BEM ลุ้นครม.ไฟเขียวสร้าง “ทางด่วน Double Deck” พ่วงสายสีม่วงใต้ รอชัดเจนปีหน้า

BEM ลุ้น ครม. ไฟเขียวทำ “Double Deck” แก้ปัญหารถติดบนทางด่วน ส่วนโครงการประมูลในอนาคต รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ต่อจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือ คาดว่าจะมีความชัดเจนในปีหน้า


นายธนาวัฒน์ วรรณดิษฐ์ ผู้จัดการส่วน ส่วนนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 67 ว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/67 มีรายได้รวม 4,633 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 4,448 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 970 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นจากธุรกิจทางพิเศษ ที่ยังคงมีสัดส่วนรายได้มากที่สุดอยู่ที่ 52% รองลงมาเป็นธุรกิจรถไฟฟ้า 41% และธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ 7% ตามลำดับ

ขณะผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปี 67 รายได้รวม 13,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 12,895 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,917 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 2,620 ล้านบาท

สำหรับ ณ วันที่ 30 ก.ย.67 บริษัทและบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวม 128,345 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 15,849 ล้านบาท หรือ 14% จากการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ในส่วนค่าก่อสร้างงานโยธา (Civil) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก และสินทรัพย์งานระหว่างก่อสร้างของงานจัดหาระบบรถไฟฟ้างานเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง (M&E) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

นอกจากนี้ ยังเป็นสินทรัพย์ภายใต้สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินล่วงหน้าค่าตอบแทนแก่ รฟม. ตามสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสินทรัพย์จากการปรับเพิ่มมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ทางการเงินที่เป็นตราสารทุนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์

ขณะที่หนี้สินรวม จำนวน 91,792 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,960 ล้านบาท หรือ 23% สาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของเงินกู้ยืมเพื่อลงทุนในงานก่อสร้าง Civil และ M&E ตามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและเงินกู้ยืมเพื่อจ่ายค่าตอบแทนแก่ รฟม. ตามสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

สำหรับเหตุการณ์สำคัญในไตรมาส 3/67 เช่น เมื่อวันที่ 31 ต.ค.67 ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2567 อนุมัติการทำสัญญาว่าจ้างการจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเพิ่มเติมและปรับปรุงระบบไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องในโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล วงเงินรวม 6,800 ล้านบาท เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น

เมื่อเดือน ก.ย.67 BEM ได้ออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Debentures) มูลค่าเสนอขายรวม 7,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี ด้วยยอดจองกว่า 1.5 เท่า โดยหุ้นกู้ได้รับการจัดอันดับ ความน่าเชื่อถือจากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ที่ระดับ A-

และเมื่อวันที่ 4 ก.ย.67 ซึ่งเป็นวันสิ้่นสุดระยะเวลาการซื้อหุ้นคืนตามโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน (Treasury Stock) โดยสรุปดำเนินการซื้อหุ้นคืนเป็นจำนวน 307 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 2.01% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด โดยมีมูลค่าหุ้นทุนซื้อคืนทั้งสิ้น จำนวน 2,452 ล้านบาท

นายธนาวัฒน์ กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น ถือว่าโครงการนี้เป็นการเริ่มต้นจากรัฐอยู่ระหว่างรอภาครัฐเข้ามาพูดคุยกับบริษัทและผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ด้วย โดยทางบริษัทพร้อมสนองนโยบายนี้ของภาครัฐอยู่แล้ว เพียงแต่รอความชัดเจน คาดว่าจะเป็นปีหน้า

ส่วนโครงการประมูลในอนาคต นายธนาวัฒน์ เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอภาครัฐเจรจา เพื่อทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ต่อจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือ คาดว่าจะมีความชัดเจนในปีหน้า โดยขณะนี้ทางภาครัฐได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในส่วนโยธาไปแล้วเกือบ 50% เป็นโครงการใต้ดินทั้งหมดคาดว่าอย่างน้อยต้องใช้เวลาประมาณ 5-6 ปี

นอกจากนี้มีโครงการ “ทางด่วน Double Deck” เริ่มโดยภาครัฐเพื่อแก้ปัญหารถติดบนทางด่วน ที่ปัจจุบันทางด่วนแน่นมาก ทั้งช่วงเช้าหรือเย็น โดยจะสร้างทางด่วน ขั้นที่ 2 โดยจะเริ่มโครงการจากประชาชื่นถึงหน้าโรงพยาบาลพระราม 9 ประมาณ 17 กิโลเมตร ทั้งนี้ Double Deck จะมีทางขึ้น-ลง ไม่มาก จะเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ต้องการเดินทางไกล จากจุด A ไปจุด B ไม่ต้องติดคอขวด โดยจะเก็บเงินค่าผ่านทางเท่าเดิม เชื่อว่าจะช่วยให้การจราจรดีขึ้น ซึ่งโครงการนี้ได้ผ่านขั้นตอน EIA เรียบร้อยแล้ว ภาครัฐอยู่ระหว่างนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติดำเนินการ ซึ่งบริษัทมีความพร้อม

นายธนาวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวโน้มของปี 68 จากการเติบของกิจกรรมและอีเว้นต์ (Event) ต่าง ๆ ที่มีมากขึ้น มองว่าจะทำให้เติบโตขึ้น 5-7% ด้วยหลายปัจจัยสนับสนุน เช่น การเปิดตัวของโครงการวัน แบงค็อก (One Bangkok) ที่มีทางเชื่อมจากสถานีลุมพินี เดินทะลุเข้าไปได้ ซึ่งคาดว่าปีหน้าจะได้เห็น Impact ชัดเจน นอกจากนี้ยังมีโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ที่เตรียมจะเปิดตัวในครึ่งปีหลังของปี 68 มีสถานี MRT สีลมที่เชื่อมรถไฟฟ้า BTS ด้วย ขณะที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คาดว่าปีหน้าอีเว้นต์ต่าง ๆ จะมามากขึ้น ปีนี้อาจเห็นผู้โดยสาร 430,000 เที่ยวต่อวัน แต่ปีหน้าอาจจะเห็นผู้โดยสารขึ้นไปที่ 450,000 เที่ยวต่อวัน

ส่วนทางด่วนนั้นมองว่าปีหน้ายังทรง ๆ คาดจะโต 1% บนฐานปัจจุบัน 1,100,000 เที่ยวคันต่อวัน ดังนั้นถือว่าโตขึ้นมากนอกจากนี้ยังมีรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ Commercial Development ซึ่งมีรายได้หลักจากการขายโฆษณา และเปิดพื้นที่ค้าขาย โต 8-10% โดยในอนาคตเมื่อเปิดโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มก็จะทำCommercial Development เช่นกัน โดยจะดีไซน์ควบคู่กันไปและจะมีความแปลกใหม่และเพิ่มความสะดวกกว่าของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

COMPANY SNAPSHOT

Back to top button