ข่าวร้ายส่งท้ายปี

บมจ.การบินไทย (THAI) เพิ่งประกาศเพิ่มทุนครั้งใหญ่ในลักษณะพิสดารคือผู้ถือหุ้นเดิม 1 หุ้น จะได้หุ้นใหม่ 4.5 หุ้น ในราคา 4.48 บาท


บมจ.การบินไทย (THAI) เพิ่งประกาศเพิ่มทุนครั้งใหญ่ในลักษณะพิสดารคือผู้ถือหุ้นเดิม 1 หุ้น จะได้หุ้นใหม่ 4.5 หุ้น ในราคา 4.48 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าบุ๊กแวลู ที่ล่าสุดประเมินไว้ที่ 5.86 บาท ถือเป็นการปล้นกันกลางแดดครั้งใหญ่ รายละเอียดอยู่ในคำชี้แจงของนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ซึ่งเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ THAI เปิดเผยว่า บมจ.การบินไทย (THAI) เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนเพื่อการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ จำนวนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น มูลค่าการเสนอขายประมาณ 44,005 ล้านบาท ระยะเวลาจองซื้อ 6-12 ธ.ค. 67 โดยมีบล.เกียรตินาคินภัทร เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่าย เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ก่อนการปรับโครงสร้างทุน และพนักงานบริษัทฯ ในอัตราส่วน 1 หุ้นสามัญเดิมต่อ 4.5 หุ้นสามัญเพิ่มทุน

นอกจากนั้นยังมีการใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) ในระหว่างวันที่ 19-21 พ.ย. 67 ที่ผ่านมา มีเจ้าหนี้แสดงเจตนารวมกันเกินกว่า 3 เท่าของจำนวนหุ้น โดยได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อแปลงหนี้เป็นทุนให้เจ้าหนี้เป็นจำนวน 4,911.2 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 12,500.1 ล้านบาท พร้อมทั้ง การใช้สิทธิแปลงดอกเบี้ยตั้งพักใหม่เป็นทุนมูลค่า 3,351.2 ล้านบาท และได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 1,304.5 ล้านหุ้น

บริษัทฯ แจ้งว่าจะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน ไปใช้ใน

1) การจัดหาเครื่องบินและค่าใช้จ่ายตามสัญญาเช่าเครื่องบินในปัจจุบัน จำนวน 26,049 ล้านบาท ในช่วงปี 68-70

2) การปรับปรุงห้องโดยสารเครื่องบิน (Retrofit) เช่น ติดตั้งที่นั่งใหม่ ติดตั้ง WiFi  จำนวน 5,000 ล้านบาท ในปี 68-71

3) การพัฒนาโครงการศูนย์ซ่อมบำรุง (MRO Centers) จำนวน 2,000 ล้านบาท ในปี 68-69 ซึ่งบริษัทมีแผนลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมือง, สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการแก่สายการบินอื่น ๆ และมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาค

4) เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ จำนวน 10,000 ล้านบาทในปี 68-70

ที่มาของการกำหนดราคาเสนอขาย โดยคณะผู้บริหารแผนได้พิจารณาจากข้อมูลและปัจจัยหลายส่วนเพื่อกำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญที่เหมาะสมอย่างรอบคอบ ซึ่งรวมถึง ข้อจำกัดและโครงสร้างการเสนอขายภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ ความสมดุลของราคาเสนอขายและความต้องการของนักลงทุนควบคู่กับสภาวะตลาด ประโยชน์และผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทั้งบริษัทฯ เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้ถือหุ้น และนักลงทุน

ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทฯ ได้รับเงินทุนจากการเสนอขายที่เหมาะสม และมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต นอกจากนี้ การพิจารณาราคามูลค่ายุติธรรมของบริษัทฯ จำเป็นต้องพิจารณาถึงมูลค่าบริษัทฯ ในระยะยาวซึ่งสะท้อนความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนและรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่หุ้นของบริษัทฯ จะใช้เวลารวมกว่า 5-6 เดือนภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญ Illiquid Period (ซึ่งผู้ถือหุ้นไม่มีสิทธิซื้อขายหุ้นดังกล่าว) โดยระหว่างนี้ผู้บริหารแผนก็จะเสนอให้เจ้าหนี้เพิ่มทุนใหม่ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ ก่อนที่จะสามารถกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้

ตรงจุดนี้ถือว่าเป็นการมัดมือชกอย่างมีนัยสำคัญเพราะจะเปิดช่องให้ผู้บริหารแผนเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อ ลดราคาพาร์ของหุ้นเพื่อตัดภาระขาดทุนของบริษัท ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นลดลงจากราคาแรกซื้อตามไปด้วย โดยอ้างว่าจะจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นเป็นการชดเชยซึ่งไม่คุ้มกันเลย  เพราะความจริงที่แน่นอนก็คือราคาหุ้นที่จะกลับมาเทรดครั้งใหม่ในตลาดหุ้นราคาจะต้องตกลงไป  ในขณะที่เจ้าหนี้จะได้รับโอกาสในการแปลงหนี้เป็นทุนจากบริษัท โดยเจ้าหนี้จะมีสัดส่วนถือครองหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 37.1%  ในขณะที่ผู้ถือหุ้นเดิมจะเหลือสัดส่วนถือครองหุ้นไม่เกิน 4% เท่านั้นเอง

ผู้ถือหุ้นเดิมที่ยอมจ่ายค่าโง่ ในการเพิ่มทุนคราวนี้ก็ถือว่าเสียสละอย่างยิ่ง

วิษณุ โชลิตกุล

Back to top button