BAY สินเชื่อหดตัว-NPL เพิ่มขึ้น
BAY โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 1.ธุรกิจขนาดใหญ่ 35.37% แบ่งเป็น 1.1 บรรษัทไทย 23.71% 1.2 บรรษัทญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC) 11.66%
คุณค่าบริษัท
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 1.ธุรกิจขนาดใหญ่ 35.37% แบ่งเป็น 1.1 บรรษัทไทย 23.71% 1.2 บรรษัทญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC) 11.66% 2.ธุรกิจ SME 17.54% 3.สินเชื่อรายย่อย 47.09% 3.1 สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 20.81% 3.2 สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 12.91% 3.3 สินเชื่อบัตรเครดิต, สินเชื่อบุคคล และอื่น ๆ 8.37% 3.4 สินเชื่ออาเซียน 5% (สัดส่วนสินเชื่อรายใหญ่ + สินเชื่อ SME รวม 52.91%, สินเชื่อรายย่อย 47.09%)
BAY รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2567 มีกำไรสุทธิ 7,672.20 ล้านบาท ลดลง 5.23% จากไตรมาส 3/2566 และลดลง 6.54% จากไตรมาส 2/2567 ที่มีกำไรสุทธิ 8,208.93 ล้านบาท กำไรไตรมาส 3 สอดคล้องกับคาดการณ์ของตลาด โดยกำไรลดลงเมื่อเทียบไตรมาส 2/2567 เนื่องจากสินเชื่อรวมที่ลดลง, อัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ลดลง และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ที่สูงขึ้น ส่วนกำไรที่ลดลงเมื่อเทียบไตรมาส 3/2566 ปัจจัยหลักมาจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (credit cost) ที่สูงขึ้น 0.48% ซึ่งสอดคล้องกับ NPL ที่เพิ่มขึ้น 26% จากไตรมาส 3/2566
กำไรจากการดำเนินงานก่อนตั้งสำรอง (PPOP) ไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ 1.86 หมื่นล้านบาท ลดลง 6% จากไตรมาส 2/2567 แต่เพิ่มขึ้น 11% จากไตรมาส 3/2566 เป็นไปตามที่บล.กสิกรไทย คาดการณ์ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (non-NII) ที่อ่อนแอลง เป็นตัวฉุดการเติบโตของ PPOP เมื่อเทียบไตรมาส 2/2567 โดย non-NII ลดลง 1% จากไตรมาส 2/2567 (แต่เพิ่มขึ้น 18% จากไตรมาส 3/2566) รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิลดลง 2% จากไตรมาส 2/2567 ด้านพอร์ตสินเชื่อรวมไตรมาส 3/2567 ลดลง 3% เมื่อเทียบไตรมาส 2/2567 และลดลง 4% เมื่อเทียบไตรมาส 3/2566 มาอยู่ที่ 1.93 ล้านล้านบาท เนื่องจากสินเชื่อลดลงในทุกกลุ่ม โดยสินเชื่อภาคธุรกิจลดลง 3.7% จากไตรมาส 2/2567 ตามมาด้วยสินเชื่อรายย่อยที่ลดลง 3.6% และสินเชื่อ SME ลดลง 1.4% ส่วน NIM ไตรมาส 3/2567 ปรับตัวลดลง 0.05% จากไตรมาส 2/2567 เนื่องจากอัตราผลตอบแทนจากสินเชื่อที่ลดลง 0.16% จากไตรมาส 2/2567 จากการปรับสมดุลพอร์ตสินเชื่อ
สัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL ratio) ของ BAY อยู่ที่ 3.9% เพิ่มขึ้น 0.20% จากไตรมาส 2/2567 และ 0.90% จากไตรมาส 3/2566 ซึ่งสูงกว่าที่บล.กสิกรไทย คาดไว้ 0.10% NPL ratio เพิ่มขึ้นในไตรมาส 3/2567 โดยมีสาเหตุหลักมาจาก NPL ratio ที่สูงขึ้นจากกลุ่มสินเชื่อ SME มาที่ 6.0% จาก 5.6% ในไตรมาส 2/2567 และสินเชื่ออาเซียนมาที่ 15.7% จาก 14.3% ในไตรมาส 2/2567 ขณะที่ NPL ratio ของสินเชื่อเช่าซื้อ, การจำนอง และสินเชื่อธุรกิจค่อนข้างคงที่ ส่งผลให้อัตราสำรองต่อหนี้สูญ (coverage ratio) ลดลงเหลือ 121% จาก 125% ในไตรมาส 2/2567 ด้านอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ เพิ่มขึ้น 1.06% จากไตรมาส 2/2567 (ลดลง 0.59% จากไตรมาส 3/2566) มาที่ 45.14%
ข้อมูลจาก IAA Consensus สำหรับ BAY ระบุว่า ประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 ที่ 31,312.58 ล้านบาท และประมาณการกำไรสุทธิปี 2568 ที่ 33,817.76 ล้านบาท โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 26.94 บาท จาก 4 โบรกเกอร์
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุว่า สำหรับไตรมาส 4/2567 คาดว่ากำไรของ BAY จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบไตรมาส 3/2567 และเทียบไตรมาส 4/2566 สำหรับในปี 2568 คาดว่ากำไรจะอยู่ในระดับทรงตัว ซึ่งเป็นผลมาจากสินเชื่อที่เติบโต 3% NIM ที่แคบลง 0.07%, รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (non-NII) ที่เติบโต 4%, credit cost ที่ลดลง 0.10% และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ที่สูงขึ้น โดยคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2567 ที่ 31,098 ล้านบาท และกำไรสุทธิปี 2568 ที่ 31,381 ล้านบาท
สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น BAY ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 19 พ.ย. 2567 ที่ 25.25 บาท) เทรดที่ P/E 5.96 เท่า ต่ำกว่า P/E กลุ่มธนาคารที่ 7.61 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น BAY อยู่ที่ 0.48 เท่า ต่ำกว่า P/BV กลุ่มธนาคารที่ 0.66 เท่า