“คลัง” ปิดประตู THAI หวนกลับคืน “รัฐวิสาหกิจ”พ่วงเปิดจองเพิ่มทุน 4.4 หมื่นล. 6-12 ธ.ค.นี้
“คลัง” ปิดประตู “การบินไทย” ไม่มีทางกลับสู่ “รัฐวิสาหกิจ” อีกต่อไป เปิดกว้างหาพันธมิตรธุรกิจเสริมแกร่ง ขยายเส้นทางการบินทั่วโลก แจงกรณีส่งตัวแทนคลัง 2 คน นั่งกรรมการฟื้นฟูกิจการ ระบุเตรียมพร้อมสำหรับบอร์ดชุดใหม่ หลังพ้นแผนฟื้นฟูกิจการ ฟาก “ดีดีบินไทย” ยอมรับเจรจานักลงทุนรายใหญ่และกองทุนในประเทศ เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน PP ส่วนแปลงหนี้เป็นทุนฉลุย เจ้าหนี้แสดงเจตนาเกินกว่า 3 เท่า เตรียมขายหุ้นเพิ่มทุน 9,822.5 ล้านหุ้น จอง 6-12 ธ.ค.นี้ ราคา 4.48 บาท กลับเข้าเทรดไตรมาส 2/68
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลังขอยืนยันว่าบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI จะไม่มีทางย้อนกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอย่างแน่นอน หลังจากบริษัทออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ นั่นทำให้นโยบายและการบริหารงานการบินไทยมีความเป็นเอกภาพและเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากบริษัทสามารถสรรหาผู้บริหารมืออาชีพตามสายงานต่าง ๆ เข้ามาร่วมบริหารงานได้มากขึ้น
พร้อมกันนี้ ถือเป็นการเปิดกว้างให้การบินไทยเองสามารถหาพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งได้มากขึ้น อย่างเช่นพันธมิตรที่เป็นสายการบินชั้นนำของโลก โดยเฉพาะสายการบินฝั่งประเทศตะวันออกกลาง ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แล้วเรื่องธุรกิจการบินที่มีความแข็งแกร่งทั้งการเงินและธุรกิจ ที่สำคัญจะทำให้การบินไทยขยายเครือข่ายสายการบินและเส้นทางทางการบินได้มากขึ้น
ส่วนประเด็นที่กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้น มีการเสนอชื่อผู้บริหารแผนเพิ่มเติม 2 คน คือ นายปัญญา ชูพาณิช ผู้อำนวยการสำนักนโยบายบายและแผนการขนส่งและจราจร และนายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากช่วงเวลาการดำเนการตามแผนฟื้นฟูกิจการที่เหลืออยู่ บริษัทต้องมีการตัดสินใจเรื่องที่สำคัญและมีผลผูกพันถึงการดำเนินการต่าง ๆ ถึงการดำเนินงานต่าง ๆ ในอนาคต
โดยการตัดสินใจที่สำคัญดังกล่าว บริษัทจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถเชื่อมโยงกับผู้ถือหุ้น ภายหลังจากออกจากแผนฟื้นฟูกิจการมาร่วมตัดสินใจ และสามารถสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการ ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ถือหุ้นบริษัท เพื่อให้การบริหารแผนฟื้นฟูกิจการและการออกจากแผนฟื้นฟูฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
ที่สำคัญถือเป็นการเตรียมตัวของทั้ง 2 คน เพื่อที่จะเข้าไปนั่งเป็นกรรมการการบินไทย หลังจากออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งตามเงื่อนไขการบินไทยแล้ว คณะกรรมการการบินไทยจะมีทั้งหมด 15 คน โดยจะมีตัวแทนจากกระทรวงการคลังเข้าไปนั่งเป็นกรรมการตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 4-5 คนเท่านั้น
ด้านนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า หลายฝ่ายไม่ต้องการให้ THAI กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล, พนักงานการบินไทย, ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ เพราะในการฟื้นฟูกิจการได้แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า การที่ THAI มีสถานะเป็นเอกชนนั้น ทำให้การฟื้นฟูกิจการสัมฤทธิ์ผลตามแผน สามารถกลับมามีกำไรสุทธิในปี 2566 ที่ 28,096 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะสถานะเอกชนมีความคล่องตัวในการบริหารงานสูงกว่า ไม่มีระเบียบปฏิบัติและขั้นตอนที่ยุ่งยากเหมือนรัฐวิสาหกิจ
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าตนมีความกังวลในเรื่องอื่นมากกว่าการที่ THAI จะกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ นั่นคือการจัดตั้งคณะกรรมการการบินไทยจำนวนไม่เกิน 15 คนหลังจากออกจากแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งจะมีการประชุมผู้ถือหุ้นช่วงเดือนเมษายน 2568 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการ และหากมีบุคลากรจากฝ่ายรัฐเป็นเสียงข้างมาก ในคณะกรรมการที่ต้องมาบริหาร THAI ในฐานะองค์กรเอกชน ก็น่าจะเกิดความวุ่นวายได้
นอกจากนี้ ยอมรับว่าหากมีผู้บริหารแผนฟื้นฟู 5 ราย และ 3 ใน 2 รายเป็นฝ่ายรัฐ ก็อาจสร้างความยุ่งยากในการพิจารณาและตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ไม่คล่องตัวมากเท่ากับการมีคณะผู้บริหารแผน 3 รายแบบที่ผ่านมา
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI เปิดเผยว่า กรณีกระทรวงการคลังได้ยื่นขอเพิ่มผู้บริหารในคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูอีก 2 ราย คือ 1)นายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง 2)นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคมนั้น จะมีการพิจารณาในที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อแก้ไขแผน 3 ฉบับ ในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้
โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เปิดให้เจ้าหนี้ลงมติล่วงหน้าระหว่างวันที่ 14-21 และ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น THAI ยังไม่ทราบว่าการลงมติล่วงหน้ามีผลอย่างไร เพราะรายละเอียดการลงมติอยู่ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และสุดท้ายยังต้องรอผลที่ประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ด้วยว่าจะยอมรับคำร้องให้มีผู้บริหารแผนเพิ่มอีก 2 รายดังกล่าวหรือไม่
นายชาย ยอมรับว่า การบินไทยได้มีการเจรจากับสายการบินต่างชาติ 2 ราย เพื่อให้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนประเภทบุคคลในวงจำกัด (Private Placement : PP) ของ THAI แต่ได้ยุติการเจรจาไปแล้ว เนื่องจากทั้ง 2 สายการบินดังกล่าวมิได้เป็นสมาชิกสตาร์อัลไลแอนซ์ หากมาร่วมเป็นผู้ถือหุ้น ทาง THAI จะต้องออกจากความเป็นสมาชิกสตาร์อัลไลแอนซ์ ซึ่งเป็นเครือข่ายพันธมิตรสายการบินขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และต้องมีการปรับเครือข่ายเส้นทางบินใหม่ จึงอาจไม่สร้างประโยชน์กับ THAI เท่าที่ควร แต่ในอนาคตก็ยังต้องรอดูต่อไปว่า THAI จะมีการเจรจาแบบกรณีดังกล่าวอีกหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ THAI อยู่ระหว่างการเจรจากับบุคคลที่มีศักยภาพ และกองทุนในประเทศ เพื่อเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน PP แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เหตุที่กระทรวงคมนาคมได้เสนอรายชื่อผู้อำนวยการสนข.ไปเป็นคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟู THAI เพิ่มเติมนั้น เป็นเพราะได้ทราบข้อมูลมาว่า THAI มีการเจรจากับสายการบินต่างชาติ 2 ราย คือ จากประเทศญี่ปุ่น 1 ราย และยุโรป 1 ราย เพื่อให้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน PP ซึ่งกระทรวงคมนาคมเห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะ THAI ยังคงเป็นสายการบินแห่งชาติที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่ควรให้ต่างชาติเข้ามาร่วมถือหุ้น ประกอบกับที่ผ่านมารัฐแทบไม่เคยรับรู้เลยว่า THAI มีแผนดำเนินการที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะอะไรบ้าง จึงต้องการส่งบุคลากรของรัฐเข้ามาร่วมเป็นคณะผู้บริหารแผนเพิ่มเติมเพื่อให้รับทราบการดำเนินงานของ THAI ดังกล่าว
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ THAI อยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และกลับเข้าซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในไตรมาสที่ 2/2568 ซึ่งล่าสุดการดำเนินการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ ด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนก็ประสบความสำเร็จด้วยดี ประกอบด้วย 1)การแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการแบบภาคบังคับเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน มูลค่า 37,601.9 ล้านบาท โดยได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 14,773.7 ล้านหุ้น โดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 หรือกระทรวงการคลัง ได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างเต็มจำนวนในสัดส่วน 100%
ขณะที่ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5, กลุ่มที่ 6 (สถาบันการเงิน) และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ ได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างในอัตรา 24.50% และ 2)การใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ ซึ่งในระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหนี้จำนวนมากแสดงเจตนารวมกันเกินกว่า 3 เท่าของจำนวนหุ้นที่มีรองรับตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 4,911 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 12,500 ล้านบาท
3)การใช้สิทธิแปลงดอกเบี้ยตั้งพักใหม่เป็นทุนมูลค่า 3,351.2 ล้านบาท และได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 1,304.5 ล้านหุ้น สุทธิภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยรวมการดำเนินการข้อ 1-3 คิดเป็นภาระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการทั้งสิ้น 53,453.2 ล้านบาท เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 20,989.4 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินของ THAI กลายเป็นบวกภายในสิ้นปี 2567 อันเป็นการบรรลุหนึ่งในเงื่อนไขการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ
นอกจากนี้ THAI เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการจำนวนไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ THAI ก่อนการปรับโครงสร้างทุนตามข้อมูลที่ปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ที่มีที่อยู่ในประเทศไทยและพนักงานของ THAI ตามลำดับ ราคา 4.48 บาทต่อหุ้น โดยสามารถจองซื้อและชำระเงินระหว่างวันที่ 6-12 ธันวาคม 2567 ผ่านช่องทางจัดจำหน่ายของผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ที่กำหนด และหากมีหุ้นสามัญคงเหลือจากการจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุน และพนักงานของ THAI ตามลำดับ จะทำการเสนอขายแก่บุคคลในวงจำกัดที่ราคาเสนอขายเดียวกันต่อไป
ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนไปใช้ใน 1)การจัดหาเครื่องบินและค่าใช้จ่ายตามสัญญาเช่าเครื่องบินในปัจจุบัน จำนวน 26,049 ล้านบาท ในช่วงปี 2568-2570 2)การปรับปรุงห้องโดยสารเครื่องบิน (Retrofit) เช่น ติดตั้งที่นั่งใหม่ ติดตั้ง WiFi จำนวน 5,000 ล้านบาท ในปี 2568-2571
3)การพัฒนาโครงการศูนย์ซ่อมบำรุง (MRO Centers) จำนวน 2,000 ล้านบาท ในปี 2568-2569 บริษัทมีแผนลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมือง, สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการแก่สายการบินอื่น ๆ และมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากศยานในภูมิภาคอาเซียน และ 4)เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ จำนวน 10,000 ล้านบาท ในปี 2568-2570
สำหรับโครงสร้างการถือหุ้นหลังจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนเบื้องต้น คือ 1)กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 33.4% 2)องค์กรรัฐวิสาหกิจ 4.1% 3)กองทุนวายุภักษ์ 2.8% 4)ผู้ถือหุ้นอื่น (เดิม) 2.8% 5)เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ 44.3% 6)ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างเงินทุน พนักงาน THAI และ PP ที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ 12.6%