พาราสาวะถี

ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานีที่ชัยชนะตกเป็นของ ศราวุธ เพชรพนมพร จากพรรคเพื่อไทย คะแนนทิ้งห่างคู่แข่งจากพรรคประชาชนกว่า 5 หมื่นคะแนน


ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานีที่ชัยชนะตกเป็นของ ศราวุธ เพชรพนมพร จากพรรคเพื่อไทย คะแนนทิ้งห่างคู่แข่งจากพรรคประชาชนกว่า 5 หมื่นคะแนน ถือเป็นการคว้าชัยสวยสดงดงาม ภายใต้การนำของผู้ช่วยหาเสียงที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร คงไม่ใช่เรื่องแปลกหรือดีใจอะไรมากมาย ถ้ามองจากฐานของ สส.ในพื้นที่ ซึ่งเพื่อไทยมี 7 เก้าอี้ ไทยสร้างไทย 2 เก้าอี้ และประชาชน 1 เก้าอี้ ที่ถ้าจะว่าไปแล้ว เหมือนเป็นการรุมกินโต๊ะเสียด้วยซ้ำไป

เพราะอีกสองเสียงของไทยสร้างไทยนั้นแทบจะเป็นเนื้อเดียวกันกับเพื่อไทยไปแล้ว มองในมุมผู้แพ้ก็ถือว่าสมศักดิ์ศรี กระแสหรือความนิยมในตัว พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังใช้ได้อยู่ แต่จะใช้ผลของการเลือกตั้งตรงนี้ไปชี้วัดการเลือกตั้ง สส.คงพูดยาก เหตุมีปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในแง่ของความน่าเชื่อถือในตัวผู้สมัคร การลงพื้นที่พบปะ ช่วยเหลือประชาชน ความใกล้ชิดที่มีมากันอย่างยาวนาน อย่างน้อยก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับพรรคแกนนำรัฐบาลในแง่ การปรากฏตัวของผู้มีบารมีของพรรค ยังคงความขลังเหมือนเดิม

คงจะเป็นจุดเริ่มต้นของผู้ช่วยหาเสียงกิตติมศักดิ์ ที่จะใช้เป็นโมเดลในการไปขึ้นเวทีปราศรัยช่วยผู้สมัครนายก อบจ.อีกหลายจังหวัดที่จะเลือกพร้อมกันในต้นปีหน้า การเลือกตั้งนายก อบจ.เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีอยู่ 3 สนามคือที่ อุดรธานี เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช ที่เมืองหลวงของคนเสื้อแดงแทบจะไม่ต้องคาดเดาผล ลุ้นกันแค่ว่าจะชนะขาดขนาดไหนเท่านั้น ส่วนอีกสองจังหวัดปลายทางของภาคกลาง และจังหวัดใหญ่ของภาคใต้ถือเป็นตัวบ่งชี้นัยทางการเมืองที่สำคัญ

ที่เพชรบุรีนั้นนายกฯ คนเก่า ชัยยะ อังกินันทน์ หัวหน้ากลุ่มรวมใจเพชร อดีตนายก อบจ.หลายสมัย ชนกับ กฤษณ์ แก้วอยู่ หรือทนายกฤษณ์ ประธานสภาทนายความจังหวัดเพชรบุรี อดีต สส.เพชรบุรี ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคประชาชน ผลปรากฏว่าอดีตนายกฯ ปรายเอาชนะไปด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ทิ้งห่างคู่แข่งสองช่วงตัวกว่าแสนคะแนน แสดงให้เห็นถึงฐานเสียงสนับสนุนคนตระกูลดังยังคงเหนียวแน่น ส่วนผลต่อการแย่งชิงเก้าอี้ สส.ในอนาคต ขึ้นอยู่กับปัจจัยฝ่ายกุมอำนาจ

ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา สส. 3 เขตเป็นของรวมไทยสร้างชาติ 2 เก้าอี้ และภูมิใจไทย 1 เก้าอี้ หนนี้ทางพรรคเพื่อไทยก็หมายมั่นปั้นมือที่จะปักธง สส.ในพื้นที่นี้ให้ได้ อยู่ที่ข้อเสนอ และสถานการณ์ทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งที่ผู้สมัครจะดูทิศทางลมกันอีกครั้ง เรื่องบ้านใหญ่มีผลแค่บางพื้นที่ บางเขต ส่วนใหญ่จะวัดกันที่ความใจถึง พึ่งได้ กล้าได้กล้าเสียมากกว่า เท่าที่รู้มามีการเปิดเกมเจรจากันไว้แล้ว รอเพียงแค่จังหวะเหมาะสมที่จะเปิดตัวเท่านั้น

ขณะที่นครศรีธรรมราช กนกพร เดชเดโช แชมป์เก่าอดีตนายก อบจ. มารดาของ ชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ พ่ายแพ้ให้กับผู้ท้าชิงคนสำคัญ วาริน ชิณวงศ์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มิหนำซ้ำ ยังได้ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ เครือข่ายพรรคพลังประชารัฐบางส่วน และคนในตระกูลเสนพงศ์ร่วมกันผลักดันด้วย เมืองนี้ไม่มีบ้านใหญ่ หากเกิดกระแสกลุ่มการเมืองจะครองทุกสนาม มักถูกปฏิเสธโดยประชาชน

เกิดเป็นภาพรุมสหบาทากลายเป็นงานลำบากของพรรคเก่าแก่ที่หวังจะรักษาแชมป์ แน่นอนว่า ผลที่ออกมาแบบนี้ ไม่ต้องพูดถึงการเลือกตั้ง สส.ครั้งต่อไป เจอโจทย์ใหญ่แน่นอนสำหรับประชาธิปัตย์ที่หวังจะทวงคืนความยิ่งใหญ่กลับมา เพราะคู่แข่งอย่างรวมไทยสร้างชาติ พรรคสืบทอดอำนาจ และภูมิใจไทยล้วนแต่แข็งโป๊กกันทั้งนั้น ยิ่งสองพรรคร่วมรัฐบาลมีความพร้อมทุกด้าน โดยมีข่าวว่าตระกูลเสนพงศ์รอบหน้าจะย้ายไปสวมสีเสื้อพรรคสีน้ำเงินด้วย ถือเป็นหอกข้างแคร่ของพรรคเก่าแก่ที่น่ากลัว

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่เวลานี้โฟกัสที่สถานการณ์เบื้องหน้าเป็นหลัก ยึดเอาความมั่นคงของฝ่ายกุมอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนั่นหมายถึงโอกาสการสร้างมูลค่า สะสมกระสุน เตรียมความพร้อม ในทางการเมืองไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต การสร้างผลงานให้ปรากฏถือเป็นเกราะคุ้มกันที่ดี เอาเข้าจริงเมื่อถึงฤดูกาลเลือกตั้งความเชื่อถือในพรรคต้นสังกัดสำหรับผู้สมัคร สส.ระบบเขตถือว่าเป็นเรื่องรอง

ไม่ว่าจะมีความเห็นไม่ลงรอยกันในหลายเรื่อง นั่นไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่จะทำให้พรรคฝ่ายกุมอำนาจต้องแตกหัก ย้ำมาตลอดทุกเรื่องจะจบลงที่การตั้งโต๊ะถกแถลง อะไรที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน หรือมองแล้วว่าไม่ได้มีผลต่อความเชื่อมั่นสำหรับรัฐบาล เป็นเรื่องใกล้ตัวของคนส่วนใหญ่ ก็ไม่ต้องรีบร้อนที่จะทำ เอาแค่แก้ปัญหาปากท้อง ทำให้เศรษฐกิจ การค้าขาย และคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น เท่านี้ก็เป็นการการันตีความได้เปรียบของฝ่ายรัฐบาลไปครึ่งค่อนตัวแล้ว

ความช่ำชองในฐานะผู้ผลิตนโยบาย วิสัยทัศน์ และความสามารถในการบริหารของพรรคเพื่อไทย ไม่มีพรรคร่วมรัฐบาลพรรคไหนปฏิเสธ ประเด็นที่เห็นต่างกันส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องทางการเมืองมากกว่า ภูมิใจไทยภายใต้การนำของ อนุทิน ชาญวีรกูล อาจมีหลายครั้งแสดงท่าที ประกาศจุดยืนที่สวนทางกับพรรคแกนนำรัฐบาล โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ประชามติที่ถือหาง สว.สีน้ำเงิน เป็นบทบาทบังคับที่ต้องเดินแบบนี้ ไม่ใช่การหักหน้า ขัดขวางพรรคของนายใหญ่ ในทางตรงข้ามอาจเป็นการช่วยให้หลุดพ้นจากข้อครหาไม่จริงใจแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียด้วยซ้ำไป

จังหวะก้าวทางการเมืองแต่ละเรื่องนั้น มองกันแค่ชั้นเดียวเชิงเดียวไม่ได้ หลายกรณีไม่ได้เป็นอย่างที่เห็น ฉากหน้ากับเบื้องหลังบางครั้งก็ต่างกันสิ้นเชิง โจทย์ทางการเมืองภาคบังคับที่รัฐบาลพลิกขั้วได้รับมาเป็นสิ่งสำคัญ เงื่อนไขที่จะทำให้เดินทางร่วมกันไปถึงจุดหมายมีแค่ 2 ประการเท่านั้น เกิดการทุจริต โกงกิน มีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์จนประชาชนรับไม่ได้ หรือมีการรัฐประหาร ซึ่งอย่างหลังยังมองไม่เห็นความเป็นไปได้

อรชุน

Back to top button