จงใจฉ้อโกง! บช.น.เปิดพฤติการณ์ “หมอบุญ” ตั้งใจหลอกลงทุน 5 โครงการ สูญ 7.5 พันล้าน

รอง ผบช.น. เปิดผลการสอบสวนคดี “หมอบุญ” และพวกที่มีทั้ง ครอบครัว เลขานุการส่วนตัว และตัวแทนบริษัทหลักทรัพย์ ตั้งใจวางแผนหลอกผู้เสียหายร่วมลงทุน 5 โครงการทิพย์อ้างได้ผลตอบแทนปีละ 1,000 ล้านบาท พบมีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อกว่า 247 คน มูลค้าความเสียหายกว่า 7.5 พันล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ตามคำสั่ง บก.น.1 ที่ 285/2567 ลงวันที่ 11 พ.ย. 67  ขออนุมัติหมายจับจากศาลอาญา จนสามารถนำมาสู่การออกหมายจับ นพ.บุญ วนาสิน อายุ 86 ปี ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลธนบุรี พร้อมภรรยา ลูกสาว และพวกรวม 9 คน ในความผิดฐานฉ้อโกง-ฟอกเงิน

ล่าสุดวันนี้ (23 พ.ย.67) พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมคณะพนักงานสอบสวน ได้เปิดเผยละเอียดและการดำเนินคดี ว่าเมื่อช่วงเดือน ธันวาคม 2566 มีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความที่ สน.ห้วยขวาง

ต่อมาในปี 2567 ผู้เสียหายเข้าแจ้งความเพิ่มเติมช่วงเดือนพฤษภาคม จำนวน 6 คดี, เดือนมิถุนายน จำนวน 8 คดี และเดือนกรกฎาคม จำนวน 49 คดี ซึ่งคดีเริ่มซับซ้อน ยุ่งยาก และมีผู้เสียหายเพิ่มขึ้น โดยช่วงเดือนสิงหาคม มีจำนวน 75 คดี, เดือนกันยายน จำนวน 84 คดี, เดือนตุลาคม จำนวน 60 คดี และเดือนพฤศจิกายน 66 คดี รวม 520 คดี มูลค่าความเสียหายรวม 7,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ ลักษณะความผิดส่วนใหญ่ที่พนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ เบื้องต้นเป็นเรื่อง พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค โดยพบพฤติการณ์มีโบรกเกอร์ติดต่อให้ผู้เสียหายร่วมลงทุนกับ นพ.บุญ และพวก อ้างว่าจะระดมทุนลงทุนธุรกิจทางการแพทย์ 5 โครงการ ได้แก่

  1. โครงการสร้างศูนย์มะเร็งย่านปิ่นเกล้า พื้นที่ 7 ไร่ งบประมาณลงทุน 4,000 ล้านบาท
  2. โครงการเวลเนสเซ็นเตอร์ ย่านพระราม 3 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างที่พักอาคารสูง 52 ชั้น รองรับผู้สูงอายุ 400 ห้อง งบประมาณลงทุน 4,000-5,000 ล้านบาท
  3. โครงการโรงพยาบาลในลาว 3 แห่ง แบ่งเป็นเวียงจันทน์ 2 แห่ง จำปาสัก 1 แห่ง
  4. โครงการเข้าร่วมทุนกับโรงพยาบาลในเวียดนาม งบประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท
  5. โครงการสร้าง Medical intelligence ทำหน้าที่ด้านไอที ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท

โดย นพ.บุญ กับพวก ได้อ้างว่า หากลงทุนโครงการทั้ง 5 โครงในปี 2566 จะได้รับผลตอบแทนเป็นกำไรประมาณ 700 ล้านบาท จากนั้นในปี 2567 จะได้รับกำไร 1,000 ล้านบาท ซึ่งช่วงวันที่ 2-4 พฤศจิกายน 2566 นพ.บุญ ได้สร้างความน่าเชื่อถือด้วยการใช้สื่อออนไลน์ประชาสัมพันธ์ ผ่านการ ลงเว็บไซต์ สัมภาษณ์สำนักพิมพ์รายใหญ่ และรวมถึงการเผยแพร่ข่าวผ่านคนรอบข้าง และตัวแทนจัดจำหน่ายหนักทรัพย์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้นักลงทุนหลงเชื่อ

กลุ่มผู้ต้องหาอ้างว่าการระดมทุนนี้จะให้ค่าตอบแทนมากกว่าสถาบันการเงิน ทำให้มีผู้หลงเชื่อและร่วมลงทุน โดยทำสัญญากู้ยืมเงินและให้ดอกเบี้ย ด้วยการสั่งจ่ายเช็คให้ผู้เสียหาย เพื่อชำระหนี้เงินกู้ รวมทั้งจ่ายเช็คล่วงหน้าเป็นค่าดอกเบี้ย ลงชื่อโดย นพ.บุญ ส่วนด้านหลังเช็คลงลายมือชื่อภรรยาและลูก เป็นผู้ค้ำประกัน เพื่อเป็นการยืนยันว่าหากถูกดำเนินการฟ้องทางคดีภรรยาและลูกจะตกเป็นหนึ่งในหนึ่งในลูกหนี้ด้วย

ในช่วงแรกพบว่ามีการชำระดอกเบี้ยให้ผู้เสียหายบางส่วน แต่ต่อมาไม่มีการจ่ายเงิน ทั้งการคืนเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งผู้เสียหายบางส่วนไม่สามารถนำเช็คเงินสดไปขึ้นกับธนาคารได้ และจากการตรวจสอบกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) พบว่า เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมา หมอบุญ ได้เดินทางออกนอกประเทศโดยคาดการณ์ว่าเดินทางไปยัง ฮ่องกง ซึ่งพฤติกรรมนี้เข้าข่ายการหลบหนีคดี

ขณะเดียวกัน การตรวจสอบโครงการทั้งหมดที่ นพ.บุญ กล่าวอ้าง ไม่มีอยู่จริง ภายหลังผู้เสียหายติดตามทวงเงินต้นและดอกเบี้ย ปรากฏว่าถูกเบียดบังไปทั้งหมด

พล.ต.ต.นพศิลป์ ยังระบุว่า พนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง ได้ทำหนังสือมาถึง บช.น. ซึ่งพบว่าไม่ใช่เพียงความผิด พ.ร.บ.เช็ค แต่พฤติการณ์เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน จึงมอบหมายให้ตน และ พล.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ รอง ผบช.น.ตั้งพนักงานสอบสวนมาสืบสวนเรื่องนี้ตั้งแต่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ภายหลังการสอบสวนพบว่า มีผู้ต้องหาทั้งหมด 9 รายโดยพบว่า นพ.บุญ เป็นตัวการหลักคิดออกโครงการรสัญญากู้ยืมเงิน ลงลายมือจ่ายเช็ค และได้รับประโยชน์ ส่วนภรรยาและลูกเป็นผู้กระทำความผิดในการร่วมกันทำสัญญาเงินกู้ ขณะที่เลขานุการ นพ.บุญ 2 ราย เป็นผู้ต้องหาที่จัดทำทำสัญญากู้ และเชื่อได้ว่าอาจได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วย

พฤติการณ์ยังพบว่า เมื่อผู้เสียหายให้เงินโดยจ่ายเช็คให้กลุ่มผู้ต้องหา จะมีการโอนเงินไปยังบัญชีธนาคาร และให้เลขาฯ ของ นพ.บุญ เบิกเงินสดออกมาทั้งหมด โดยมีผู้เสียหายมีทั้งนักธุรกิจและบุคลากรทางการแพทย์ บางคนลงทุนสูงถึง 400-600 ล้านบาท

ส่วนกลุ่มผู้ต้องหาที่อยู่ในบริษัทหลักทรัพย์ พบว่า มีการนำเสนอข้อมูลที่เป็นการชักชวนเข้าลงทุนในโครงการดังกล่าวและอาจได้ส่วนแบ่ง โดยพนักงานสอบสวนได้มีการรวบรวมข้อมูลและหลักฐาน ทั้งหมดเพื่อเสนอต่อศาลอาญาในการออกหมายจับ ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันให้กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

สำหรับ นพ.บุญ กระทำความผิด 5 ข้อกล่าวหา คือ ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันให้กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ, สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน และข้อหาเช็คเด้ง หรือออกเช็คแล้วขึ้นกับธนาคารไม่ได้ส่วนอีก 8 คน ถูกออกหมายจับในข้อหา ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันให้กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

ล่าสุดตำรวจติดตามจับกุมผู้ต้องหาแล้ว 6 คน ส่วน นพ.บุญ เชื่อว่าอยู่ในต่างประเทศ และอยู่ระหว่างเร่งติดตามจับกุมภรรยาและลูกของ นพ.บุญ รวมทั้งอยู่ระหว่างตรวจสอบทรัพย์สิน โฉนดต่าง ๆ ว่ามีการยักย้ายถ่ายเทหรือไม่ ส่วนตรวจค้นบ้านพัก ไม่พบรถยนต์ 19 คันในชื่อครอบครองของ นพ.บุญ โดยจะติดตามว่านำไปซุกซ่อนที่ใด อีกทั้งอยู่ระหว่างตรวจสอบที่ดิน 21 แปลง ว่าเป็นที่ดินที่ได้มาหลังปี 2566 หรือไม่ ซึ่งเป็นช่วงชักชวนระดมทุน

รอง ผบช.น. กล่าวว่า คดีนี้มีความยุ่งยากซับซ้อน มีผู้เสียหายจำนวนมากในหลายพื้นที่และต่างภูมิลำเนา เข้าเงื่อนไขว่าคดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจการสอบสวนของกองบัญชาการสอบสวนกลาง และความผิดเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนของกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 จะรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด ก่อนยื่นให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

พล.ต.ต.นพศิลป์ ยังเปิดเผยว่า ได้ออกหมายแดงประสานติดตามจับกุม นพ.บุญ เบื้องต้นทราบว่าได้เดินทางจากฮ่องกงไปจีน และอยู่ระหว่างขยายผลเส้นทางการเงิน รวมทั้งตรวจสอบย้อนหลังโครงการอื่น ๆ เชื่อว่าไม่ได้มีเพียง 5 โครงการนี้ เนื่องจากแผนประทุษกรรมผู้ต้องหาชัดเจนว่าจะให้เข้า พ.ร.บ.เช็ค แต่พบว่าโครงการไม่มีอยู่จริง ไม่มีการลงทุนจริง ถือว่าปกปิดข้อเท็จจริง จึงเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน

ส่วนกรณีหญิงคนหนึ่งที่ได้เปลี่ยนนามสกุล อ้างว่าถูกปลอมลายมือชื่อในการทำเอกสารนั้น อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติม หากพบว่ามีส่วนในการกระทำความผิดจะขอออกหมายจับด้วย

อย่างไรก็ตามพนักงานสอบสวนจะเร่งดำเนินการตามตัวมาดำเนินการทางกฎหมาย รวมถึงสืบหาเส้นทางทรัพย์สินที่ถูกโยกย้ายเพื่อนำกลับมาคืนประชาชนทุกคนที่ได้รับความเสียหาย ส่วนเงิน 7,500 ล้านบาท พนักงานสอบสวนยืนยันว่าสามารถติดตามกลับมาคืนประชาชนได้ สุดท้ายนี้ขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงผู้เสียหายที่ถูกฉ้อโกงในคดีดังกล่าวสามารถมาแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

Back to top button