ได้อย่างเสียอย่าง

ยอดหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ณ เดือนก.ย. 67 เหลือเพียง 5.5 แสนล้านบาท จากยอดหนี้ทั้งสิ้น 1.14 ล้านล้านบาท


ยอดหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ล่าสุด ณ เดือนก.ย. 67 เหลือเพียง 5.5 แสนล้านบาท จากยอดหนี้ทั้งสิ้น 1.14 ล้านล้านบาท อันเนื่องมาจากการปิดสถาบันการเงินและการเยียวยาผู้ฝากเงินช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง

หนี้ก้อนนี้ ได้รับการชำระสะสางจากพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือ FIDF พ.ศ. 2555 ที่นำเงินส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ จากธนาคารพาณิชย์ในอัตรา 0.46% ของฐานเงินฝาก ผ่านมาแล้ว 12 ปี สามารถลดหนี้เงินต้นลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง

เมื่อต้นลด ดอกก็ลด คาดว่าจะใช้หนี้ก้อนนี้หมดได้ภายในไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า หากยังมีการนำส่งเงินเข้า FIDF เป็นปกติในอัตราเดิม

แต่รัฐบาลกำลังมีดำริจะแก้ปัญหาลูกหนี้ในระบบสถาบันการเงินที่เป็นหนี้เสียอายุไม่เกิน 1 ปี ครอบคลุมลูกหนี้ทั้งสิ้น 2.3 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้รวม 1.31 ล้านล้านบาท

แยกเป็นหนี้บ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท ครอบคลุม 4.6 แสนบัญชี วงเงิน 4.83 แสนล้านบาท หนี้รถไม่เกิน 8 แสนบาท ครอบคลุม 1.4 ล้านบัญชี วงเงิน 3.75 แสนล้านบาท และหนี้ SME ไม่เกิน 3 ล้านบาท ครอบคลุม 4.3 แสนบัญชี วงเงิน 4.54 แสนล้านบาท

ทั้งนี้จะมีการพักจ่ายดอกเบี้ย 3 ปี เพื่อให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ดำรงชีวิตต่อไปได้ และมีกำลังชำระหนี้มากขึ้น

จากคำแถลงของคุณเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลังที่บอกว่า “พักจ่ายดอกเบี้ย” ผมไม่แน่ใจว่าจะหมายถึงพักหรือเวฟคือตัดทิ้งดอกเบี้ยไปเลย แต่ที่แน่ ๆ จะเอาเงินนำส่ง FIDF ที่เหลือแค่ครึ่งหนึ่งมาใช้ และจะมีเงินสมทบช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์เท่าไหร่ ก็ยังไม่มีความชัดเจนออกมา

ด้านทางฝั่งแบงก์ชาติโดยน.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท.ท่านก็บอกว่า มันมีผลข้างเคียงอยู่ 2-3 ประการนั่นคือ 1)จะทำให้การชำระหนี้เงินต้นได้ช้าลง  คิดง่าย ๆ ก็คือช้าไปครึ่งหนึ่ง 2) ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกปีละ 5 พันล้านบาท และ 3)เกรงจะเกิดพฤติกรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ หรือ Moral Hazard

ก็คงจริงตามแบงก์ชาติว่าแหละครับ มันได้อย่างเสียอย่างจริง ๆ ในปัจจุบัน มีเงินนำส่ง (0.46%) จากธนาคารพาณิชย์ปีละประมาณ 7.0 หมื่นล้านบาท หากอัตรานำส่งเหลือ 0.23% ก็จะเหลือเงินนำส่งเพียงแค่ 3.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น เฉพาะดอกเบี้ยก็ปาเข้าไป 1.6 หมื่นล้านบาทแล้ว คงเหลือไปชำระเงินต้นเพียง 1.9 หมื่นล้านบาทเอง

มันน่าตั้งคำถามเอากับรัฐบาลเหมือนกันว่า เล็งผลเลิศเกินไปมั้ย? มีหลักประกันอะไรล่ะว่า เมื่อลดเงินนำส่ง FIDF ลงไปตั้งครึ่งหนึ่งแล้ว แบงก์จะเข้ามาช่วยแบกภาระดอกเบี้ยที่ตั้งพักเอาไว้อย่างไร หรือจะยอมปล่อยสินเชื่อเข้าระบบเพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียนยิ่งขึ้นอย่างไร

มาตรการลดภาระหนี้ประชาชน แลกกับการคืนหนี้ FIDF ล่าช้าหากทำได้จริงก็ถือว่าคุ้มค่า

ชาญชัย สงวนวงศ์

Back to top button