NTF ปักธงยื่นไฟลิ่งปี 68 จ่อเทรด mai หวังยกระดับผลไม้ไทยระดับสากล
NTF ตั้งเป้าเข้าตลาด mai เตรียมไฟลิ่ง ก.ล.ต. ในปี 68 เพื่อยกระดับผลไม้ไทยส่งออกสู่อุตสาหกรรมระดับสากล ชี้ได้รับความไว้วางใจจาก Dole บริษัทผลไม้ระดับโลกให้เป็น OEM ผลิตทุเรียนเจ้าเดียวในไทย โชว์ปีนี้คาดปิดงบ 1-1.2 พันล้านบาท หวังระดมทุนต่อยอดยกระดับธุรกิจผลไม้ในตปท.
นายวิชัย ศิระมานะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นทีเอฟ อินเตอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำการส่งออกผลไม้สดเกรดพรีเมี่ยม เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เพื่อเป็นเงินทุนในการขยายกิจการ พัฒนาสินค้าและโครงการสำคัญที่สร้างการเติบโตให้กับบริษัท รวมไปถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า คู่ค้า และสถาบันการเงิน เพิ่มโอกาสทางการค้าและการต่อยอดธุรกิจในอนาคต จากความน่าเชื่อถือ และภาพลักษณ์ที่ดีในการบริหารและมาตรฐานการดำเนินงาน ผ่านกลไกการเปิดเผยข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการจัดเตรียมไฟลิ่งเพื่อนำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในปี 68
ทั้งนี้ เอ็นทีเอฟ อินเตอร์กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจส่งออกผลไม้สดเกรดพรีเมี่ยมสู่ตลาดต่างประเทศ มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจส่งออกผลไม้สด และการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพของผู้บริหาร ที่ต้องการยกระดับผลไม้ไทยและเกษตรกรรมไทย สู่มาตรฐานอุตสาหกรรมผลไม้ในระดับสากลมากขึ้น โดยบริษัทเริ่มจากการส่งออกลำไย ทุเรียน มะพร้าวและผลไม้อื่นๆ ไปประเทศจีนเป็นตลาดส่งออกหลัก เนื่องจากเป็นประเทศที่นำเข้าทุเรียนและผลไม้สดมากที่สุดในโลก และความนิยมในการบริโภคของประชากรจำนวนมาก
โดยที่ผ่านมา NTF ทำการตลาดในประเทศจีนภายใต้ 4 แบรนด์ ได้แก่ เหม่ย ลี่ (Mei Li), ไท่ จี้ (Tai Ji), จิน เยี่ยน (Jin Yan) และไท่ ถิง ห่าว (Tai Ting Hao) เพื่อให้เหมาะสมกับตัวแทนสินค้าที่จำหน่ายให้ลูกค้าแต่ละกลุ่ม ในตลาดสำคัญตามเมืองต่างๆ อาทิ กวางเจา (Guangzhou) ตลาดผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนและใหญ่ที่สุดในโลก เจียซิง (Jiaxing) ตลาดผลไม้ที่มีปริมาณการซื้อขายที่ใหญ่ที่สุดของโลก และปักกิ่ง (Beijing) ศูนย์กลางตลาดค้าผลไม้ภาคเหนือ ซึ่งแบรนด์สินค้า 3 ใน 4 แบรนด์ของบริษัทติดท็อป 5 แบรนด์ผลไม้ที่เป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในประเทศจีน
ปัจจุบัน บริษัทมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าแบ่งเป็น สินค้าประเภททุเรียน 90% มีกำลังการผลิตปีละ 500 ตู้ ตู้ละ 16-18 ตัน หรือประมาณ 1,600-1,800 กิโลกรัมต่อตู้ สินค้าประเภทลำไย 8% กำลังการผลิตปีละ 300 ตู้ ตู้ละ 24-25 ตัน หรือประมาณ 24,000-25,000 กิโลกรัมต่อตู้ และอีกประมาณ 2% เป็นสินค้ามะพร้าวและผลไม้อื่นๆ โดยการดำเนินงานของ NTF ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สามารถสร้างผลการดำเนินงานเติบโตแบบก้าวกระโดดต่อเนื่อง ปี 63 บริษัทมีรายได้จำนวน 14 ล้านบาท ต่อมาปี 64 มีรายได้ 184 ล้านบาท ปี 65 มีรายได้ 351 ล้านบาท และปี 66 มีรายได้ 561 ล้านบาท ส่วนในปี 67 บริษัทคาดการณ์รายได้ไว้ที่ 1,000 – 1,200 ล้านบาท
นายวิชัย กล่าวว่า บริษัทมีพันธมิตรผู้ผลิตผลไม้จำนวน 10 โรงงาน ตั้งอยู่ใน 5 จังหวัดสำคัญของแต่ละภูมิภาค ได้แก่ จันทบุรี ชุมพร ศรีสะเกษ จลำพูน และราชบุรี สามารถบริหารจัดการสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการให้มากที่สุด โดยแต่ละโรงงานจะมีพนักงานของบริษัทตรวจสอบและควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอนเพื่อให้ได้คุณภาพมาตรฐานตามคำสั่งซื้อของลูกค้า ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของสินค้าเกรดพรีเมี่ยมที่ส่งออกจาก NTF จนเป็นที่ยอมรับของลูกค้าและคู่ค้ามาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ปัจจุบัน NTF ยังได้รับความไว้วางใจจาก Dole ผู้ผลิตและจำหน่ายผักผลไม้สดและแปรรูประดับโลก ที่เล็งเห็นศักยภาพให้ NTF รับหน้าที่ผลิตผลไม้ประเภททุเรียนเกรดพรีเมี่ยม (OEM) เจ้าเดียวในประเทศไทย เพื่อส่งออกไปประเทศจีน โดย Dole ถือเป็นพันธมิตรที่เข้ามาช่วยเติมเต็มตลาด เช่นเดียวกับเวียดนามที่เข้ามาช่วยส่งเสริมการบริโภคของประชากรจีนให้มากขึ้น อีกทั้ง เชื่อว่าการทำตลาดในประเทศจีนจะนำมา ซึ่งการแข่งขันด้านคุณภาพสินค้ามากกว่าด้านราคาเช่นที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ผู้ส่งออกตลอดจนเกษตรกรต้องพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ออกผลผลิต การเก็บเกี่ยว ไปจนถึงการขนส่ง เพื่อให้สินค้าเป็นเกรดพรีเมี่ยมให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้ออย่างแท้จริง
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมการส่งออกทุเรียนไทยไปจีนต่อจากนี้ พบว่าการนำเข้าทุเรียนของจีนมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางถึงระดับสูง ซึ่งให้ความสำคัญกับคุณภาพและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของทุเรียนไทย สะท้อนถึงศักยภาพของตลาดที่ยังเปิดกว้างสำหรับผู้ส่งออกไทย จากข้อมูลล่าสุด ณ 9 เดือนปี 67 มีมูลค่าการส่งออกทุเรียนไทยรวมประมาณ 130,000 ล้านบาทใกล้เคียงมูลค่าส่งออกทุเรียนของตลอดทั้งปี 66 ซึ่งการส่งออกของ NTF ในขณะนี้คิดเป็นเพียง 1% ของตลาดส่งออกทุเรียนทั้งหมด ดังนั้น บริษัทจะต้องบริหารการจัดหาสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการตามคำสั่งซื้อสินค้าที่เข้ามาต่อเนื่องตลอดทั้งปีเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเช่นกัน
“โอกาสในตลาดประเทศจีนยังมีช่องทางการเติบโตอีกมาก ด้วยจำนวนประชากรทำให้มีความต้องการบริโภคผลไม้ที่มาจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยสินค้าคุณภาพ รสชาติอร่อย มีผลผลิตและชนิดของผลไม้สลับตามฤดูกาลออกสู่ตลาดตลอดปี และNTF พยายามจำหน่ายผลไม้อื่นๆ นอกจากทุเรียนที่เป็นสินค้าหลักเข้าสู่ตลาดประเทศจีน เช่น ลำไย มะพร้าวน้ำหอม และชมพู่ ซึ่งนอกจากต้องการให้สินค้ามีความหลากหลายแล้ว ยังเป็นโอกาสให้ลูกค้าได้รู้จักและซื้อผลไม้ของไทยเพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับผลไม้ของไทยสู่อุตสาหกรรมผลไม้คุณภาพในตลาดต่างประเทศมากขึ้นตามลำดับ” นายวิชัย กล่าวทิ้งท้าย