THG ส่งสัญญาณระส่ำ! เล็งเพิ่มทุน-ขายสินทรัพย์ ฟาก D/E พุ่ง 1.31 เท่า

บอร์ด THG มีมติอนุมัติให้มีการศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างทางการเงินเพิ่มเติม เล็งพิจารณาเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท-จำหน่ายสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ในการประกอบธุรกิจหลัก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของกลุ่มบริษัท ขณะที่ DE Ratio พุ่ง 1.31 เท่า


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG หลังจากเกิดสถานการณ์จากกรณีเมื่อวันที่ 22 พ.ย.67 พนักงานสอบสวนกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 กองบัญชาการตำรวจนครบาล นำหลักฐานขอศาลอาญาออกหมายจับ นายแพทย์บุญ วนาสิน อดีตประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป พร้อมภรรยา บุตรสาว และพวกรวม 9 คน หลังร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันให้กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันฟอกเงิน และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คกรณีมีผู้เสียหายร่วมลงทุนในธุรกิจทางการแพทย์ 5 โครงการใหญ่ สูญเงินกว่า 7,600 ล้านบาท นั้น

ถัดมาเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 67 บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจพบรายการอันควรสงสัยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงความคืบหน้าของการดำเนินการเกี่ยวกับรายการอันควรสงสัยตามที่บริษัทได้แจ้งไว้ก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการตรวจพบรายการอันควรสงสัย คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 105 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย) ว่า บริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด หรือ RTD (กลุ่มครอบครัววนาสินถือหุ้น 40.80% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ RTD) ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์จากรายการอันควรสงสัย ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับบริษัทเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 112,798,907 บาท (รวมดอกเบี้ย ซึ่งคำนวณจนถึงวันที่ทำหนังสือรับสภาพหนี้)

โดยบริษัทจะใช้หนังสือรับสภาพหนี้เป็นหลักฐานในการเรียกร้องให้ RTD ชำระเงินให้แก่บริษัท ซึ่งปัจจุบัน บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมฟ้องร้องดำเนินคดีกับ RTD ตามหนังสือรับสภาพหนี้ และกับอดีตผู้บริหารและพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญกับการทำรายการอันควรสงสัย ทั้งนี้ เพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของบริษัท และผู้ถือหุ้น

ทั้งนี้บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับรายการอันควรสงสัยแก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และผู้ถือหุ้นโดยไม่ชักช้า เมื่อบริษัทตรวจพบรายการอันควรสงสัย เพื่อรักษาความโปร่งใสและยึดมั่นในมาตรฐานที่ดีด้านธรรมาภิบาล ดังนั้น จากการตรวจสอบเพิ่มเติม บริษัทพบรายการอันควรสงสัยเพิ่มเติมของบริษัท และบริษัทย่อย ซึ่งรายการดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2566 โดยรายการอันควรสงสัยดังกล่าว ได้ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางการเงินแก่บริษัท และบริษัทย่อย รวมมูลค่าทั้งสิ้น 63 ล้านบาท อย่างไรก็ดี มูลค่าความเสียหายดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงิน หรือความสามารถในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายทางการเงินที่เกิดขึ้นกับบริษัท และบริษัทย่อยจากรายการอันควรสงสัยทั้งหมดนั้น บริษัทได้บันทึกบัญชีโดยตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเต็มจำนวนในงบการเงินรวมสำหรับไตรมาส 3/2567 แล้ว เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 172 ล้านบาท ทั้งนี้ การตั้งสำรองดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้งบการเงินรวมของบริษัท สะท้อนถึงฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานที่แท้จริง รวมถึงเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป

ทั้งนี้ รายการอันควรสงสัยทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น แม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพคล่องของกลุ่มบริษัท แต่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้เสียต่อกลุ่มบริษัท อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผลประกอบการจากการดำเนินงานตามปกติ (ไม่รวมการบันทึกบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามหลักความระมัดระวังและสอดคล้องกับหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป) กลุ่มบริษัทยังคงดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตามปกติ และไม่ได้ประสบภาวะขาดทุนจากการดำเนินงานตามปกติแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย และเพื่อแก้ไขข้อกังวลที่อาจจะเกิดขึ้นเกี่ยวกับสภาพคล่องของกลุ่มบริษัท คณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติให้มีการศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างทางการเงินเพิ่มเติม เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของบริษัท ซึ่งแนวทางการปรับโครงสร้างทางการเงินที่กำลังพิจารณารวมถึงการพิจารณาเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท เพื่อเสริมสร้างฐานะทางการเงินและรองรับการดำเนินงานในอนาคต และการพิจารณาจัดการหรือจำหน่ายสินทรัพย์บางประเภทที่ไม่ได้ใช้ในการประกอบธุรกิจหลัก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของกลุ่มบริษัท ทั้งนี้ บริษัทจะดำเนินการแจ้งให้ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย ทราบเกี่ยวกับความคืบหน้าของแนวทางการดำเนินการดังกล่าวในโอกาสต่อไป

ดังนั้นเมื่อ THG มีการพิจารณาเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทและการพิจารณาจัดการหรือจำหน่ายสินทรัพย์บางประเภทที่ไม่ได้ใช้ในการประกอบธุรกิจหลัก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของกลุ่มบริษัท นั้น ทำให้ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ต้องเข้าไปเจาะข้อมูลวิเคราะห์งบการเงินบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ที่เปิดเผยผ่านทางเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) พบว่า 1) คุณภาพรายได้  งวด 9 เดือนปี 2567 บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 7,225.35 ล้านบาท ลดลง 6.74% จากงวด 9 เดือน ปี 2566 ที่ 7,747.53 ล้านบาท (แย่ลง) ส่วนระยะเวลาเก็บหนี้ งวด 9 เดือน ปี 2567 อยู่ที่ 62.55 วัน ลดลง 21.68 วัน จากงวด 9 เดือนปี 2566 (ดีขึ้น)

2.) ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดงวด 9 เดือน ปี 2567 ขาดทุนสุทธิ 265.49 ล้านบาท เทียบงวด 9 เดือน ปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิ 756.95 ล้านบาท (แย่ลง) โดยเงินสดสุทธิได้มาและใช้ไป ในกิจกรรมดำเนินงาน งวด 9 เดือน ปี 2567 อยู่ที่ 666.93 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบงวด 9 เดือน ปี 2566 ที่ 1,142.15 ล้านบาท(แย่ลง)

3.) วงจรเงินสด งวด 9 เดือน ปี 2567 อยู่ที่ 74.11 วัน ลดลง 24.06 วัน จากงวด 9 เดือน ปี 2566 ที่ 98.17 วัน (ดีขึ้น) ส่วนระยะเวลาขายสินค้า งวด 9 เดือน ปี 2567 อยู่ที่ 88.42 วัน ลดลง 7.36 วัน จากงวด 9 เดือน ปี 2566 ที่ 95.78 วัน (ดีขึ้น) และระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า งวด 9 เดือน ปี 2567 อยู่ที่ 76.86 วัน ลดลง 4.98 วัน จากงวด 9 เดือน ปี 2566 ที่ 81.84 วัน(แย่ลง)

4.) การใช้เงินกู้ยืม หรือการชำระหนี้ อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น งวด 9 เดือน ปี 2567 อยู่ที่ 1.31 เท่า เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบงวด 9 เดือน ปี 2566 ที่ 1.16 เท่า(แย่ลง),อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย งวด 9 เดือน ปี 2567 อยู่ที่ 10.32 เท่า (เพิ่มขึ้นอย่างมาก) เมื่อเทียบงวด 9 เดือน ปี 2566 ที่ 3.88 เท่า(แย่ลงมาก)

โดยอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้โดยพิจารณาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน งวด 9 เดือน ปี 2567 อยู่ที่ 0.49 เท่า (ลดลงอย่างมาก) เมื่อเทียบงวด 9 เดือนปี 2566 ที่ 0.83 เท่า (แย่ลงมาก) และอัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ยโดยพิจารณาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน งวด 9 เดือน ปี 2567 อยู่ที่ 1.78 เท่า (ลดลงอย่างมาก)  เมื่อเทียบงวด 9 เดือน ปี 2566 ที่ 3.54 เท่า (แย่ลงมาก)

Back to top button