รักชาติหรือคลั่งชาติ

มาตรการวัด 1 ไมล์ทะเล = 1.852 กิโลเมตร พื้นที่ทะเลอ่าวไทยแคบนิดเดียว ไม่ว่ารัฐใด (ไทย-เขมร) จะอ้างสิทธิ์อาณาเขต 12 ไมล์ทะเลหรือ 200 ไมล์ทะเล ก็ต้องเจอปัญหาพื้นที่ทับซ้อนด้วยกันทั้งสิ้น


มาตรการวัด 1 ไมล์ทะเล = 1.852 กิโลเมตร พื้นที่ทะเลอ่าวไทยแคบนิดเดียว ไม่ว่ารัฐใด (ไทย-เขมร) จะอ้างสิทธิ์อาณาเขต 12 ไมล์ทะเลหรือ 200 ไมล์ทะเล ก็ต้องเจอปัญหาพื้นที่ทับซ้อนด้วยกันทั้งสิ้น

เขมรอ้างไทยก็มีสิทธิ์จะคิดว่า “คุณล้ำแดนผม” ส่วนหากไทยอ้างเขมรก็มีสิทธิ์คิดแบบใจเขาใจเราเช่นกันว่า “ไทยล้ำแดนเขมร” กำเนิดพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ก็เกิดมาจากผู้นำเขมรยุคลอน นอล ขีดเส้นอาณาเขตทางทะเลฝ่ายเดียวในปี 2515 และปี 2516 ต่อมาสมัยจอมพลถนอม ก็ได้ขีดเส้นอาณาเขตทางทะเล คร่อมเส้นที่เขมรขีด จึงเกิดเป็นพื้นที่ทับซ้อน (Overlapping Claim Area) คิดเป็นพื้นที่ 2.6 หมื่นตร.กม.ในอ่าวไทย

ทั้งประเทศไทยและกัมพูชาต่างเป็นประเทศนำเข้าปิโตรเลียมด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งกัมพูชาต้องนำเข้าเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนของไทย สัดส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งมีราคาแพงกว่าก๊าซจากแหล่งในประเทศ ปัจจุบันต้องนำเข้าในระดับ 33% และนับวันมีแต่จะนำเข้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากก๊าซที่ขุดได้ในอ่าวไทย มีปริมาณลดลงมาก

คงไม่ต้องถามถึงความจำเป็นและความต้องการทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชาให้มากความ!

ทุกวันนี้ กฟผ.ก็ยังเป็นหนี้ค่าก๊าซปตท.กว่า 1 แสนล้านบาทในการตรึงราคาค่ากระแสไฟฟ้าให้อยู่ในระดับ 4.10 บาท/หน่วย หากมีแหล่งผลิตเพิ่มขึ้นในพื้นที่ทับซ้อน ก็จะทำให้ต้นทุนในการผลิตกระแสไฟฟ้าต่ำลง นอกจากนั้นต้นทุนการผลิตปิโตรเคมีก็จะต่ำลงด้วย เนื่องจากเป็นแหล่งที่อยู่ในอ่าวไทย ซึ่งมีธรรมชาติเป็นก๊าซเปียก สามารถนำมาเข้าโรงแยกก๊าซเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงและปิโตรเคมีได้

การนำเข้าก๊าซ LNG ในสัดส่วนที่สูง รัฐก็จะสูญเสียรายได้จากค่าภาคหลวงและภาษีปิโตรเลียมไปด้วย ไม่เหมือนกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ

แม้จะยังไม่มีผลสำรวจทั้งปริมาณและมูลค่าที่แน่นอน แต่จากการที่พื้นที่ทับซ้อนมีทำเลใกล้เคียงกับแหล่งเอราวัณไม่ถึง 100 กิโลเมตร จึงน่าเชื่อว่า จะพบแหล่งก๊าซเช่นเดียวกับที่พบในแหล่งเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งปิโตรเลียมใหญ่ที่สุดของประเทศแน่นอน

ผู้เชี่ยวชาญน้ำมันของไทย ประเมินมูลค่าทรัพยากรน้ำมันและก๊าซจะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 5 ล้านล้านบาท ส่วนพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและรัฐมนตรีว่ารกระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบัน ประเมินมูลค่าอาจจะถึง 10 ล้านล้านบาท อันจะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

ปตท.สผ. ก็มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการเข้าดำเนินงาน เพราะสามารถใช้ท่อส่งก๊าซเครือข่ายเอราวัณ ซึ่งอยู่ใกล้ชิดติดกันอยู่แล้ว และหากในระดับรัฐบาล สามารถเจรจาตกลงเรื่องการพัฒนาเขตทับซ้อนกันได้ ทางปตท.สผ. ก็เชื่อว่าจะสามารถขุดก๊าซขึ้นมาได้ภายในระยะเวลา 5 ปี

ความกลัวว่า หากตกลงเรื่องพื้นที่ทับซ้อน จะทำให้ไทยสูญเสียเกาะกูดไปโดยปริยาย เพราะเท่ากับไปยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเล ที่เขมรขีดขึ้นมาฝ่ายเดียว น่าจะเป็นวิตกจริตที่เกินเหตุ เพราะมีสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยาม ปี ค.ศ. 1907 ให้การยอมรับเป็นลายลักษณ์อักษรไว้แล้ว อีกทั้งในทางปฏิบัติ เกาะกูดก็อยู่ในความครอบครองของไทยโดยปราศจากการรบกวนจากฝ่ายเขมรตลอดมา

เรื่องเขตแดนเป็นเรื่องยากและต้องอาศัยเวลา สถานการณ์ปัจจุบันทั้งในเรื่องโรคร้อนและความมั่นคงทางพลังงาน บีบรัดให้ทั้งฝ่ายเขาฝ่ายเรา ต้องตัดสินใจแล้วล่ะว่าจะจัดการขุมทรัพย์ใต้ทะเลชิ้นนี้อย่างไร

ปัญหาเขตแดนก็เจรจากันไป ยุติกันได้เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น แต่การพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนก็ควรต้องทำควบคู่กันไปด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการละทิ้งโอกาสในการดูแลประชาชนอย่างน่าเสียดาย อันไม่ใช่เรื่อง “ขายชาติ” แต่ประการใด

ชาญชัย สงวนวงศ์

Back to top button