“ต่างชาติ” ลงทุนไทย 10 เดือนทะลุ 1.6 แสนล้าน “ญี่ปุ่น” ครองแชมป์ 9.1 หมื่นลบ.

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยตัวเลข “ต่างชาติ” ลงทุนไทย 10 เดือน ปี 67 ทะลุ 1.61 แสนล้านบาท ฟาก ญี่ปุ่น ครองแชมป์อันดับ 1 ลงทุนกว่า 211 ราย มูลค่า 9.1 หมื่นล้านบาท ฝั่ง “จีน” รั้งอับดับสุดท้ายลงทุน 1.3 หมื่นล้านบาท


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เปิดเผยว่า ช่วง 10 เดือนของปี 2567 (มกราคม-ตุลาคม) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 786 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 181 ราย

รวมถึงการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 605 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 161,169 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 3,037 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. ญี่ปุ่น 211 ราย คิดเป็นร้อยละ 27 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 91,700 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

– ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์

– ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศเพื่อจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วน สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

– ธุรกิจโฆษณา

– ธุรกิจบริการให้ใช้แอปพลิเคชัน

– ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (อาทิ ชิ้นส่วนสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานพาหนะ ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ)

  1. สิงคโปร์ 110 ราย คิดเป็นร้อยละ 14 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 14,779 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

– บริการทางวิศวกรรมและเทคนิคในด้านต่างๆ เช่น การออกแบบทางวิศวกรรม และการวางระบบโครงสร้างการผลิต เป็นต้น

– ธุรกิจโฆษณา

– ธุรกิจบริการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม

– ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ การให้บริการ เช่น ระบบปัญญาประดิษฐ์เชิงสนทนาพร้อมอวทาร์ (Conversation AI Avatar) เป็นต้น

– ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในระดับเทคโนโลยีขั้นสูง (ADVANCED TECHNOLOGY) บรรจุภัณฑ์พลาสติก ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์)

  1. จีน 103 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 13,806 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

– ธุรกิจบริการติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษา และฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบการทำงานต่าง ๆ เพื่อติดตั้งระบบสายพานที่ใช้สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้า

– ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วน สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ

– ธุรกิจบริการ บริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ เช่น  ระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จรถไฟฟ้า แอปพลิเคชันค้นหาและใช้บริการสถานีชาร์จรถไฟฟ้า เป็นต้น

– ธุรกิจบริการสถานที่สำหรับเล่นเกมแก้ไขปริศนา (Escape Room)

– ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป, ผลิตชิ้นส่วนของระบบกันสะเทือนสำหรับยานพาหนะ, Audio Cables)

  1. สหรัฐอเมริกา 103 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 4,552 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

– ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การติดตั้ง บำรุงรักษา แก้ไข และปรับแต่งเว็ปไซต์ เป็นต้น

– ธุรกิจค้าปลีกสินค้า อาทิ เครื่องเสียงและระบบเครื่องเสียง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ เครื่องมือแพทย์

– ธุรกิจโฆษณา

– ธุรกิจบริการซ่อมแซมและบำรุงรักษากล้องส่องตรวจ ท่อส่องตรวจ และเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง

ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า อาทิ อุปกรณ์เลือกช่วงความยาวคลื่น อุปกรณ์แบ่งความเข้มแสง, Electro Magnetic Product

  1. ฮ่องกง 57 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 14,461 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

– ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ

– ธุรกิจบริการสร้างแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพ โดยเป็นการให้บริการแหล่งท่องเที่ยวนันทนาการขนาดใหญ่ (Recreational Attraction Area)

– ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย

– ธุรกิจบริการให้ใช้แอปพลิเคชัน

– ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (อาทิ ด้ายหรือผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษ ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป ชุดแบตเตอรี่ความจุสูง (High Density Battery))

ทั้งนี้ ถือได้ว่าการเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมข้างต้น
มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น
องค์ความรู้เกี่ยวกับทักษะการออกแบบ การใช้งาน และการซ่อมบำรุงระบบอาณัติสัญญาณ องค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยชีวภาพในระดับฟาร์ม องค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการงานบำรุงรักษาเครื่องจักรผ่านแอปพลิเคชัน องค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการประกอบชิ้นส่วนสายพานลำเลียง เป็นต้น

โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (2566) พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ปี 2567 เพิ่มขึ้นจาก ปี 2566 จำนวน 230 ราย (เพิ่มขึ้น 41%) (เดือน ม.ค. – ต.ค. 67 อนุญาต 786 ราย / เดือน ม.ค. – ต.ค. 66 อนุญาต 556 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 66,203 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 70%) (เดือน ม.ค. – ต.ค. 67 ลงทุน 161,169 ล้านบาท / เดือน ม.ค. – ต.ค. 66 ลงทุน 94,966 ล้านบาท)

ขณะที่มีการจ้างงานคนไทยจากนักลงทุนที่ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวลดลง 2,919 ราย
(ลดลง 49%) (เดือน ม.ค. – ต.ค. 67 จ้างงาน 3,037 คน / เดือน ม.ค. – ต.ค. 66 จ้างงาน 5,956 คน) โดยจำนวน
นักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปีก่อน

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ 10 เดือน ปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 251 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 141 ราย (เพิ่มขึ้น 128%) (เดือน ม.ค. – ต.ค. 67 ลงทุน 251 ราย / เดือน ม.ค. – ต.ค. 66 ลงทุน 110 ราย) มูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 45,739 ล้านบาท

ทั้งนี้ คิดเป็น 28% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 27,148 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 146%) (เดือน ม.ค. – ต.ค. 67 เงินลงทุน 45,739 ล้านบาท / เดือน ม.ค. – ต.ค. 66 เงินลงทุน 18,591 ล้านบาท) เป็นนักลงทุนจาก *ญี่ปุ่น 86 ราย ลงทุน 16,184 ล้านบาท *จีน 59 ราย ลงทุน 8,030 ล้านบาท *ฮ่องกง 18 ราย ลงทุน 5,219 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 88 ราย ลงทุน 16,306 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ

– ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์

– ธุรกิจบริการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย

– ธุรกิจบริการติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษาและฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบการทำงานต่าง ๆ เพื่อติดตั้งระบบสายพานที่ใช้สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้า

– ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน (SOFTWARE PLATFORM) ซึ่งเป็นการให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับจัดการการจำหน่ายหรือเผยแพร่ผลงานเพลง

– ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (อาทิ ชิ้นส่วนสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป, ชิ้นส่วนโฟมสำหรับอุตสาหกรรม เป็นต้น)

Back to top button