พาราสาวะถี
การเดินทางไปช่วยผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี ของพรรคเพื่อไทยหาเสียง วันที่สองวานนี้ (14 พฤศจิกายน) หากสังเกตสิ่งที่ ทักษิณ ชินวัตร พูดบนเวทีอาจเป็นการปลุกเร้า กระตุ้นให้คนอุดรฯ เลือกคนของพรรคแกนนำรัฐบาลในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น
การเดินทางไปช่วยผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี ของพรรคเพื่อไทยหาเสียง วันที่สองวานนี้ (14 พฤศจิกายน) หากสังเกตสิ่งที่ ทักษิณ ชินวัตร พูดบนเวทีอาจเป็นการปลุกเร้า กระตุ้นให้คนอุดรฯ เลือกคนของพรรคแกนนำรัฐบาลในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น แต่เนื้อหาสื่อไปถึงแนวทางการทำงานของรัฐบาลเพื่อที่จะแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญโดยเฉพาะเรื่องปากท้องของประชาชน น่าสนใจในประเด็น ที่อดีตนายกฯ บอกว่า ปลายปีนี้จะเห็นเศรษฐกิจคึกคักมากขึ้น เชื่อว่ากลางปีหน้าประชาชนจะเห็นแสงสว่าง และปลายปีหน้าจะรู้สึกว่าชีวิตดีขึ้นเยอะ
สอดรับกับการที่คณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มี แพทองธาร ชินวัตร เป็นประธาน จะมีการประชุมกันในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ หัวข้อหารือสำคัญคือ มาตรการแก้หนี้ครัวเรือนในส่วนของหนี้บ้าน รถ และหนี้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ซึ่ง พิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปรยมาแล้วว่า การปรับโครงสร้างหนี้จะเป็นการดำเนินการภายใต้ความตกลงของผู้กู้และผู้ให้กู้ ไม่ได้ไปถึงเรื่องของการแฮร์คัตแต่อย่างใด
มาตรการที่ปรากฏเป็นข่าวคือเรื่องการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือเอฟไอดีเอฟ เหลือ 0.23% ให้กับธนาคารพาณิชย์ เพื่อช่วยจ่ายดอกเบี้ยแทนกลุ่มหนี้เปราะบาง บ้าน รถ เอสเอ็มอี เป็นเวลา 3 ปี แม้ยังไม่มีการยืนยัน แต่ขุนคลังก็บอกเป็นนัยว่า อะไรที่เป็นเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ก็ต้องนำมาใช้ อีกเรื่องที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมหนีไม่พ้นการจ่ายเงินหมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2
อาจจะยังไม่มีบทสรุปในการประชุมหนนี้ แต่อย่างน้อยก็จะเห็นทิศทางว่า โครงการยังคงจะเดินหน้าหรือไม่ กลุ่มที่เคยลงทะเบียนไว้แล้ว รวมถึงกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟนอย่างน้อยจะได้รู้ว่า รัฐบาลจะเริ่มดำเนินการเรื่องนี้ช่วงเวลาใด จ่ายเงินแบบไหน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฟังจากที่ทักษิณปราศรัยถือเป็นเครื่องมือที่แพทองธารจะต้องเร่งรัดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม สร้างความสุขให้ประชาชน เพิ่มความมั่นคงในเสถียรภาพของรัฐบาล
อีกประการที่น่าจะได้เห็นจากคำปราศรัยของทักษิณคือ การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการผูกขาดทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการผูกขาดโดยรัฐก็ดี หรือผูกขาดโดยเอกชนก็ดี เพราะถือเป็นต้นตอที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ยากจน การผูกขาดเหมือนเป็นเสือนอนกิน ไปสร้างภาระ เพิ่มต้นทุนให้กับประชาชน และผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย บางอย่างมีการใช้กฎหมายที่มีมานานเหมือนที่อดีตนายกฯ ยกตัวอย่างว่า ใช้ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ยุคสมัยเปลี่ยนไปขนาดนี้ควรต้องเปลี่ยนไปได้แล้ว
ไม่เพียงเท่านั้น นายใหญ่ยังเรียกร้องไปยังพรรคแกนนำฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชน แทนที่จะผุดไอเดีย ออกกฎหมายใหม่ ควรจะหันมานำเสนอยกเลิกกฎหมายเก่าที่เป็นปัญหากับประชาชนดีที่สุด มีการตั้งคำถามว่าวันนี้แข่งกันออกกฎหมายใหม่ แข่งกันไปทำไม ตรงนี้ทักษิณปราศรัยด้วยวลีที่ดุเด็ดเผ็ดมันว่า “กฎหมายเก่าเฮงซวยกันเยอะแยะ ก่อนสร้างสิ่งใหม่ เอาสิ่งเฮงซวยออกไปก่อน ล้างซวย” วันนี้ต้องเลิกดัดจริต ต้องอยู่กับความเป็นจริงว่าบ้านเมืองต้องการการพัฒนาสูงมาก
แน่นอนว่า มีการกระทุ้งถึงความเสียหายจากผลพวงของการยึดอำนาจ นำมาซึ่งการผูกขาด ด้วยการชี้ให้เห็นว่า ระบบราชการเทอะทะควบคุมมากเกินไป ไม่ไว้ใจประชาชน ทั้งที่ความจริงแล้วประชาชนสามารถช่วยตัวเอง และตัดสินใจเองได้ ประเทศจะเจริญได้ต้องลดอำนาจภาครัฐ เพิ่มอำนาจให้ภาคประชาชน เพื่อป้องกันเรื่องโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกัน ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำถือเป็นจุดบอดของเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ถูกโจมตีว่า อาสาจะเข้ามาแก้ไขแต่ทำไปทำมากลับยิ่งมีระยะห่างเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การสร้างความเท่าเทียมในมุมของทักษิณ ที่เห็นว่าเพื่อไทย กับพรรคประชาชนนั้นมีความแตกต่างกันนั่นก็คือ พรรคสีส้มบอกว่าทุกคนเท่ากัน ทั้งฐานะ หรือสถานะ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่พ่อจะเท่ากับลูก แต่พรรคเพื่อไทยมองว่าเป็นความเท่าเทียมทางโอกาส จึงพยายามอย่างยิ่งที่จะให้คนยากจนมีโอกาสเท่าเทียมกัน การพูดของอดีตนายกฯ ย่อมได้รับความเชื่อถือจากประชาชนได้ เพราะโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคถือเป็นตัวอย่างที่ทำให้คนไทยได้เข้าถึงระบบสาธารณสุข การรักษาพยาบาล อย่างทั่วถึง
ขณะเดียวกัน ปัญหาเรื่องที่ถูกร้องเรียนทั้งตนเองและรัฐบาล รวมไปถึงพรรคเพื่อไทยนั้น หากไม่ใช่กลอนพาไป น่าจะเป็นการตอกย้ำถึงความเชื่อที่ว่า การใช้นิติสงครามเป็นเรื่องที่ไม่ได้สร้างความหนักใจ หรือหวั่นไหวให้กับฝ่ายกุมอำนาจ โดยทักษิณชี้ว่า อิจฉาอะไรก็ไม่รู้ มาทำให้การช่วยเหลือบ้านเมืองนั้นทำได้ยาก หาว่าครอบงำ นักร้องก็เยอะ ไม่รู้ร้องอะไรนักหนา มีวรรคทองด้วยว่า “แม้จะโดนร้องโดนเห่าหอนบ้าง โอ้ย ธรรมดาพี่น้องเอ้ย เวลาไปวัดกลางคืน กลับบ้านมาหมาก็เห่าหอนเป็นธรรมดา อย่าไปพยายามตีความว่ามันเห่ายังไง อย่าไปใส่ใจ หมาอยู่ส่วนหมา คนก็อยู่ส่วนคน”
การหวนคืนเวทีปราศรัยของนายใหญ่บอกได้คำเดียวว่า ลีลา ความห้าวหาญยังไม่เปลี่ยนแปลง ต้องรอดูช่วงโค้งสุดท้ายว่า มีโอกาสที่จะได้ขึ้นไปหาเสียงพร้อมลูกสาวหรือไม่ ด้วยย่างก้าวที่เต็มไปด้วยความระมัดระวังจึงไม่น่าจะเป็นไปได้ สิ่งไหนเป็นการลดความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อเก้าอี้นายกฯ และสะเทือนต่อการทำงานของรัฐบาลต้องหลีกเลี่ยง แค่นี้ก็เชื่อได้ว่าฝ่ายตรงข้าม พวกขาประจำ กำลังหาช่องที่จะเล่นงานอยู่ เหมือนที่เจ้าตัวบอกบางกฎหมายคนจะเขียนก็เอารูปตนตั้งไว้แล้วบอกว่า “กูจะจัดการมันอย่างไรดี”
ประเทศกูมีก็เป็นแบบนี้ เพียงแต่ว่าหลังเกิดรัฐบาลพลิกขั้ว พวกที่เคยเลือกข้าง แบ่งขั้วจำนวนไม่น้อยก็เกิดการพลิกตัวขนานใหญ่ กลไกที่ออกแบบเพื่อใช้เป็นเครื่องมือจัดการระบอบทักษิณและเครือข่าย จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพราะมีโอกาสเจอตอสูง จะเห็นได้ว่าจากที่เคยดำเนินการเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ชนิดรวดเร็วทันใจ บางกรณีแซงหน้าเรื่องอื่นอย่างทุเรศทุรัง มาวันนี้อ้างขั้นตอนว่าตามกระบวนการ จนพวกกองแช่ง ขาประจำต้องไปกระทุ้ง เท่านี้ก็รู้แล้วว่า อะไรที่เคยง่ายได้ดั่งใจไม่ได้เป็นเหมือนเดิมอีกแล้ว
อรชุน