนุนแรงให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจได้คล่องตัว ซึ่งเกิดจากการบริหารจัดการและการตัดสินใจที่ทันท่วงที โดยเป็นผลจากการลดระเบียบขั้นตอนที่ซับซ้อนลงจากการพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ ทำให้การบินไทยสามารถแข่งขันได้ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงและต้องปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว
โดยจะเห็นได้ชัดว่าตั้งแต่เข้าสู่การฟื้นฟูกิจการผลประกอบการของ THAI ก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถทำกำไรสุทธิในปี 2566 (ม.ค.-ธ.ค.66) สูงเป็นประวัติการณ์ที่ 28,123 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อนหน้าที่ขาดทุนสุทธิ 252 ล้านบาท มีรายได้จากการขายและบริการที่ 157,446 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51.5% ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากค่าโดยสารและค่าน้ำหนักส่วนเกิน 132,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 80.8% โดยมีการขนส่งผู้โดยสารรวม 13.76 ล้านคน เพิ่มขึ้น 52.7%
การบินไทยในวันนี้ที่สามารถพลิกฟื้นกลับมามีกำไรได้อีกครั้ง จึงเป็นเสมือนภาพสะท้อนของความสำเร็จในการปรับตัวผ่านการปฏิรูปธุรกิจอย่างจริงจัง จนสามารถฝ่าวิกฤติและพลิกฟื้นได้ สู่การเป็นเอกชนที่มีความคล่องตัวและยืดหยุ่นสูงกว่าเดิม และเป็นบทพิสูจน์การปรับตัวสู่การบริหารจัดการในรูปแบบใหม่ในฐานะบริษัทเอกชน เพื่อความรวดเร็ว คล่องตัว พร้อมตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภคและตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป และพร้อมให้คนไทยได้ติดตามและร่วมภาคภูมิใจกับอนาคตของการบินไทยต่อ ๆ ไปหลังจากนี้
- เตรียมพร้อมสู่การแข่งขันระดับโลก
ด้วยภาพลักษณ์ใหม่ การบินไทยได้แสดงให้เห็นศักยภาพในการแข่งขันระดับโลก สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดโลกในฐานะเอกชนที่แข็งแกร่ง โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างความประทับใจและความพึงพอใจให้กับผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาที่มุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค การพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน และการบริหารจัดการที่ดีจะช่วยให้การบินไทยมีศักยภาพในการแข่งขันได้ในระดับโลกและเติบโตอย่างยั่งยืน
THAI เตรียมพร้อมสำหรับการช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดกลับคืนมา และสร้างการเติบโตในอนาคตด้วยการขยายฝูงบินเป็น 150 ลำ ภายในปี 2576 ควบคู่กับใช้ฝูงบินอย่างเหมาะสม (Fleet rationalization) โดยการบินไทยได้เข้าทำข้อตกลงกับ Boeing และ GE Aerospace ในการจัดหาเครื่องบินลำตัวกว้างแบบโบอิ้ง 787 Dreamliner ลำใหม่จำนวน 45 ลำ ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ ซึ่งมีน้ำหนักน้อยลงและมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมสิทธิในการจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมอีก 35 ลำ และมีกำหนดการเริ่มทยอยรับมอบเครื่องบินดังกล่าวเข้าประจำการในฝูงบินของบริษัทฯ ตั้งแต่ปี 2570 – 2576
ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI ประกาศอย่างชัดเจนว่าการจัดหาฝูงบินครั้งนี้เป็นการจัดหาฝูงบินที่มีการวางแผนอย่างรอบคอบ ดำเนินการอย่างสุจริตโปร่งใส และบริษัทฯ ได้ออกเอกสารเชิญยื่นข้อเสนอราคา รวมถึงเจรจาต่อราคาโดยตรงกับผู้ผลิตเครื่องบินทั้งหมด เนื่องจากบริษัทฯ เปลี่ยนเป็นบริษัทเอกชนที่มีประสิทธิภาพ มีความคล่องตัวสูงและมีความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ ทำให้บริษัทผู้ผลิตมีความเชื่อมั่นและต้องการทำธุรกิจกับบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง จึงปรับปรุงข้อเสนอให้ดีขึ้น จนบริษัทฯ ได้รับข้อเสนอสุดท้ายที่ดีที่สุดในการจัดหาเครื่องบินครั้งนี้ พร้อมทั้งการันตีว่าการจัดหาฝูงบินขนาดใหญ่ครั้งนี้จะไม่กระทบต่อสถานะการเงินของ THAI ที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นฟูกิจการ
“ยืนยันว่าการจัดหาเครื่องบินครั้งนี้ไม่กระทบสถานะการเงินของเรา และไม่กระทบกับการจ่ายหนี้ตามแผนฟื้นฟูฯ เพราะเราไม่ได้ชำระครั้งเดียว แต่เป็นการทยอยชำระ และเครื่องบินเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เมื่อรับมาแล้วสามารถใช้สร้างรายได้ได้ทันที การสั่งซื้อแบบล็อตใหญ่ยังช่วยให้เราได้รับเงื่อนไขทางการเงินที่ดีจากผู้ผลิตด้วย ซึ่งหากเราจัดหาทั้ง 80 ลำตามแผนจะทำให้ปี 2576 เราจะมีฝูงบินที่ 150 ลำซึ่งจะช่วยให้เรากลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง เพราะฝูงบินปัจจุบันมีไม่เพียงพอ”
- การบินไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม
หลังจากประสบปัญหาด้านการเงินและเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในช่วงที่ผ่านมา การบินไทยได้ปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานอย่างเต็มรูปแบบและประกาศความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงให้เป็นองค์กรที่แข็งแกร่งและพร้อมแข่งขันในระดับสากล การบินไทยในวันนี้ไม่ใช่แค่การกลับมาเปิดให้บริการใหม่ แต่เป็นการเปิดตัวในฐานะองค์กรที่มีทิศทางชัดเจนในการพัฒนาและรักษามาตรฐานการให้บริการที่ยอดเยี่ยมโดยไม่ย้อนกลับไปสู่อดีตอีกต่อไป
THAI พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพในการหารายได้ และความสามารถในการเดินหน้าชำระหนี้ได้ตามที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ โดยไม่เคยผิดนัดชำระ แต่ก็ยังมีการตั้งคำถามจากคนบางกลุ่มว่า เมื่อผลประกอบการ THAI ปัจจุบันพลิกฟื้นกลับมาทำกำไรอย่างสวยงามแล้ว เหตุใดจึงไม่รีบชำระหนี้ให้หมดโดยเร็ว ซึ่งผู้บริหาร THAI ยืนยันว่า บริษัทมีศักยภาพเพียงพอที่จะใช้หนี้ได้เร็วกว่าแผนฯ แต่เนื่องจากแผนฟื้นฟูได้กำหนดกรอบไว้อย่างชัดเจน
โดยแผนการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการมีจำนวนรวม 129,000 ล้านบาท แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้มีกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุน 100% ของมูลค่าหนี้สำหรับเจ้าหนี้ภาครัฐและ 24.5% ของมูลค่าหนี้สำหรับเจ้าหนี้สถาบันการเงินและผู้ถือหุ้นกู้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 รวมถึงเจ้าหนี้ดังกล่าวสามารถใช้สิทธิในการแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมและดอกเบี้ยตั้งพักใหม่เจ้าหนี้ตามแผนได้อีก หากเจ้าหนี้ที่มีสิทธิดังกล่าวใช้สิทธิในการแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมและดอกเบี้ยตั้งพักใหม่เจ้าหนี้ตามแผนทั้งหมด THAI จะมีมูลค่าหนี้คงเหลืออยู่ที่ 74,000 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าหนี้คงเหลือดังกล่าว แผนฟื้นฟูกิจการได้ระบุกำหนดการชำระหนี้ไว้อย่างชัดเจน โดยจะเริ่มชำระตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป
- โค้งสุดท้ายก่อนทะยาน
การบินไทยในยุคใหม่ ไม่ใช่แค่สายการบินที่เป็นที่ภาคภูมิใจของคนไทย แต่เป็นสายการบินที่มีความพร้อมในทุกด้านเพื่อแข่งขันกับสายการบินชั้นนำของโลก ความร่วมมือและความสนับสนุนจากเจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น พนักงาน และผู้ใช้บริการจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบินไทยประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูและเดินหน้าไปสู่การเป็นองค์กรที่เข้มแข็งและมีศักยภาพ
ปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่ THAI จะสิ้นสุดการฟื้นฟูกิจการและออกจากแผนฟื้นฟูกิจการและกลับเข้าสู่การซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อีกครั้ง หลังจากได้ดำเนินงานบรรลุผลสำเร็จตามแผนฟื้นฟูกิจการมาอย่างต่อเนื่องทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3.37 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565, การดำเนินธุรกิจจนทำให้ EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน ตั้งแต่ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567 เท่ากับ 31,599 ล้านบาท สูงกว่าที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้ที่ไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง
โดยเหลือเพียงการปรับโครงสร้างทุน ซึ่งขณะนี้ส่วนของผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 ยังคงติดลบ 27,825 ล้านบาท ซึ่งจะมีกระบวนการปรับโครงสร้างทุนเพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก ผ่านการแปลงหนี้เป็นทุน และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยจะต้องเสร็จสิ้นกระบวนการภายในเดือนธันวาคม 2567 และภายหลังจากการปรับโครงสร้างทุนแล้วเสร็จ THAI จะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นในช่วงไตรมาส 1 ปี 2568 เพื่อแต่งตั้งกรรมการใหม่ ถือว่าเป็นการบรรลุผลสำเร็จตามแผนฟื้นฟู
- แปลงหนี้เป็นทุน-เพิ่มทุน
ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ THAI กล่าวว่า ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2567 การบินไทยจะเริ่มกระบวนการปรับโครงสร้างทุน โดยเริ่มจากกระบวนการใช้สิทธิและแจ้งเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนสำหรับกลุ่มเจ้าหนี้ที่มีสิทธิ์ในการแปลงหนี้เป็นทุน และหลังจากนั้น จะเข้าสู่กระบวนการเสนอขายและจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน สำหรับกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม พนักงาน และนักลงทุนในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ ซึ่งความสำเร็จในการปรับโครงสร้างทุนครั้งนี้ จะทำให้การบินไทยมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง พร้อมที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนและสร้างความเชื่อมั่นในองค์กรในฐานะสายการบินที่คนไทยภาคภูมิใจ
THAI ทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อรองรับการแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูฯ เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 14,862,369,633 หุ้น ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น โดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 หรือ กระทรวงการคลัง จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างเต็มจำนวนในสัดส่วน 100% ขณะเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18 – 31 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างในอัตรา 24.50% ของมูลหนี้เงินต้นคงค้างทั้งหมด นอกจากนี้ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ยังสามารถใช้สิทธิแปลงหนี้เงินต้นคงค้างเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้เพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) จำนวนไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น และดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักไม่เกิน 1,903,608,176 หุ้น ตามลำดับ
ขั้นตอนถัดไป คือการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น รวมกับหุ้นที่เหลือจากการใช้สิทธิแปลงเงินต้นคงค้างเป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) จำนวนไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ THAI ก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานของ THAI และบุคคลในวงจำกัด (PP) ตามลำดับ โดยจะเสนอขายในราคาที่ผู้บริหารแผนกำหนด โดยต้องไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น ซึ่ง THAI ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลท.แล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567
- IFA ประเมินราคาเพิ่มทุน
บริษัท แคปปิตอล แอ๊ดแวนเทจ จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการประเมินมูลค่ายุติธรรมของ THAI ด้วยวิธี EV/EBITDA มูลค่ายุติธรรมภายหลัง Mandatory Conversion และบนสมมติฐานว่าจะมีการใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมเป็นทุนเพิ่มเติม (Voluntary Conversion) และการใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักของเจ้าหนี้เต็มจำนวน จะเท่ากับ 5.65 – 7.10 บาทต่อหุ้น อย่างไรก็ตามมูลค่ายุติธรรมที่ประเมินโดย IFA นี้ยังไม่ใช่ราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน เนื่องจากราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจะถูกกำหนดโดยผู้บริหารแผน โดยต้องไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น
THAI คาดว่าจะสามารถกำหนดราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนได้ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 และกระบวนการเสนอขายและจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนจะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2567 ซึ่งกระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการจะเสร็จสิ้นภายในปี 2567 หลังจากนั้น THAI จะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นในช่วงไตรมาส 2 ปี 2568 เพื่อแต่งตั้งกรรมการใหม่ และคาดว่า THAI จะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและนำหุ้นของ THAI กลับเข้าซื้อขายใน SET ได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2568
ภายหลังจากการบินไทยออกจากกระบวนการฟื้นฟู จะเป็นองค์กรที่เข้มแข็งกว่าเดิม ด้วยภาพลักษณ์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและบริการที่เป็นมาตรฐานระดับโลก การเดินทางในอนาคตของการบินไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่จะเป็นการพัฒนาต่อเนื่องที่เน้นความยั่งยืน ความโปร่งใส และการตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดีที่สุด
*หมายเหตุ: การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน