จับตา TOP รุกฆาต UJV ดึงรับเหมาใหม่เสียบ มั่นใจหลังเคลียร์จบ CFP ดันกำลังผลิตเพิ่ม 40%
TOP เร่งสรุปแนวทางแก้ปมโครงการ CFP ลุ้นเสนอบอร์ดต้นปี 68 ฟาก “บัณฑิต” ซีอีโอ มั่นใจเคลียร์จบโรงกลั่นใหม่เพิ่มกำลังผลิตจากเดิม 40% รวมเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ดันค่าการกลั่นเพิ่มเป็น 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล พร้อมขยายตลาด CLMV ส่วนวงในเผย TOP จ่อดึงผู้รับเหมาใหม่แทน UJV เดินหน้าโครงการให้เสร็จในปี 69
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (27 พ.ย.67) แหล่งข่าวจากผู้รับเหมาโครงการ CFP เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ปัจจุบันกลุ่ม UJV มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงินอยู่ 2 ราย เดิมเป็นผู้นำกลุ่ม ได้แก่ Petrofac (ปัจจุบันไม่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างแล้ว) และ Saipem ส่งผลให้ Samsung เดิมเป็นบริษัทเล็กของกลุ่ม ต้องเปลี่ยนสถานะเป็นผู้นำกลุ่มอยู่ขณะนี้ จึงทำให้การชำระค่างวดงานให้กลุ่มผู้รับเหมาช่วงเกิดความล่าช้าไม่เป็นไปตามสัญญา
โดยปัจจุบันกลุ่ม UJV ถือว่าเข้าข่ายอาจผิดสัญญาก่อสร้างกับไทยออยล์แล้ว เนื่องจากไม่สามารถส่งมอบงวดงานได้ตามสัญญา โดยแนวทางการแก้ปัญหาที่มีโอกาสเป็นไปได้มีอยู่ 2-3 แนวทาง คือ แนวทางแรกเจรจากับ UJV ให้ดำเนินงานต่อไป เรื่องนี้คงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะผู้รับเหมาต่างชาติไม่ยอมจ่ายเงินค่างวดงานให้กับผู้รับเหมาช่วง และมีความพยายามที่จะเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มเติม แต่เนื่องจากสัญญาที่ทำไว้กับไทยออยล์ ระบุชัดว่า UJV จะไม่สามารถเรียกร้องเงินเพิ่มได้ ต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด
ขณะที่ แนวทางที่สอง คือ ไทยออยล์บอกเลิกสัญญากับ UJV และหาผู้รับเหมารายใหม่เข้ามาดำเนินการแทน วิธีนี้จะทำได้รวดเร็ว เมื่อผู้รับเหมารายใหม่เข้ามาจะสามารถประสานกับกลุ่มผู้รับเหมาช่วงให้ทำสัญญาจ้างกันใหม่ เริ่มดำเนินโครงการต่อได้ไม่ติดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา โดยค่าก่อสร้างอาจเพิ่มขึ้นจากเดิม เนื่องจากต้องมาเก็บงานเก่าที่ค้างไว้ให้เสร็จ จึงมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น
“ปัจจุบันไทยออยล์ได้เตรียมผู้รับเหมารายใหม่แล้ว เพื่อให้เข้ามาดำเนินงานก่อสร้างที่เหลืออยู่ในเสร็จโดยเร็วที่สุด ลดผลกระทบต่อโครงการ CFP” แหล่งข่าว กล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทแม่ของ Petrofac, Saipem และ Samsung ได้ออกหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของ The Consortium ทั้งหมด (Parent Company Guarantee) และ The Consortium ได้มีการวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นหลักประกันสัญญา (Performance Bond) จำนวน 10% ของมูลค่าสัญญาทั้งหมด เพื่อใช้เป็นหลักประกันการปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญา รวมถึงเพื่อค้ำประกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นตามสัญญา
โดยที่ผ่านมาไทยออยล์ได้พิจารณาแก้ไขสัญญา EPC โดยให้งบประมาณเพิ่มเติมอีกจำนวน 550 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับกลุ่ม UJV ไปแล้ว ดังนั้นกลุ่มผู้รับเหมาต่างชาติจึงไม่มีสิทธิมาของบประมาณเพิ่มอีก ตามแผนโครงการพลังงานสะอาดจะเริ่มทยอย COD ตั้งแต่ปี 2568 แต่ปัจจุบันคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปี 2569 เป็นอย่างเร็ว
รายงานจาก LSEG CONSENSUS ประมาณการรายได้ของ TOP ในไตรมาสที่ 4/2567 ที่ 131,358 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,531 ล้านบาท ขณะที่รายได้ปี 2567 ที่ 464,533 ล้านบาท กำไรสุทธิ 11,151 ล้านบาท ราคาเป้าหมายเฉลี่ย 55.14 บาท จาก 19 โบรกเกอร์
นอกจากนี้ นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า บริษัทจะสามารถสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาความล่าช้าของโครงการพลังงานสะอาด CFP (Clean Fuel Project) โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เสนอให้คณะกรรมการของบริษัทพิจารณาได้ภายในต้นปี 2568 หลังจากผู้รับเหมาช่วงหยุดงานเนื่องจากไม่ได้รับค่าจ้างตามงวดงานจากกลุ่มผู้รับเหมาหลัก UJV คือ กิจการร่วมค้าระหว่าง Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd., Petrofac South East Asia Pte. Ltd. และ Saipem Singapore Pte. Ltd.
“เราคงต้องดูในรายละเอียดของข้อกฎหมายอย่างรอบคอบ โดยจะสรุปแนวทางเสนอได้ต้นปีหน้า หากบอร์ดพิจารณาเลือกทางเลือกใดที่เสนอไป “ไทยออยล์” จึงจะดำเนินการตามนั้น มั่นใจว่าจะช่วยให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้” นายบัณฑิต กล่าว
สำหรับโครงการ CFP ตามกำหนดเดิมจะเสร็จภายในปี 2566 แต่เนื่องจากช่วงโควิด-19 ระบาด ทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักบางช่วง มาถึงวันนี้งานดำเนินไปแล้วกว่า 90% ส่วนที่เหลือตามงวดงานที่จะต้องจ่ายให้กับ UJV อีกประมาณ 1-2 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากเกิดข้อพิพาทระหว่างกลุ่มรับเหมาช่วงกับผู้รับเหมาหลัก คือ UJV งานจึงไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น จากความล่าช้าของโครงการ CFP ทั้งหมดรวมทั้งแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อทุกฝ่ายทั้งผู้ถือหุ้นและกลุ่มผู้รับเหมาโครงการ
นายบัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการพลังงานสะอาด (CFP) เมื่อดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันได้ประมาณ 40% จากปัจจุบัน จากหน่วยการกลั่นน้ำมันดิบใหม่ที่มีกำลังกลั่นสูงขึ้น ส่งผลให้ TOP มีกำลังการผลิตรวมปรับเพิ่มขึ้นจาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน
นอกจากนี้ ค่าการกลั่นไทยออยล์อาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากปัจจุบันเฉลี่ย 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากสามารถเปลี่ยนน้ำมันเตา ซึ่งเป็นน้ำมันหนัก มีมูลค่าต่ำให้เป็นน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานที่มีมูลค่าสูง
ทั้งนี้ เมื่อมีโรงกลั่นใหม่ สัดส่วนการส่งออกน้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่ม CLMV เป็น 40% จากปัจจุบัน 11% เนื่องจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานที่มีความต้องการใช้สูง ทำให้มั่นใจว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ