น้ำมันพุ่ง ดอลลาร์อ่อนพลวัต 2016
ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกพุ่งขึ้น ฝ่าแนวต้านกลับมายืนแข็งแกร่ง ด้วยเหตุผล 2 ประการทั้งที่มีตัวเลขสต๊อกน้ำมันในปัจจุบันของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น คือ ดอลลาร์อ่อนลงเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ และ ข่าวเกี่ยวกับการหาทางเจรจาเพื่อลดกำลังการผลิตน้ำมันของชาติส่งออกน้ำมันทั้งในและนอกโอเปก
วิษณุ โชลิตกุล
ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกพุ่งขึ้น ฝ่าแนวต้านกลับมายืนแข็งแกร่ง ด้วยเหตุผล 2 ประการทั้งที่มีตัวเลขสต๊อกน้ำมันในปัจจุบันของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น คือ ดอลลาร์อ่อนลงเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ และ ข่าวเกี่ยวกับการหาทางเจรจาเพื่อลดกำลังการผลิตน้ำมันของชาติส่งออกน้ำมันทั้งในและนอกโอเปก
เรื่องแรกไม่ใช่ของแปลก เมื่อวานนี้ ค่าดอลลาร์เทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ทำนิวโลว์ในรอบ 2 สัปดาห์จากคาดการณ์ การคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และถูกกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐฯ
การปรับตัวลงของดอลลาร์ได้ปรับต่ำลง หลังจากที่ได้พุ่งขึ้นจากการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จากแรงกดดันที่ว่า สภาวะทางการเงินมีการตึงตัวอย่างมากในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นับตั้งแต่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม และเฟดจะต้องพิจารณาปัจจัยดังกล่าว
คำพูดดังกล่าว ถูกตีความจากตลาดว่า เป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดอาจจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะผันผวนในตลาดการเงิน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศ
การที่เงินดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นเงินสกุลกลางที่ใช้ซื้อขายน้ำมัน และค่าดอลลาร์จะสวนทางกับราคาน้ำมันเสมอโดยตลอด ดังนั้นเมื่อดอลลาร์อ่อนค่าลง ราคาน้ำมันก็ดูดีขึ้นสวนทางกัน
ส่วนเรื่องการเจรจากันระหว่างรัสเซียกับกลุ่มโอเปกนั้น แม้ว่าจะมีคนมองว่าเป็นเพทุบายปั่นราคาของฝ่ายรัสเซียเองที่โอเปกยังไม่ได้ขานรับ แต่การส่งสัญญาณเอาจริงเอาจังจากรัสเซียว่า พร้อมเจรจาจากหลายรูปแบบเพื่อแก้ปัญหาน้ำมันล้นตลาดโลกยามนี้ ก็ทำให้บรรยากาศของตลาดน้ำมันดูดีขึ้น
ล่าสุดวานนี้ นายยูโลจิโอ เดล ปิโน รมว.น้ำมันของเวเนซุเอลา กล่าวว่า เขาได้มีการประชุมที่สร้างสรรค์กับรัฐมนตรีน้ำมันจากกาตาร์ ซึ่งเป็นประธานกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ในปีนี้ แม้จะไม่ได้ระบุรายละเอียดของการประชุมดังกล่าวแต่อย่างใด แต่สำนักข่าวของอิหร่านรายงานโดยอ้างคำพูดของนายเดล ปิโน ว่า กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันจำนวน 6 ประเทศ เช่น อิรัก, อิหร่าน, โอมาน และรัสเซีย ต่างสนับสนุนให้มีการจัดประชุมของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อหารือภาวะราคาที่กำลังตกต่ำในขณะนี้
แม้ว่าในชั้นต้น จะยังไม่มีปฏิกิริยาใดจากการที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันจากอ่าวอาหรับซึ่งรวมถึง ซาอุดีอาระเบียออกมาประกาศสนับสนุนการจัดประชุมดังกล่าวอย่างเปิดเผย แต่ก็ทำให้ตลาดเชื่อได้ว่า เรื่องที่อาจจะเป็นไปไม่ได้นั้น อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน
ความหวังที่แม้จะเลื่อนลอยก็ยังคงช่วยในทางจิตวิทยาต่อตลาดน้ำมัน เพราะสามารถสกัดปัจจัยลบจากรายงานที่ระบุว่า สต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯพุ่งขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว จากตัวเลขของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ที่ระบุว่า สต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐฯในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 29 ม.ค. เพิ่มขึ้น 7.8 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 502.7 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนสต๊อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 5.9 ล้านบาร์เรล
ในระยะสั้น ยังไม่มีคนวางใจว่าจะมีการเจรจาดังกล่าวเกิดขึ้นได้ เพราะโอกาสค่อนข้างริบหรี่ โดยที่ มอร์แกน สแตนเลย์ วาณิชธนกิจสหรัฐฯ ระบุว่า พร้อมจะปรับลดคาดการณ์ราคาเฉลี่ยของน้ำมันดิบเบรนท์ในปีนี้ สู่ระดับ 30 ดอลลาร์/บาร์เรล จากเดิมที่ระดับ 49 ดอลลาร์/บาร์เรล เพราะคาดว่า ภาวะราคาน้ำมันต่ำจะยังคงดำเนินไปยาวนานกว่าที่คาดไว้
การวิเคราะห์ข้างต้น ขัดแย้งกับนักวิเคราะห์ของสำนัก โกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนกิจชื่อดังของสหรัฐฯอีกรายที่วิเคราะห์สถานการณ์ใหม่ ว่า เนื่องจากการลงทุนสำรวจขุดเจาะและการปิดหลุมในหลายประเทศ โดยเฉพาะทวีปอเมริกาเหนือที่ลดลงต่อเนื่องเพราะต้นทุนสูงลิ่ว จะทำให้ปลายปีนี้ อุปทานและอุปสงค์ตลาดที่เปลี่ยนไป จะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น 50% จากระดับปัจจุบัน 30 ดอลลาร์ ไปที่ระดับ 45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ในสิ้นปีนี้
ความขัดแย้งของการประเมินดังกล่าว รวมทั้งการที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสวนทางกับดอลลาร์ที่อ่อนยวบยามนี้ ก็ถือเป็นข่าวดีที่ทำให้บรรยากาศเรื่องร้ายที่ครอบงำการลงทุนในตลาดหุ้นสดใสขึ้นในช่วงสั้นๆ เพราะราคาน้ำมันถือเป็นปัจจัยตรงที่ส่งผลสะเทือนต่อตลาดหุ้นได้ง่ายมาก
โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยนั้น ราคาน้ำมันบวก และดอลลาร์อ่อน ถือเป็นข่าวดีทั้งสิ้น