“7 อรหันต์” เคาะประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไร้ใบสั่งทางการเมือง
“7 อรหันต์” เคาะตั้ง “กิตติรัตน์” นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไร้ใบสั่งทางการเมือง
กระแสต่อต้าน “นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง” ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการแบงก์ชาติ ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) จากหลายฝ่าย ทั้งอดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ, นักวิชาการ, ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติเกือบ 1,000 คน ร่วมแสดงออกถึงการคัดค้าน
แต่ในที่สุด “7 อรหันต์” คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย นำโดย “นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์” เป็นประธาน ก็ได้ “ลงคะแนนลับ” เคาะชื่อเป็นที่เรียบร้อย โดยยังไม่เปิดเผย “ชื่อ” อย่างเป็นทางการ เตรียมส่งมอบให้ “นายพิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในวันอังคารที่ 19 พ.ย.นี้
โดยอำนาจของนายพิชัย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อได้รับรายชื่อดังกล่าวข้างต้นแล้ว สามารถเปิดเผยชื่อในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ทันที หรือจะส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบก่อนก็ได้ แต่ตำแหน่ง “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” ต้องนำเข้าที่ประชุมครม. ให้ความเห็นชอบ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ตามขั้นตอนต่อไป
ทว่าความเคลื่อนไหวล่าสุด “กิตติรัตน์” ได้แชร์รายงานข่าว ผลประชุมที่ชี้ชัดว่าชื่อตนเองนั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ บนเฟซบุ๊ก “Kittiratt Na Ranong” พร้อมระบุข้อความว่า “ทุกเสียงสนับสนุนคือกำลังใจ และทุกเสียงที่ติติงคัดค้านคือการเตือนใจ ให้คิดดี พูดดี และปฏิบัติดี”
ตำแหน่ง “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” คนที่ 5 แทนนายปรเมธี วิมลศิริ ถูกจับตาจากสาธารณชนอย่างเข้มข้น ทั้งเรื่องการทำงานจะราบรื่นหรือไม่ และการวางตัวของประธานจะวางบทบาทตัวเองอย่างไร
โดยเรื่องที่ถูกจับจ้อง อาทิ การหวังเข้ามาลบล้าง “ความอิสระ” ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยแก้กฎหมาย และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ให้ ธปท. เห็นไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาลมากขึ้น เช่น ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย, ดูแลเรื่องค่าเงินบาท และอีกเป้าหมายที่ถูกกล่าวถึงอย่างมาก คือ การล้วงทุนสำรองระหว่างประเทศที่ปัจจุบันมีอยู่จำนวนมากไปใช้ประโยชน์เอื้อภาครัฐสั่นคลอนหลักประกันทางเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างไรก็ตามในประเด็นเรื่อง “ทุนสำรอง” นั้น นายสถิตย์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ได้กล่าวในงาน ECONMASS TALK EP.1 เมื่อวันที่ 12 พ.ย.67 โดยสรุปว่า เรื่องของทุนสำรอง มีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า คณะกรรมการแบงก์ชาติ มีอำนาจหน้าที่ในการออกหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับบริหารจัดการทุนสำรอง มิได้มีอำนาจให้การบริการจัดการโดยตรง เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครจะเข้าไปเป็นประธานบอร์ดฯ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหรือที่เป็นอยู่แล้ว ก็จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ ซึ่งเมื่อดูเนื้อในแล้วก็เป็นการบริหารโดย ธปท. โดยผู้บริหาร ธปท. มิใช่ คณะกรรมการ ธปท. แต่ประการใด
ทั้งนี้คณะกรรมการ ธปท. สามารถแก้หลักเกณฑ์ได้แต่ต้องมีเหตุผลและจะต้องมีการหารือกับผู้บริหารธปท. ก่อน อีกทั้งต้องเปิดเผยหลักเกณฑ์ต่อสาธารณชน ถ้าแก้หลักเกณฑ์สุ่มเสี่ยงกับทุนสำรองจะมีประเด็นขัดแย้งขึ้นมา ก็จะต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ และหนักไปกว่านั้นคือสามารถแก้กฎหมายในการบริหารเรื่องต่าง ๆ ได้ แต่ส่วนตัวคิดว่าไม่มีใครทำ เพราะเป็นการกระทำที่จะต้องได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางต่อไปในอนาคต
“โดยที่เป็นบทบาทระหว่างการเมืองกับแบงก์ชาติ ซึ่งฝ่ายการเมืองก็จะต้องระมัดระวังอยู่แล้ว ในความคาดคะเนของผมก็คงไม่มีใครที่จะสุ่มเสี่ยงในการไปออกกฎหมายอะไรต่าง ๆ ที่ไปเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการบริหารทุนสำรองแต่ประการใด” นายสถิตย์ กล่าว
อีกประเด็นที่เป็นความกังวลเมื่อ “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” คนใหม่ ถูกมองว่าเป็นคนจากฝ่ายการเมือง คือการเข้ามาจัดการกับ ผู้ว่าฯ ธปท.
เรื่องนี้ นายสถิตย์ ยืนยันว่า ตำแหน่งผู้ว่าฯ ธปท. ไม่ได้ปลดง่ายเหมือนในอดีตที่เพียงเสนอครม. เท่านั้น ตั้งแต่มีการใช้ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อการธำรงไว้ซึ่ง “อิสระของธนาคารกลาง”
โดยการจะปลดมี 2 เรื่อง คือ 1. ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง 2. ปฏิบัติหน้าที่เสียหายอย่างร้ายแรงหรือหย่อนสมรรถภาพ อีกทั้งในกฎหมายกำหนดให้ระบุ “เหตุผล” เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนด้วย
“ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิสบายใจได้ ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิไม่ได้ประพฤติเสื่อมเสีย ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไม่ได้หย่อนสมรรถภาพ ไม่มีทางที่จะปลดได้”
อีกทั้งเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่จะต้องเป็นผู้เสนอ ครม. โดยการเสนอแนะจาก “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” เฉพาะเรื่องปฏิบัติหน้าที่เสียหายอย่างร้ายแรงหรือหย่อนสมรรถภาพ เป็นการคานและถ่วงดุลกัน
ต้องติดตามกันต่อไปว่าจากนี้เก้าอี้ “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” จะทำให้เรื่องการเงินของประเทศเป็นไปในทิศทางเช่นไรต่อไป