APO กวาดกำไร Q3 โต 4 เท่าตัว รับรายได้ธุรกิจ “น้ำมันปาล์มดิบ” พุ่ง หนุนปีนี้แตะ 1.8 พันล.
APO โชว์ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2567 กวาดกำไรสุทธิ 46.14 ล้านบาท เติบโต 406.62% ชูกลยุทธ์บริหารซัพพลาย คีย์ไดเวอร์ดันรายได้ธุรกิจน้ำมันปาล์มดิบพุ่ง หนุนผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรก มีกำไรสุทธิ 111.93 ล้านบาท เติบโต 668.67% เดินแผนโค้งสุดท้ายมุ่งรักษาโมเมนตัมการเติบโต ชูกำลังการผลิตน้ำมันปาล์มดิบพร้อมรับไฮซีซั่นดีมานด์ทะลัก เผยสัญญาณราคาน้ำมันปาล์มดิบพุ่งหนุนการเติบโต มั่นใจดันรายได้ปีนี้แตะ 1,800 ล้านบาท โต 20-30%
นายสิทธิภาส อุดมผลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียนน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ APO ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจสกัดน้ำมันปาล์มดิบ จำหน่ายผลิตภัณฑ์หลักจากการสกัดน้ำมันปาล์มดิบและผลพลอยได้ ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพเพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2567 บริษัทฯ ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยทำกำไรสุทธิ 46.14 ล้านบาท เติบโต 406.62% และมีรายได้จากการดำเนินงาน 589.03 ล้านบาท เติบโต 43.70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยปัจจัยการเติบโตมาจากธุรกิจน้ำมันปาล์มมีรายได้ 584.14 ล้านบาท เติบโต 43.20% เนื่องจากวางกลยุทธ์ บริหารจัดการซัพพลายในสถานการณ์ที่ปริมาณทะลายปาล์มลดลงตามฤดูกาล ภายใต้โครงการตัดสุก มีสุข (AsianPlus+) ที่มีการคัดเลือกทะลายปาล์มที่มีคุณภาพ ส่งผลให้อัตราในการสกัดน้ำมันปาล์มดิบสูงขึ้น อีกทั้งราคาน้ำมันปาล์มดิบ โดยเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้น
ภาพรวมผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 111.93 ล้านบาท เติบโต 668.67% และมีรายได้รวม 1,522.02 ล้านบาท เติบโต 32.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรายได้หลักมาจากการธุรกิจน้ำมันปาล์ม 1,511.32 ล้านบาท เติบโต 32.10% โดยมาจากปริมาณการขายน้ำมันปาล์มดิบ เพิ่มขึ้นเป็น 38,719 ตัน จาก 31,887 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบที่เพิ่มขึ้น และการขยายตัวของภาคขนส่ง ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น รวมทั้งอัตราการบริโภคน้ำมันปาล์มในอุตสาหกรรมอาหารที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
สำหรับกำไรขั้นต้นงวด 9 เดือน 74.24 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 197.38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยหลักจากรายได้จากการขายน้ำมันปาล์มดิบที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาขาย น้ำมันปาล์มดิบที่สูงขึ้นเป็นหลักประกอบกับมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง จากการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) สะท้อนให้เห็นถึง ผลสำเร็จจากการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถรักษากำไรขั้นต้นได้ แม้ในภาวะที่ต้นทุนวัตถุดิบหรือทะลายปาล์มดิบปรับตัวสูงขึ้น
นายสิทธิภาส กล่าวอีกว่า แผนธุรกิจในไตรมาส 4 ของปี 2567 มุ่งสร้างโมเมนตัมการเติบโต โดยเน้นการบริหารจัดการซัพพลายการจัดซื้อทะลายปาล์มสด ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง และรักษากำลังการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ อยู่ในระดับเท่าเดิม รองรับกับดีมานด์ของน้ำมันปาล์มดิบจากการท่องเที่ยว ในช่วงเทศกาลทั้งในและต่างประเทศที่มากขึ้น โดยคาดการณ์ความต้องการน้ำมันปาล์มดิบในอุตสาหกรรมไบโอดีเซล สำหรับการใช้เดินทางและในอุตสาหกรรมอาหารจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบคาดการณ์ว่ามีแนวโน้ม จะปรับเพิ่มขึ้นจาก 38 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 47 บาทต่อ กิโลกรัม ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งเป็นไปตามการปรับราคาของตลาดโลกที่มาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น มั่นใจวางแผนกลยุทธ์บริหารซัพพลายแข็งแกร่ง ผลักดันให้รายได้ปี 2567 ถึงเป้าที่ 1,800 ล้านบาท ชูเติบโต 20-30%