“สภาพัฒน์” คาดเศรษฐกิจไทยปี 68 โต 2.8%! หวั่น “ทรัมป์ 2” ซ้ำรอยสงครามการค้า
สภาพัฒน์ คาดเศรษฐกิจไทยปีหน้า จะขยายตัวช่วง 2.3-3.3% พร้อมจับตานโยบายกีดกันทางการค้า "ทรัมป์ 2" ใกล้ชิด หวั่นสงครามการค้ากระทบธุรกิจในไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 พ.ย. 67) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) หรือ สภาพัฒน์ กล่าวว่า คาดปี 2568 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัว ช่วง 2.3-3.3% ค่ากลางประมาณ 2.8% โดยประเมินบนความเสี่ยงของความผันผวนที่จะเข้ามา ปัจจัยสนับสนุนปีหน้าการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐจะยังคงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การฟื้นตัวการท่องเที่ยว และการขยายตัวของการส่งออกโดยเฉพาะสินค้า อิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่เงินเฟ้อ คาดว่าจะอยู่ที่ 0.3-1.3 % และดุลบัญชีเดินสะพัด จะยังคงเกินดุลที่ 2.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
เลขาธิการ สคช. กล่าวอีกว่า ความเสี่ยงของปีหน้าที่สำคัญ คือ ความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจากไทม์ไลน์ที่เกี่ยวกับการกีดกันทางการค้า พบว่าสมัย “ทรัมป์ 1” มาตรการต่าง ๆ ออกมาช่วงเดือน มี.ค.60 และทางจีนก็มีการตอบโต้เช่นกัน ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะเริ่มได้รับผลกระทบในช่วงปี 62-63 แต่สมัย “ทรัมป์ 2” อาจไม่เหมือนในสมัยแรก เพราะมีข้อมูลต่าง ๆ แล้ว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการส่งออกของไทย ช่วงไตรมาส 1 ต่อเนื่องไตรมาส 2 ยังดำเนินต่อไปได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความรุนแรงของมาตรการจากสหรัฐฯ ที่จะออกมา และดูในรายละเอียดอีกครั้งว่า สินค้าประเภทไหนจะได้รับผลกระทบ ซึ่งแน่นอนว่าจะสร้างความผัวผวนต่อเศรษฐกิจโลก และอัตราแลกเปลี่ยนในปีหน้า
นอกจากนี้ นายดนุชา ได้กล่าวถึงมาตรการที่รัฐบาลแจกเงินหมื่นให้กับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการและผู้พิการ ในเฟสแรกว่า เนื่องจากเป็นการโอนในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก.ย.67 เพราะฉะนั้นเงินส่วนนี้จะมีผลในไตรมาส 4 ของปี 2567 ส่วนปีหน้าต้องดูตามช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ในวันพรุ่งนี้ (19 พ.ย.67) ซึ่งต้องดูตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ ประกอบกันด้วย
“ปีหน้าความเสี่ยงต่าง ๆ ก็น่าจะมีมากขึ้น เพราะฉะนั้นการใช้จ่ายงบประมาณไปเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ คงต้องมีการพุ่งเป้าที่ตรงเป้ามากขึ้น คงต้องมีการพูดคุยที่ต่อเนื่องอีกทีหนึ่ง” นายดนุชา กล่าว
ส่วนหนี้ครัวเรือนในปี 2568 นายดนุชา มองว่า ปีหน้าหนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง เพราะหนี้ครัวเรือนเมื่อเกิดขึ้นแล้วลดยาก ต้องดูมาตรการที่จะออกมาช่วยการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนจะมีประสิทธิผล แต่เท่าที่ทำกันอยู่ตอนนี้ก็คาดว่าจะช่วยได้ระดับหนึ่งทีเดียว ส่วนนโยบายการเงิน เป็นเรื่องของทางธนาคารแห่งประเทศไทย
สำหรับแนวทางการแจกเงินหมื่นในกลุ่มผู้สูงอายุถ้าทันปีนี้จะช่วยหนุน GDP เกิน 2.60% หรือไม่ เลขาธิการ สคช. กล่าวว่า ต้องดูจำนวนผู้สูงอายุว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งรายละเอียดตรงนี้ต้องพูดคุยกันก่อน โดยเงินหมื่นในเฟสแรก เงินจะเข้าระบบไปในไตรมาส 4 อย่างไรก็ตามต้องสำรวจการใช้จ่ายว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เท่าไร เพราะเรื่องนี้ต้องดูรูปแบบการใช้จ่ายเพิ่มด้วย ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงการคลัง สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสภาพัฒน์ กำลังสำรวจ เพราะจ่ายเป็นเงินสด จะประเมินได้ค่อนข้างยากว่าไปใช้จ่ายอะไรบ้าง ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากพอสมควรเพื่อเป็นตัวแทนว่ามีการใช้จ่ายอะไร และส่งผลอะไรต่อเศรษฐกิจไทยบ้าง