พาราสาวะถี อรชุน

ในที่สุดก็ทนเสียงคัดค้านไม่ไหว อุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ.จึงได้เปรยว่า เสียงสะท้อนต่างร่างรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิเสรีภาพที่ดังกึกก้องมาทั้งจากประชาชน กลุ่มเอ็นจีโอตลอดจนภาคประชาสังคม เป็นเหตุให้หลังจากวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ กรธ.คงจะทบทวนเนื้อหาในหมวดสิทธิเสรีภาพและมาตราที่เกี่ยวข้องมากที่สุด


ในที่สุดก็ทนเสียงคัดค้านไม่ไหว อุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ.จึงได้เปรยว่า เสียงสะท้อนต่างร่างรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิเสรีภาพที่ดังกึกก้องมาทั้งจากประชาชน กลุ่มเอ็นจีโอตลอดจนภาคประชาสังคม เป็นเหตุให้หลังจากวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ กรธ.คงจะทบทวนเนื้อหาในหมวดสิทธิเสรีภาพและมาตราที่เกี่ยวข้องมากที่สุด

คงต้องเป็นเช่นนั้น เพราะเสียงคัดค้านที่ดังมาส่วนหนึ่งก็เป็นพวกเดียวกัน เช่น รสนา โตสิตระกูล ขณะที่ภาคประชาสังคมล่าสุด สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือถึงกับประกาศไม่ร่วมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยกันเลยทีเดียว แม้จะมี กรธ.บางรายพยายามตะแบงชี้แจงเรื่องของการยกเอาสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิชุมชนไปไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐ แต่เสียงส่วนใหญ่ไม่มีใครมองว่านั่นเป็นเจตนารมณ์ที่ดี


ด้วยเหตุนี้คนกันเองอีกรายจึงได้ออกมาวิเคราะห์เรื่องสิทธิเสรีภาพในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยมีการแยกให้เห็นภาพที่ชัดเจน นั่นก็คือ บรรเจิด สิงคะเนติ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญผู้ที่ก่อนหน้านั้นตั้งข้อสังเกตเลือกการเลือกตั้งบัตรใบเดียว ไม่ได้ทำให้พรรคตัวแทนประชาชนเข้มแข็งแต่กลับจะอ่อนแอลง โดยพรรคของนายทุนต่างหากที่จะแข็งแรงขึ้น

โดยบรรเจิดอธิบายว่า การพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญนั้นอาจพิจารณาได้จาก 3 ส่วน กล่าวคือส่วนที่ 1 บททั่วไป ส่วนที่ 2 หมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และส่วนที่ 3 สิทธิและเสรีภาพที่อยู่ในส่วนอื่นของรัฐธรรมนูญ ซึ่งในที่นี้จะพิจารณาเฉพาะในส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 เท่านั้น

หมวด 1 บททั่วไปของร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ไม่ปรากฏความของมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่บัญญัติว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองความมุ่งหมายของมาตราดังกล่าวซึ่งอยู่ในบททั่วไปอย่างน้อยมีความมุ่งหมาย 2 ประการคือ เป็นเสมือนการประกาศอุดมการณ์ของรัฐในการที่จะคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล


ประการที่สอง ประกาศอุดมการณ์ของรัฐดังกล่าวอาจมีผลต่อการคุ้มครองบุคคลที่ไม่อยู่ในขอบเขตของบุคคลตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย เพราะมักมีการตีความว่าบุคคลในหมวด 3 หมายเฉพาะคนไทยเท่านั้น

เมื่อมองไปที่หมวด 3สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยโดยทั่วไปแล้วสาระสำคัญในหมวดนี้ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ดี 25050 ก็ดี จะมีสาระสำคัญอยู่ 2 ส่วนคือ ส่วนที่ว่าด้วยหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน  ส่วนที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ โดยหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในหมวดสิทธิและเสรีภาพส่วนนี้เป็นส่วนที่มีความสำคัญที่สุดของการบัญญัติสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

เพราะเป็นส่วนที่เป็นหลักประกันจะทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนบรรลุความมุ่งหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 ได้บัญญัติหลักในเรื่องดังกล่าวเป็นครั้งแรกของรัฐธรรมนูญไทย และต่อมารัฐธรรมนูญ 2550 ได้ยืนยันและยังได้ปรับปรุงหลักดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ขณะที่หลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมีหลักการสำคัญ 3 หลักคือ หลักความผูกพันโดยตรงของสิทธิและเสรีภาพหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพโดยองค์กรตุลาการและหลักประกันในการตรากฎหมายจำกัดสิทธิจากการศึกษาร่างรัฐธรรมนูญมีชัยไม่ปรากฏหลักความผูกพันโดยตรงของสิทธิและเสรีภาพและหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพโดยองค์กรตุลาการ

ในขณะที่หลักประกันในการตรากฎหมายจำกัดสิทธิซึ่งประกอบด้วยหลักย่อยอีก 5 หลักนั้น ปรากฏว่าบัญญัติไม่ครบทั้ง 5 หลัก ซึ่งขาดหลักการจำกัดสิทธิและเสรีภาพจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพมิได้และ หลักการระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายจำกัดสิทธิ

กล่าวโดยสรุปคือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย หมวดสิทธิและเสรีภาพมิได้บัญญัติหลักการที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้หลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนบรรลุความมุ่งหมาย ซึ่งหลักที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นศาลได้เคยมีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาที่ยืนยันหลักดังกล่าวไว้เกือบทุกกรณี การที่ไม่บัญญัติหลักดังกล่าวย่อมส่งผลต่อการใช้และการตีความสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากองค์กรตุลาการที่ขาดฐานของหลักดังกล่าวที่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญของไทยมาโดยตลอด

นั่นเป็นแค่หลักการส่วนหนึ่งซึ่งบรรเจิดยกมานำเสนอ แต่เพียงเท่านี้ก็น่าจะเพียงพอที่จะบ่งชี้ได้ว่าไม่ควรที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะตัดหลักดังกล่าวออกจากรัฐธรรมนูญ หากปราศจากหลักการดังกล่าวย่อมมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันจะทำให้หลักการในเรื่องเหล่านี้ถอยหลังกลับไปใช้หลักที่เคยใช้กันเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา การร่างรัฐธรรมนูญควรมองไปข้างหน้าแต่ก็ไม่ทำลายหลักที่เป็นประโยชน์กับประชาชนที่เคยบัญญัติไว้ในอดีต

นี่เป็นแค่เพียงความเห็นเดียว ที่น่าพอจะสะท้อนได้ว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ดีเลิศประเสริฐศรีนั้นเป็นการทำให้ประเทศไทยมีหน้ามีตาเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้หรือไม่ หรือแท้ที่จริงแล้วแนวทางที่ดำเนินการกันมาทั้งหมดเป็นการถอยหลังลงคลอง ซึ่งไม่ว่าจะใช้ภาษาหรือการซุกซ่อนที่แนบเนียนอย่างไร ก็ไม่อาจปกปิดข้อเท็จจริงได้

มิเช่นนั้น พวกเดียวกันคงไม่แสดงความกังขาอย่างที่เป็นอยู่ ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับท่านผู้นำว่าจะปล่อยให้กระบวนการยกร่างเดินไปสุดปลายทางแล้วไปวัดดวงกันที่การลงประชามติ หรือจะท้วงติง เสนอแนะให้เร่งดำเนินการแก้ไขในส่วนที่มองเห็นชัดเจนว่าจะเป็นปัญหา ถ้าเปิดใจให้กว้างแล้วมองข้ามท่าทีของฝ่ายการเมืองไป ย่อมเห็นได้ด้วยตาตัวเองและสัมผัสได้ว่ามีชัยและชาวคณะทำดีแล้วหรือกำลังจะทำให้ประเทศเดินไปสู่ความขัดแย้งดังเดิม

 

Back to top button